กองทัพอิหร่านประกาศพร้อมรับมือการโจมตีของอิสราเอล ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษเผยรัฐยิวกำลังตัดสินใจทางเลือกในการตอบโต้เตหะราน โดยคณะรัฐมนตรีสงครามของประเทศนั้นนัดประชุมรอบที่ 3 ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเมื่อวันพุธ (17 เม.ย.) ขณะเดียวกัน บรรดาพันธมิตรของอิสราเอล ทั้งอเมริกาและยุโรปกำลังเร่งผลักดันมาตรการแซงก์ชันเพื่อตัดกำลังอิหร่าน
อิหร่านโจมตีอิสราเอลโดยตรงครั้งแรกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อแก้แค้นที่สถานกงสุลของตนในกรุงดามัสกัส ของซีเรียถูกโจมตีเมื่อวันที่ 1 เดือนนี้ ซึ่งเชื่อว่า เป็นฝีมือของรัฐยิว ด้านอิสราเอลประกาศว่า จะไม่ปล่อยให้เตหะรานลอยนวล โดยมีการประชุมคณะรัฐมนตรีสงครามรอบที่ 3 เมื่อวันพุธเพื่อหารือทางเลือกต่างๆ
วันเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี ของอิหร่าน กล่าวในพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพว่า จะตอบโต้อย่างรุนแรง หากอิสราเอลโจมตีเข้าสู่ดินแดนอิหร่าน ก่อนสำทับว่า การโจมตีอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ (13) เป็นการโจมตีแบบจำกัดเท่านั้น ซึ่งถ้าอิหร่านต้องการโจมตีรุนแรงกว่านั้น อิสราเอลคงราบเป็นหน้ากลอง
ตามการแถลงของกองทัพอิสราเอลระบุว่า การโจมตีของอิหร่านและกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรของเตหะรานในวันเสาร์ที่ผ่านมา มีการใช้โดรนกามิกาเซ่และขีปนาวุธต่างๆ รวมกว่า 300 ชิ้นบรรทุกวัตถุระเบิดรวมแล้วราว 85 ตันเข้าเล่นงานอิสราเอล ทว่าก่อความเสียหายและมีผู้บาดเจ็บล้มตายเพียงจำกัดเนื่องจากระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัฐยิวสามารถสกัดกั้นเอาไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ โดยที่มีกองทหารสหรัฐฯ, สหราอาณาจักร, ฝรั่งเศส, จอร์แดน, และซาอุดีอาระเบีย เข้าร่วมในการนี้ด้วย
พลจัตวาอามีร์ วาเฮดี ผู้บัญชาการกองทัพอากาศอิหร่าน เตือนในงานเดียวกันว่า เครื่องบินรบ ซึ่งรวมถึงซูคอย-24 ที่ผลิตในรัสเซีย เครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินที่ใช้ปกป้องภาคพื้นดิน ฯลฯ พร้อมสำหรับทุกปฏิบัติการ
ทั้งนี้ เชื่อว่า การโจมตีโดยตรงต่อฐานบัญชาการของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติหรือสถานที่ดำเนินการวิจัยนิวเคลียร์ภายในอิหร่านเป็นหนึ่งในตัวเลือกการตอบโต้ของอิสราเอล เช่นเดียวกับเป้าหมายซึ่งอยู่นอกอิหร่าน
ทัสนิม ที่เป็นสำนักข่าวกึ่งทางการของอิหร่าน รายงานโดยอ้างอิงการเปิดเผยของ zผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอกชาห์รัม อิรานิ ว่าขณะนี้ กองทัพเรืออิหร่านได้ส่งเรือคุ้มกันเรือสินค้าอิหร่านในทะเลแดง และพร้อมคุ้มกันเรือของประเทศอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีเรือฟรีเกต “จามารัน” ประจำการอยู่ในอ่าวเอเดน
ในอีกด้านหนึ่ง ที่นครเยรูซาเลม เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เผยเมื่อวันพุธขณะเยือนรัฐยิวว่า อิสราเอลกำลังตัดสินใจทางเลือกในการตอบโต้เตหะราน ซึ่งเขาหวังว่า อิสราเอลจะใช้วิธีที่ชาญฉลาดและเด็ดขาด และมีโอกาสน้อยที่สุดที่จะทำให้สถานการณ์บานปลาย
ด้านอันนาเลนา แบร์บ็อก รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ที่อยู่ระหว่างการเยือนอิสราเอลเช่นเดียวกัน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น โดยทั้งแบร์บ็อกและคาเมรอนต่างระบุว่า จะผลักดันให้นานาชาติเพิ่มการแซงก์ชันอิหร่าน
ที่วอชิงตัน คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศเมื่อวันอังคารว่า กำลังเตรียมออกมาตรการแซงก์ชันระลอกใหม่ต่อโครงการขีปนาวุธและโดรนของเตหะราน กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ และกระทรวงกลาโหมอิหร่าน
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เผยว่า มาตรการเหล่านั้นจะช่วยควบคุมและลดทอนขีดความสามารถและศักยภาพของกองทัพอิหร่าน
ก่อนหน้านั้น เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า อเมริกาจะร่วมกับพันธมิตรในการใช้มาตรการแซงก์ชันเพื่อขัดขวางกิจกรรมประสงค์ร้ายและทำลายเสถียรภาพของเตหะราน และเสริมว่า วอชิงตันกำลังพิจารณาตัวเลือกทั้งหมดเพื่อตัดช่องทางการอัดฉีดเงินสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ ไบเดนบอกกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลว่า อเมริกาจะไม่เข้าร่วมการโจมตีตอบโต้อิหร่าน
หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตัน มีแนวโน้มว่า อิสราเอลจะไม่โจมตีอิหร่านโดยตรง แต่อาจใช้วิธีการลอบโจมตีผู้บัญชาการอาวุโสของอิหร่าน หรือกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในประเทศต่างๆ หรือการโจมตีทางไซเบอร์
ขณะเดียวกัน โจเซฟ บอร์เรลล์ ผู้นำด้านนโยบายต่างประเทศของอียู ส่งสัญญาณว่า บรัสเซลส์กำลังดำเนินการเพื่อขยายมาตรการแซงก์ชันอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาอาวุธซึ่งรวมถึงโดรนให้รัสเซียและกลุ่มติดอาวุธที่เป็นตัวแทนของเตหะรานทั่วตะวันออกกลาง ทั้งนี้ฝ่ายตะวันตกกำลังอ้างเหตุผลกันว่า ส่วนหนึ่งที่ต้องเพิ่มการแซงก์ชั่นอิหร่าน ก็เพื่อทำให้อิสราเอลยอมลดราความแข็งกร้าวในการเอาคืนเตหะราน
ขณะที่เหล่าผู้นำทั่วโลกต่างเรียกร้องให้อิสราเอลและอิหร่านอดกลั้น และผ่อนคลายสถานการณ์ความขัดแย้ง
ระหว่างหารือทางโทรศัพท์เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย บอกกับประธานาธิบดีไรซีของอิหร่านว่า ทั้งอิหร่านและอิสราเอลต้องป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ารอบใหม่ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อตะวันออกกลางทั้งหมด
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)