ราคาน้ำมันขยับลงในวันจันทร์ (15 เม.ย.) หลังการโจมตีอิสราเอลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ของอิหร่าน ก่อความเสียหายน้อยกว่าคาด คลายความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งลุกลามบานปลาย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้ฉุดวอลล์สตรีทปิดลบ และทองคำพุ่งแรง
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 25 เซนต์ ปิดที่ 85.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 35 เซนต์ ปิดที่ 90.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
การโจมตีที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธและโดรนหลายร้อย ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศหนึ่งโจมตีใส่อิสราเอลในรอบกว่า 3 ทศวรรษ เบื้องต้น มันก่อความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ลุกลามสู่ความขัดแย้งระดับภูมิภาคในวงกว้าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันทั่วตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตาม การโจมตีซึ่งอิหร่านบอกว่าเป็นการแก้แค้นปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มสถานกุงสลของพวกเขาในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย ก่อความเสียหายเพียงเล็กน้อย โดยขีปนาวุธเกือบทั้งหมดถูกสอยร่วงโดยระบบป้องกันภัยทางอากาศไอรอนโดม
ในขณะที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลเผยว่ารัฐบาลสงครามของประเทศอยากแก้แค้น แต่สหรัฐฯ บอกว่าจะไม่เข้าร่วมในปฏิบัติการรุกรานใดๆ ที่เล่นงานอิหร่าน ส่วนมหาอำนาจอื่นๆ บรรดาชาติอาหรับและเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้อดทนอดกลั้น
กระนั้นก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดในแดนลบในวันจันทร์ (15 เม.ย.) แม้ข้อมูลเศรษฐกิจอเมริกาแข็งแกร่ง แต่นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ดาวโจนส์ ลดลง 248.13 จุด (0.65 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 37,735.11 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 61.59 จุด (1.20 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 5,061.82 จุด แนสแดค ลดลง 290.07 จุด (1.79 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 15,885.02 จุด
วอลล์สตรีทเปิดตลาดในแดนบวก ตามหลังข้อมูลค้าปลีกที่แข็งแกร่ง ท่ามกลางความหวังว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านอาจลดน้อยลงไป หลังการโจมตีเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ของอิหร่าน ส่วนใหญ่แล้วถูกสกัดไว้ได้โดยระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอล
อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่อิสราเอลยังคงใช้โวหารแห่งการเผชิญหน้า และผู้บัญชาการกองทัพอิสราเอลประกาศกร้าวว่าจะทำการแก้แค้น
สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางกระตุ้นให้นักลงทุนแห่ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และดันราคาทองคำในวันจันทร์ (15 เม.ย.) พุ่งทะยาน โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 8.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 2,383.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)