xs
xsm
sm
md
lg

มาครงคิดยังไงจึงเสนอส่งทหารตะวันตกไปรบรัสเซียที่ยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ขณะรอต้อนรับประธานาธิบดีลิทัวเนีย ที่บริเวณประตูวังเอลิเซ ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2024
France all dressed up and nowhere to go
BY M. K. BHADRAKUMAR
14/03/2024

เราสามารถที่จะเข้าใจว่าทำไมประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง จึงเสนอให้ตะวันตกส่งทหารไปรบรัสเซียในยูเครน ต่อเมื่อมองดูว่ามันมีต้นตอจากพัฒนาการที่ไม่น่าปลาบปลื้มของเหตุการณ์ต่างๆ ในฉากทัศน์แห่งวิกฤตยูเครน โดยที่แน่ล่ะ มันส่งผลกระทบอย่างแรงต่อความทะเยอทะยานของตัวมาครงเองที่ต้องการ “นำยุโรป” เวลาเดียวกันนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศสก็กำลังดำเนินสู่ขั้นตอนของการแข่งขันกันและความเป็นศัตรูกันอย่างดุเดือด—กระทั่งมีการประจันหน้ากันด้วยซ้ำ— ในหลายๆ บริเวณ

นับตั้งแต่ความพ่ายแพ้อย่างน่าอัปยศอดสูในสงครามนโปเลียนเป็นต้นมา ฝรั่งเศสก็ติดอยู่ในกับดักของภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก แบบพวกประเทศซึ่งรู้สึกว่าตัวเองควรจะยิ่งใหญ่ทว่าถูกแซนด์วิชอยู่ตรงกลางระหว่างมหาอำนาจใหญ่ยิ่งตัวจริงทั้งหลาย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสพยายามคลี่คลายภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกนี้ด้วยการมุ่งหล่อหลอมสร้างแกนพันธมิตรแกนหนึ่งขึ้นมาในยุโรป โดยจับมือกับเยอรมนี

อันที่จริง สหราชอาณาจักรก็ตกอยู่ในกับดักแห่งสภาพกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกเช่นนี้เหมือนกัน ทว่าพวกเขาเลือกใช้วิธีประยุกต์ตัวเองให้แสดงฐานะเป็นบ่าวรับใช้รายหนึ่งซึ่งต่อท่อเชื่อมเข้าไปในพลังอำนาจระดับโลกของอเมริกัน แต่สำหรับฝรั่งเศสนั้นไม่เคยเลยที่จะยกเลิกทอดทิ้งความมุ่งมาดปรารถนาแสวงหาฐานะความเป็นมหาอำนาจอันรุ่งโรจน์รายหนึ่งของโลกขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง และพวกเขายังคงทำตัวเหมือนกับว่ากำลังผลักดันทำงานชิ้นนี้ให้คืบหน้าไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

ความทุกข์ระทมในจิตใจของชาวฝรั่งเศสดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจกันได้ เนื่องจากระยะเวลา 5 ศตวรรษแห่งการที่ฝ่ายตะวันตกเป็นผู้ครอบงำระเบียบโลกเอาไว้อย่างแน่นหนากำลังใกล้ถึงจุดจบแล้ว สภาพกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกเช่นนี้บีบคั้นกดดันฝรั่งเศสเข้าสู่หนทางการทูตในรูปแบบซึ่งส่วนใหญ่แล้วอยู่ในภาวะของการเคลื่อนไหวแบบระงับอกระงับใจ แต่สอดแทรกกระจัดกระจายเอาไว้ด้วยการดำเนินกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องมุ่งหวังผลแบบพลุ่งพล่านฉับพลัน

ทว่าการดำเนินกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องชนิดมุ่งหวังผลที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีสิ่งรองรับพื้นฐานต่างๆ อย่างพรักพร้อม เป็นต้นว่า การรู้จักโปรไฟล์ของกลุ่มนักรณรงค์เรียกร้องกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกับตัวเอง, ความเป็นผู้นำและการมีผู้ร่วมงาน ตลอดจนการมีผู้สนับสนุนเข้าร่วมแข็งขันและผู้เห็นอกเห็นใจคอยเชียร์คอยช่วย --แล้วที่สำคัญที่สุด คือการประคับประคองรักษาการรณรงค์เรียกร้องเอาไว้ให้ได้จนกระทั่งบรรลุผล และการดำเนินการอย่างพรักพร้อมในเรื่องโลจิสติกส์ ไม่เช่นนั้นแล้ว การดำเนินกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องก็จะกลายเป็นการชุมนุมกันของอาการชักเกร็งกระตุกแบบโรคลมบ้าหมู อันเป็นโรคภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับระบบประสาทที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดเท่านั้น

วันเวลาแห่งการดำเนินการทางการทูตระหว่างประเทศอย่างสงบสุขของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส มีอันต้องยุติลง จากการสลายตัวเมื่อไม่นานมานี้ของแกนพันธมิตรฝรั่งเศส-เยอรมนีในยุโรป ซึ่งมีประวัติความเป็นมาสาวย้อนหลังไปได้จนถึงคราวที่เกิดสนธิสัญญากรุงโรม (Treaties of Rome) เมื่อปี 1957 ทีเดียว ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเบอร์ลินตัดสินใจหักเลี้ยวอย่างแรงหันเข้าไปนำเอาแนวความคิดทรานส์แอตแลนติก (trans-atlanticism) มาเป็นหลักการด้านนโยบายการต่างประเทศของตน ด้วยเหตุนี้ อิทธิพลบารมีของฝรั่งเศสจึงจืดจางหดหายไปจากกิจการของยุโรป
(แนวความคิดทรานส์แอตแลนติก Trans-atlanticism หรือ แอตแลนติกนิยม Atlanticism สนับสนุนให้ยุโรปร่วมมือกับอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในองค์การนาโต้ โดยมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Atlanticism --ผู้แปล)

การที่ มาครง เดินทางไปเบอร์ลินเพื่อพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา [1] เพื่อพยายามหาทางกลับมาปรองดองกันใหม่ จึงเป็นเรื่องที่มีเดิมพันสูงลิ่วทีเดียว ทั้งนี้ ในช่วงหลังๆ นี้ ชอลซ์ ไม่เพียงแสดงการดูแคลนเขาด้วยการปฏิเสธทันควันไม่เอาด้วยกับข้อเสนอของมาครงที่จะให้ใช้กองทหารภาคพื้นดินจากพวกประเทศยุโรปในสงครามยูเครน [2] เท่านั้น แต่ยังขัดขวางแข็งขืนแรงกดดันที่จะให้เยอรมนีจัดส่งขีปนาวุธร่อน “ทอรัส” (Taurus) ไปให้แก่ยูเครน โดยยกเหตุผลโต้แย้งว่า มันจะส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นให้ต้องนำเอาบุคลากรชาวเยอรมันเข้าทำหน้าที่คอยสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามโดยตรงด้วย ซึ่งเขาประกาศลั่นในรัฐสภาเยอรมนีว่า เรื่องนี้จะเป็น “สิ่งที่ไม่ถูกนำมาพิจารณา” ตราบเท่าที่เขายังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่

แน่นอนทีเดียวว่า เราไม่สามารถนำเอาเรื่องนี้มาประณามหยามเหยียดสติปัญญาอันน่าเกรงขามของมาครง –สติปัญญาซึ่งแสดงให้เห็นอย่างตอนที่เขาประกาศในการให้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมากับนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ (the Economist) เมื่อปลายปี 2019 ว่า ยุโรปยืนอยู่ที่ “ปากขอบหน้าผาสูง” และจำเป็นที่จะต้องเริ่มขบคิดถึงตนเองในทางยุทธศาสตร์ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์รายหนึ่ง ไม่เช่นนั้นแล้ว ยุโรปก็จะ “ไม่สามารถควบคุมชะตากรรมของเราเองได้อีกต่อไป” ทั้งนี้ มาครงพูดแบบคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างน่าทึ่งเช่นนี้ก่อนหน้าจะเกิดสงครามในยูเครนถึง 3 ปี

ตามรายงานของ มาเรียน (Marianne) นิตยสารรายสัปดาห์ในฝรั่งเศส ที่ไปสัมภาษณ์ทหารฝรั่งเศสหลายต่อหลายคน [3] ฝ่ายทหารประมาณการกันเอาไว้ว่าสงครามยูเครนอยู่ในสภาพที่พ่ายแพ้ปราชัยอย่างไม่อาจกอบกู้ได้แล้ว มาเรียน อ้างนายทหารอาวุโสชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งซึ่งกล่าวอย่างดูหมิ่นเย้ยหยันว่า “เราต้องไม่ทำความผิดพลาดด้วยการไปเผชิญหน้ากับพวกรัสเซียนะ เราน่ะเป็น (แค่) กองทัพของพวกเชียร์ลีดเดอร์” ดังนั้นการจัดกองทหารฝรั่งเศสไปยังแนวหน้าที่ยูเครนจึงเป็นสิ่งที่ “ไม่สมเหตุสมผลเลย” ขณะที่ ณ วังเอลิเซ ที่เป็นทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสในกรุงปารีส ที่ปรึกษาที่ไม่มีการระบุชื่อผู้หนึ่งยังคงโต้แย้งว่า มาครง “ต้องการส่งสัญญาณอย่างแรงๆ ออกมา ... ด้วยถ้อยคำที่แสดงออกถึงความละเอียดอ่อนและความถี่ถ้วน”

ทางด้าน นาตาชา โปโลนี (Natacha Polony) บรรณาธิการของมาเรียน เขียนแสดงทัศนะเอาไว้ดังนี้ “มันไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเอมมานูเอล มาครง หรือการแสดงทีท่าของเขาในฐานะที่เป็นผู้นำตัวเล็กซึ่งมีกำลังวังชา อีกต่อไปแล้ว มันกระทั่งไม่ใช่เรื่องของฝรั่งเศส หรือความอ่อนแอลงเรื่อยๆ ของประเทศนี้สืบเนื่องจากพวกชนชั้นนำที่มืดบอดและไร้ความรับผิดชอบอีกต่อไปแล้ว แต่มันเป็นคำถามว่าเราในฐานะเป็นหมู่เหล่าเดียวกัน ตกลงเห็นชอบที่จะเดินละเมอเข้าสู่สงครามหรือไม่ เป็นสงครามที่ไม่มีใครสามารถอวดอ้างได้ว่าจะถูกควบคุมหรือจำกัดขอบเขตเอาไว้ได้ มันเป็นคำถามที่ว่าเราเห็นชอบด้วยหรือไม่ที่จะส่งลูกหลานของเราไปตาย เพราะสหรัฐฯยืนกรานที่จะจัดตั้งฐานทัพต่างๆ ขึ้นมาตรงบริเวณชายแดนของรัสเซีย”

กระนั้นก็ตามที คำถามใหญ่ที่สมควรต้องพิจารณาหาคำตอบกันต่อไปก็คือว่า ทำไม มาครง จึงตัดสินใจที่จะทำเรื่องนี้ –การพยายามที่จะฉวยคว้าโอกาสในการรวบรวมสร้าง “กลุ่มพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์อย่างเดียวกัน” ขึ้นมาในยุโรป (ซึ่งจะส่งกองทหารภาคพื้นดินเข้าไปต่อสู้กับรัสเซียในยูเครน) มีคำอธิบายอยู่หลายอย่างทีเดียวที่สามารถหยิบยกขึ้นมาได้ เริ่มตั้งแต่ว่า มาครงกำลังแสดงท่าทางให้ดูดีและพยายามที่จะเรียกร้องคะแนนทางการเมืองด้วยการเสียค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด, แรงจูงใจจากความทะเยอทะยานส่วนบุคคลของเขาเอง, และความมึนตึงที่มีอยู่กับเบอร์ลินในเรื่องกิจการในยุโรป

กระนั้น เราต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า จวบจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ มาครงยังเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้เปิดการสนทนากับมอสโกอยู่เลย ความรับรู้เข้าใจในเมืองหลวงของยุโรปส่วนใหญ่ที่สุด รวมทั้งกรุงมอสโกด้วย ก็คือว่า มาครงกำลังพยายามที่จะนำวิกฤตของยูเครนขึ้นสู่ระดับใหม่จากการประกาศให้ส่งกำลังทหารสู้รบของฝ่ายตะวันตกเข้าไปต่อสู้กับรัสเซียอย่างเปิดเผย ในลักษณะที่เป็นการมุ่งชักใยทางการเมืองอย่างชัดเจน

จุดเด่นในทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่ตรงที่ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้เอง มาครงเคยเป็นผู้เรียกร้องให้สนทนากับมอสโกอีกทั้งเสนอตัวที่จะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเป็นผู้สร้างชื่อเสียงจากการประกาศเรื่อง “มหายุโรป” (Greater Europe) เมื่อปี 2019 รวมทั้งพยายามรักษาสายการติดต่อกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเอาไว้เรื่อยมา กระทั่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ขณะที่พูดถึง “ความพ่ายแพ้” อย่างแน่นอนของรัสเซียในยูเครน มาครงก็ยังเรียกร้องด้วยว่าจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ “หยามหมิ่น” รัสเซีย เขาผู้นี้ยังเป็นผู้กล่าวย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงความมุ่งมั่นผูกพันที่เขามีอยู่กับสมการทางการทูตที่ถือว่าเป็น (มรดก) ของ ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ (Charles de Gaulle) ซึ่งมอบหมายให้ฝรั่งเศสแสดงบทบาทเป็น “สะพานเชื่อมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก” ทว่ามาถึงเวลานี้ มาครงผู้นี้กำลังเหวี่ยงตัวไปสู่ความสุดโต่งอีกปลายหนึ่งของการแสดงโวหารสนับสนุนแนวคิดยูโร-แอตแลนติกอย่างแข็งกร้าว
(ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ Charles de Gaulle วีรบุรุษผู้นำฝ่ายต่อต้านของฝรั่งเศสสู้รบกับนาซีเยอรมันในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และรัฐบุรุษที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสอยู่สิบปีเศษในช่วงปี 1959-1969 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_de_Gaulle -ผู้แปล)

ความเปลี่ยนแปลงหันหัวเลี้ยวอย่างน่าตกใจเช่นนี้ สามารถที่จะเข้าใจได้ต่อเมื่อมองดูว่ามันมีต้นตอจากพัฒนาการที่ไม่น่าปลาบปลื้มของเหตุการณ์ต่างๆ ในฉากทัศน์แห่งวิกฤตยูเครน กล่าวคือ ทิศทางอนาคตที่ฝ่ายรัสเซียจะกลายเป็นผู้ปราชัยในสงครามนี้บัดนี้ไม่มีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้นเสียแล้ว แถมยังแทนที่ด้วยความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าสันติภาพจะสามารถบรรลุได้ในท้ายที่สุดก็มีแต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่ฝ่ายรัสเซียพึงพอใจ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ พลวัตแห่งอำนาจในยุโรปกำลังมีการแปรเปลี่ยนอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โดยที่แน่ล่ะ มันส่งผลกระทบอย่างแรงต่อความทะเยอทะยานของตัวมาครงเองที่ต้องการ “นำยุโรป”

เวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศสก็กำลังดำเนินสู่ขั้นตอนของการแข่งขันกันและความเป็นศัตรูกันอย่างดุเดือด—กระทั่งมีการประจันหน้ากันด้วยซ้ำ— ในหลายๆ บริเวณ เป็นต้นว่า รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส สเตฟาน เซยุกเนต์ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เลอ ปารีเซียง (Le Parisien) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่า ชัยชนะของรัสเซียในยูเครนจะนำไปสู่ข้อเท็จจริงที่ว่าการส่งออกข้าวสาลีราวๆ 30% ของโลกกำลังถูกควบคุมโดยมอสโก สำหรับปารีสแล้ว นี่เป็นคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนไปรอดของหนึ่งภาคส่วนสำคัญมากในเศรษฐกิจแห่งชาติของฝรั่งเศส

ภาคเกษตรกรรมของฝรั่งเศสมีความโดดเด่นตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของมัน โดยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ชาวกอลในยุค 2,000 ปีก่อนคริสตกาล มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ การปฏิวัติของฝรั่งเศสปี 1789 ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ส่วนของระเบียบสังคมของชาวฝรั่งเศส และนำไปสู่การขจัดอภิสิทธิ์ต่างๆ ของพวกชนชั้นสูงนั้น ที่จริงแล้วยังมีลักษณะเป็นการปฏิวัติทางเกษตรกรรมด้วย โดยมันเปิดทางให้เกิดการจัดสรรแบ่งปันที่ดินขนาดใหญ่ๆ กันเสียใหม่ สามารถกล่าวได้ว่า ความผูกพันของประชาชนชาวฝรั่งเศสต่อภาคเกษตรกรรมของพวกเขามีความแข็งแกร่งเหนียวแน่นมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน พวกรัฐทางทวีปแอฟริกากำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนำเข้าธัญพืชของพวกเขา สืบเนื่องจากกฎระเบียบทางเทคนิคที่สหภาพยุโรปนำมาบังคับใช้โดยถือเป็นสิ่งหนึ่งของวาระสีเขียวมุ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของพวกเขา แต่กลับส่งผลพ่วงต่อเนื่องให้เกษตรกรชาวฝรั่งเศสต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องสำคัญยิ่งหลังจากนั้นก็คือ เวลานี้พวกเขากำลังทำท่าจะต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคดังกล่าวให้แก่รัสเซีย

เรื่องนี้เป็นส่วนต่อยอดของการบุกเข้าตลาดแอฟริกาของรัสเซีย ด้วยการส่งออกอาวุธอย่างคึกคักให้แก่ทวีปนี้ในระยะหลังๆ มานี้ ยิ่งเมื่อพิจารณาด้วยทัศนในทางการเมือง-การทหารด้วยแล้ว มันก็อยู่ในรอยทางอย่างเดียวกัน ฝรั่งเศสกำลังสูญเสียพื้นที่ให้แก่รัสเซีย ในภูมิภาคซาเฮล (Sahel region) ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากร และเป็นอาณานิคมเก่าของฝรั่งเศส ตลอดจนเป็นเสมือนสนามเด็กเล่นเพลิดเพลินใจสำหรับฝรั่งเศสมาแต่ไหนแต่ไร ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ก็คือกรรมกำลังตามสนองสิ่งที่ฝรั่งเศสเคยกระทำเอาไว้ด้วยยุทธศาสตร์อาณานิคมแผนใหม่ของพวกเขาในแอฟริกา ทว่าปารีสเลือกที่จะหันไปประณามกล่าวโทษกลุ่มนักรบวากเนอร์ (Wagner group) ของรัสเซียมากกว่า จากการที่กลุ่มนี้ได้เคลื่อนเข้าไปถมเติมเต็มสูญญากาศด้านความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคซาเฮล ขณะที่กองกำลังต่อต้านฝรั่งเศสในภูมิภาคดังกล่าว พากันก้าวขึ้นสู่อำนาจในหลายๆ ประเทศพร้อมๆ กัน –ไม่ว่าจะเป็น มาลี, ไนเจอร์, บูร์กินาฟาโช, ชาด, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง
(ภูมิภาคซาเฮล (Sahel region เป็นบริเวณเขตรอยต่อกับทะเลทรายสะฮารา ซึ่งมีลักษณะเป็นดินแดนพาดยาวระยะทางราว 1,000 กิโลเมตร ตั้งแต่ทางด้านตะวันออกที่เป็นมหาสมุทรแอตแลนติก ไปจนจรดด้านตะวันตกที่เป็นทะเลแดง และเลยแบ่งทวีปแอฟริกาออกเป็นส่วนเหนือ กับส่วนใต้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Sahel --ผู้แปล)

แล้วฝรั่งเศสก็กำลังเริ่มตอบโต้แก้เผ็ดตามธรรมเนียมภูมิรัฐศาสตร์ชั้นดี ตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเป็นจุดอ่อนไหวสำหรับผลประโยชน์ของรัสเซีย – ไม่ว่าจะเป็น อาร์เมเนีย, มอลโดวา, หรือ ยูเครน ซึ่งมีกองทหารรัสเซียไปปรากฏตัวอยู่ จุดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่กำลังตกเป็นเป้าเล็งยิงของฝรั่งเศสทั้งนั้น ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ยูเครนคือพื้นที่ทางยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดซึ่ง มาครง วาดหวังว่าฝรั่งเศสจะประสบความสำเร็จในการเข้าไปมีอิทธิพลบารมีเพิ่มมากขึ้น

จากตรงนั้น มาครงก็วาดหวังที่จะเดินหน้าความทะเยอทะยานในการเป็นผู้นำในยุโรปของเขาต่อไปอีก ด้วยการวางตัวเป็นผู้นำร่องยุทธศาสตร์ด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู ภายในดินแดนรูปโค้งขนาดกว้างใหญ่ไพศาล จากทวีปแอฟริกา ขยับมาทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ยุโรป และขึ้นเหนือไปถึงทรานส์คอเคเชีย (Transcaucasia ดินแดนตอนใต้ของเทือกเขาคอเคซัส ในเอเชียกลาง) –โดยมีศักยภาพความเป็นไปได้ที่จะก้าวเลยไปจนถึงอัฟกานิสถาน

ทั้งหมดนี้กำลังคลี่คลายปรากฏให้เห็น ท่ามกลางพื้นหลังทางประวัติศาสตร์ของการที่สหรัฐฯอยู่ในสภาพล่าถอยในยุโรปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกำลังร้อนรุ่มขึ้นทุกขณะ และความเป็นปรปักษ์กับจีนที่คุกรุ่นอยู่กำลังกลายเป็นแรงปรารถนาที่สูบเอากำลังเรี่ยวแรงของวอชิงตันไปทั้งหมดทั้งสิ้น อันที่จริงแล้ว เคียงข้างกันนั้น การปรากฏขึ้นมาอย่างสูงตระหง่านตลอดทั่วทั้งยุโรปของรัสเซียยังกำลังเริ่มกลายเป็นสิ่งที่รู้สึกกันอย่างแรงกล้า ในขณะที่แดนหมีขาวพุ่งพรวดขึ้นเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ ในอาณาบริเวณยุทธศาสตร์ระหว่างนครแวนคูเวอร์ กับนครวลาดิวอลสต็อก

มาถึงวันนี้ ข้อความที่ทีแรกฟังดูเหมือนไม่ถูกต้อง แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่ามันมีค่าสมควรแก่การพิจารณามาตั้งนานแล้ว ได้แก่เรื่องที่ ดมิตริ เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในเวลานั้น ได้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่เมื่อปี 2008 ให้มีการจัดทำสนธิสัญญาความมั่นคงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งยุโรปขึ้นมา โดยที่มันจะเป็นตัวพัฒนาให้เกิดสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงอย่างใหม่ขึ้นในยุโรป ซึ่งครอบคลุมการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่สำหรับสิ่งที่กำลังดำรงอยู่เดิม ตลอดนก่อให้เกิดสถาบันใหม่ๆ และบรรทัดฐานใหม่ๆ ที่จะเป็นตัวจัดระเบียบความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงทั้งหลายในยุโรปภายในอาณาบริเวณอันกว้างขวางใหญ่โตยิ่งขึ้นกว่ายุโรปเดิมในทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยมีการขยับขยายไปทางตะวันออก “จากแวนคูเวอร์จนถึงวลาดิวอลสต็อก” ทว่าน่าเสียดายที่สหรัฐฯกระตุ้นส่งเสริมให้ทางยุโรปมองสิ่งที่เรียกกันว่า “แผนการริเริ่มเมดเวเดฟ” (Medvedev Initiative) [4] นี้ ว่าเป็นกับดับซึ่งมุ่งหมายที่จะสร้างความอ่อนแอให้แก่ นาโต้, องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe หรือ OSCE), สหภาพยุโรป, ตลอดจนองค์กรหน่วยงานของยุโรปอื่นๆ และจึงปฏิเสธแนวความคิดอันมหัศจรรย์นี้ ซึ่งควรที่จะกลายเป็นตัวหลักตัวแกนยึดโยงยุคหลังสงครามเย็นให้มั่นคงหนักแน่น บนสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงที่มีผลผูกพันหนักแน่น

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/france-all-dressed-up-and-nowhere-to-go/

เชิงอรรถ

[1] https://www.politico.eu/article/russia-war-olaf-scholz-emmanuel-macron-donald-tusk-meet-in-berlin-resolve-differences-on-ukraine/
[2]https://www.aljazeera.com/news/2024/2/26/macron-holds-meeting-in-paris-to-rally-european-support-for-ukraine
[3] https://www-marianne-net.translate.goog/monde/europe/guerre-en-ukraine-endurance-russe-echec-de-la-contre-offensive-ce-que-cache-le-virage-de-macron?_x_tr_sl=fr&_x_tr_tl=en&_x_tr_hl=en&_x_tr_pto=sc
[4] https://cejiss.org/medvedev-s-initiative-a-trap-for-europe
กำลังโหลดความคิดเห็น