ในความพยายามเพื่อเข็นให้สภาล่างที่ควบคุมโดยรีพับลิกัน ยอมผ่านร่างกฎหมายความช่วยเหลือต่างประเทศ ไบเดนออกมาประกาศชัดเจนในวันอังคาร (20 ก.พ.) ว่า เงินร่วมๆ 2 ใน 3 หรือคิดเป็นเม็ดเงินก็เกือบๆ 40,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งระบุว่าสำหรับช่วยเหลือยูเครนนั้น แท้จริงแล้วจะถูกนำไปใช้จ่ายเพิ่มยอดขายเพิ่มงานให้แก่โรงงานผลิตอาวุธและเครื่องกระสุนทั่วอเมริกา
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศฉบับนี้ที่มีมูลค่ารวม 95,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะแบ่งปันจัดสรรให้แก่ยูเครน อิสราเอล และไต้หวัน โดยที่รายการสูงที่สุดคือการช่วยเหลือเคียฟนั้น ได้ผ่านการอนุมัติของวุฒิสภาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่แล้ว ทว่า ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกัน และเป็นคนใกล้ชิดอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธแม้กระทั่งการนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาล่าง โดยให้เหตุผลว่ามันไม่ได้ตอบสนองความต้องการของคนอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่สำนักข่าวเอพีได้รับจากคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่า เฉพาะแพกเกจสำหรับช่วยยูเครนมูลค่ารวม 60,700 ล้านดอลลาร์ จะมีถึง 38,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายกระจายไปยังโรงงานต่างๆ ทั่วอเมริกาที่ผลิตขีปนาวุธ เครื่องกระสุน ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ
ตัวไบเดนเองแถลงย้ำในวันอังคาร (20) ว่า แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวระบุถึงการจัดหาอาวุธส่งไปให้ยูเครน แต่การใช้จ่ายงบประมาณจริงๆ จะเกิดขึ้นภายในอเมริกา ตามพื้นที่ต่างๆ เช่น รัฐแอริโซนาซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตขีปนาวุธต่อสู้ขีปนาวุธ “แพทริออต” รัฐแอละบามาที่มีการผลิตขีปนาวุธประทับบ่ายิง “เจฟลิน” ตลอดจนรัฐเพนซิลเวเนีย โอไฮโอ และเทกซัสที่มีการผลิตกระสุนปืนใหญ่
คำแถลงของไบเดนเป็นการตอบโต้เสียงวิจารณ์ของสมาชิกรัฐสภาจากพรรครีพับลิกันบางคนที่เร่งเร้าให้รัฐบาลกลางเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ แทนการสนับสนุนสงครามในต่างแดน
ไบเดนชี้ว่า ในกรณีนี้ เงินส่วนใหญ่จะถูกถ่ายโอนไปยังบริษัทและแรงงานอเมริกัน อัดฉีดสายการผลิตเพื่อเติมเต็มสต๊อกอาวุธที่ร่อยหรอจากการส่งไปช่วยเหลือยูเครนรบกับรัสเซีย
คำประกาศคราวนี้ของไบเดนยังเป็นการคืนชีพแนวคิดที่ว่า อเมริกาคือ “คลังแสงอาวุธแห่งประชาธิปไตย” ของอดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ และจุดขายของไบเดนขณะนี้คือ นโยบายการต่างประเทศเป็นเรื่องของการสร้างงานสำหรับชนชั้นกลางอเมริกัน
เวลาเดียวกัน มันก็เป็นความพยายามของไบเดนที่จะโต้แย้งบอกปัดเสียงคัดค้านจากโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวเก็งผู้ได้รับเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันอีกสมัย ผู้ซึ่งได้ครอบครองทำเนียบขาววาระแรกเมื่อปี 2016 เนื่องจากการให้คำมั่นในการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกา
ทรัมป์คัดค้านการให้เงินช่วยเหลือยูเครน และแสดงออกโจ่งแจ้งว่า ยินดีปล่อยให้รัสเซียบุกชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่ไม่ยอมจ่ายสมทบงบประมาณกลาโหม
สมาชิกรีพับลิกันจำนวนมากในคองเกรสเวลานี้ พร้อมเดินตามการชี้นำของทรัมป์ ขณะเดียวกับที่กลุ่มปีกขวาในพรรคนี้ก็ตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับคุณค่าในการแทรกแซงกิจการทั่วโลกของอเมริกา รวมทั้งการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ดี พวกรีพับลิกันอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้ง มิตช์ แมคคอนนลล์ ผู้นำของพรรคนี้ในวุฒิสภา เฝ้าเรียกร้องให้พวกสมาชิกเห็นดีเห็นงามว่า เงินจากแพกเกจความช่วยเหลือต่างชาติ ถือเป็นการลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ในอเมริกา รวมทั้งเป็นการฟื้นแนวคิดคลังอาวุธแห่ประชาธิปไตย และแสดงให้พวกชาติพันธมิตรตลอดจนถึงศัตรูรับรู้ว่า อเมริกาจริงจังกับการใช้อำนาจความแข็งแกร่งของตนเอง
อนึ่ง จากข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากร ปีที่แล้วโรงงานในสหรัฐฯ ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการทหารมูลค่าเกือบ 162,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบกับปี 2022 และร่างงบประมาณเพิ่มเติมอาจช่วยดันยอดการผลิตของโรงงานเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้
คณะบริหารของไบเดนยังกำหนดให้การเพิ่มกำลังผลิตของพวกบริษัทผู้รับเหมารับจ้างทำสัญญากลาโหม เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญอันดับแรก โดยมีแผนเพิ่มการผลิตกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตรอีก 6 เท่าภายใน 3 ปี
ร่างกฎหมายที่ยังติดขัดอยู่ที่สภาล่างฉบับนี้ อาจช่วยส่งเสริมความพยายามนี้จากการอัดฉีดการลงทุนใหม่ๆ ในสายการผลิตอาวุธ และชุบชีวิตฐานทางอุตสาหกรรมสำหรับการผลิตเรือดำน้ำ ทั้งนี้ตามข้อมูลของทำเนียบขาว
ด้วยเหตุนี้ไบเดนจึงหัวเสียหนักที่สภาล่างยังใจเย็นหยุดพักการประชุมนาน 2 สัปดาห์ตั้งแต่บ่ายวันพฤหัสฯ (15) อย่างไรก็ดี เขายังพยายามผลักดันร่างกฎหมายนี้อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ (16) ภายหลังข่าวการเสียชีวิตของอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซียที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ โดยเรียกร้องให้คองเกรสสนับสนุนยูเครนและยืนหยัดต่อต้านวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย
(เอพี, เอเจนซีส์)