ชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์นับล้านๆ ในดินแดนฉนวนกาซายังคงมืดมน “เนทันยาฮู” ประณามนานาชาติกำลังขอให้รัฐยิวยอมแพ้ จากการเรียกร้องให้อิสราเอลเลิกล้มแผนบุกเมืองราฟาห์เพื่อหลีกเลี่ยงการสังหารเข่นฆ่าหมู่พลเรือน พร้อมกันนั้นเขาก็แสดงการคัดค้านหัวชนฝาการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ ส่วนทางด้านกาตาร์ยอมรับ การเจรจาเพื่อทำข้อตกลงหยุดยิงในกาซาไม่คืบหน้าตามคาด ขณะเดียวกันอเมริกาประกาศไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนให้ท้ายอิสราเอล โดยจะใช้สิทธิ์ยับยั้งญัตติหยุดยิงในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า อิสราเอลยังคงถล่มโจมตีทั่วทั้งกาซาเมื่อคืนวันเสาร์จนถึงวันอาทิตย์ (17-18 ก.พ.) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกาซาแถลงอัปเดตตัวเลขในวันอาทิตย์ (18) ว่า สงครามครั้งนี้ได้คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้ว 28,985 คน และบาดเจ็บ 68,883 คน เฉพาะช่วง 24 ชั่วโมงล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 127 คน และบาดเจ็บ 205 คน
เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เมื่อวันศุกร์และเสาร์ (16-17 ก.พ.) ทีมเจ้าหน้าที่ WHO ไม่สามารถเข้าไปในโรงพยาบาลนัสเซอร์ ในเมืองข่านยูนิส เมืองใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของกาซา เพื่อประเมินสภาพผู้ป่วยและความจำเป็นทางการแพทย์ แม้เข้าไปจนถึงพื้นที่ของโรงพยาบาลแล้วเพื่อร่วมกับหน่วยงานบรรเทาทุกข์ ในการจัดส่งเชื้อเพลิงก็ตาม
เกเบรเยซุสโพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่า ยังมีผู้ป่วยราว 200 คนในโรงพยาบาล ซึ่ง 20 คนในจำนวนนี้ต้องนำส่งโรงพยาบาลอื่นโดยด่วน
ด้านอิสราเอลเผยว่า ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นนักรบอิสลาม 70 คน ซึ่งรวมถึง 20 คนที่ถูกระบุว่า มีส่วนร่วมในการโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามในกาซาครั้งนี้ แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยัน และกองทัพยิวเสริมว่า กำลังค้นหาตัวประกันที่ยังถูกคุมขังอยู่ในโรงพยาบาลนัสเซอร์ พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้มีเป้าหมายโจมตีแพทย์หรือผู้ป่วย
เวลาเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขกาซาบอกว่า ในหมู่พวกที่ถูกทหารอิสราเอลจับตัวไปนั้น เป็นบุคลากรทางการแพทย์ราว 70 คน แล้วยังมีพวกคนไข้ที่นอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาล ซึ่งถูกนำตัวขึ้นรถบรรทุกขับออกไป โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงยังระบุว่า พวกทหารได้ทุบตีทำร้ายพวกผู้ถูกจับ และเปลื้องเสื้อผ้าของพวกเขา
ในอีกด้านหนึ่ง แอลจีเรียซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศอาหรับในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เสนอร่างญัตติเรียกร้องให้หยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมทันทีและให้มีการเข้าถึงกาซาเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่มีการปิดกั้น ตลอดทั้งคัดค้านการบังคับพลเรือนปาเลสไตน์ย้ายถิ่นฐาน
ทว่า เมื่อคืนวันเสาร์ ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ออกคำแถลงว่า อเมริกาจะใช้สิทธิ์ยับยั้งร่างญัตติดังกล่าว โดยเธออ้างว่าเนื่องจากบ่อนทำลายความพยายามของอเมริกาในการยุติสงครามในกาซา
อเมริกาใช้สิทธิ์ยับยั้งร่างญัตติคล้ายกันนี้มาแล้วหลายครั้งทั้งที่ร่างดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากนานาชาติ นอกจากนั้นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังเร่งรัดจัดส่งอาวุธให้อิสราเอลโดยใช้กระบวนการที่ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งนี้สหรัฐฯกระทำเช่นนี้พร้อมๆ กับการป่าวร้องให้อิสราเอลเพิ่มมาตรการปกป้องพลเรือนปาเลสไตน์ และอำนวยความสะดวกในการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่กาซา
มีรายงานว่า อเมริกา กาตาร์ และอียิปต์ยังพยายามผลักดันข้อตกลงหยุดยิงในกาซา และปล่อยตัวประกัน ทว่า ข้อเรียกร้องของอิสราเอลและฮามาสแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และเมื่อวันเสาร์กาตาร์ยอมรับว่า การเจรจาไม่คืบหน้าอย่างที่คาดไว้
ฮามาสนั้นยืนกรานว่า จะไม่ปล่อยตัวประกันทั้งหมด เว้นแต่อิสราเอลจะยุติสงครามและถอนทหารทั้งหมดออกจากกาซา รวมทั้งปล่อยนักโทษปาเลสไตน์ที่รวมถึงสมาชิกระดับสูงของฮามาส
ทว่า นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู คัดค้านข้อเรียกร้องเหล่านั้น รวมถึงสถานการณ์ที่จะทำให้ฮามาสสามารถฟื้นกองกำลังและอำนาจการปกครองกาซา ผู้นำยิวสำทับว่า ที่ส่งตัวแทนไปเจรจาหยุดยิงที่ไคโรเมื่อสัปดาห์ก่อนเนื่องจากได้รับการขอร้องจากไบเดน และเวลานี้ไม่เห็นความจำเป็นที่จะส่งตัวแทนกลับไปเจรจาอีก
เนทันยาฮูยังตอบโต้นานาชาติที่เรียกร้องให้อิสราเอลยกเลิกแผนการบุกภาคพื้นดินเข้าสู่ราฟาห์ โดยบอกว่า การกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการยอมแพ้ พร้อมกันนั้นก็อ้างคำพูดเดิมของเขาที่ว่า จะอพยพพลเรือนปาเลสไตน์ไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า ทว่ายังไม่เคยมีการชี้ชัดให้รายละเอียดเลยว่าจะเป็นที่ใด
นอกจากนี้ผู้นำอิสราเอลยังคัดค้านการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่อเมริการะบุว่า เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติระหว่างอิสราเอลกับซาอุดีอาระเบีย และการลงทุนของอาหรับในการปฏิสังขรณ์และการปกครองกาซาหลังสงคราม
ทางด้านอียิปต์กังวลมากขึ้นว่า การบุกราฟาห์จะบีบให้พลเรือนในกาซาหนีข้ามพรมแดนเข้าสู่อียิปต์ โดยเมื่อวันเสาร์ ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซีย้ำว่า ไคโรคัดค้านการบังคับชาวปาเลสไตน์ทิ้งถิ่นฐานเข้าสู่ทะเลทรายไซนาย
นอกจากนี้ ระหว่างการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างผู้นำอียิปต์กับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผู้นำทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการเร่งรัดการหยุดยิงทันที
(ที่มา: เอพี, รอยเตอร์, เอเอฟพี)