(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
What China sends Russia is ‘none of EU’s business’
By JEFF PAO
15/02/2024
ทั้งปักกิ่งและประชามติในแดนมังกร ต่างประท้วงคัดค้านเรื่องที่สหภาพยุโรปตั้งท่าจะแซงก์ชั่นบริษัทจีน ด้วยข้อหาจัดหาจัดส่งสินค้าที่สามารถนำไปใช้ทางการทหารได้ ไปให้แก่รัสเซีย โดยที่ทางการจีนโต้แย้งว่าพวกเขายังคงวางตัวเป็นกลางในเรื่องสงครามยูเครน
ปักกิ่งแสดงท่าทีคัดค้านไม่เห็นด้วย หลังจากสื่อมวลชนรายงานข่าวว่าสหภาพยุโรปกำลังจะแซงก์ชั่นคว่ำบาตรบริษัทจีนบางแห่งซึ่งจัดหาจัดส่งพวกผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ทั้ง 2 ทาง ซึ่งหมายถึงนำไปใช้ในกิจการพลเรือนหรือในทางทหารก็ได้ ไปให้แก่รัสเซียเพื่อใช้ในการทำสงครามยูเครน
กระทรวงการต่างประเทศของจีนยอมรับว่า พวกเขาทราบที่สื่อรายงานเรื่องเช่นนี้ ซึ่งให้รายละเอียดว่าอียูจะประกาศการแซงก์ชั่นของพวกเขาเอากับบริษัทต่างๆ รวมแล้วหลายสิบแห่งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ –วันครบรอบ 2 ปีพอดีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
“จีนคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการใช้มาตรการแซงก์ชั่นอย่างผิดกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า ‘การขยายขอบเขตอำนาจปกครองจนเกินเลยจากดินแดนของตน’ มาเล่นงานจีน โดยอ้างเหตุผลเรื่องที่จีนกับรัสเซียมีความร่วมมือกัน” กระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวเช่นนี้ในคำแถลงฉบับหนึ่ง
ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ทางกระทรวงไม่ได้มีการจัดการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนตามปกติ สืบเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดตรุษจีน
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยอ้างอิงเอกสารความยาว 91หน้าที่พวกเขาได้รับมา ซึ่งบอกว่าอียูกำลังเสนอให้แซงก์ชั่นบริษัทต่างๆ รวม 55 แห่งและบุคคลต่างๆ อีกกว่า 60 คน โดยกล่าวหาพวกเขาว่ากำลังสนับสนุนความพยายามของรัสเซียในการทำสงครามในยูเครน แต่ด้วยเหตุผลทางกฎหมาย รายงานข่าวชิ้นนี้มิได้ระบุชื่อบริษัทหรือบุคคลที่ถูกหมายหัวเหล่านี้แต่อย่างใด
มีรายงานของสื่อชิ้นอื่นๆ ซึ่งบอกว่า บริษัทที่จะถูกเล่นงานเหล่านี้มีบางอย่างตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง, เซอร์เบีย, อินเดีย, และตุรกี รายงานพวกนี้กล่าวด้วยว่ามี 3 บริษัทตั้งอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ และอีก 4 แห่งอยู่ในฮ่องกง
ถ้าหากอียูประกาศแซงก์ชั่นตามที่รายงานข่าวเหล่านี้ระบุ มันก็จะเป็นครั้งแรกที่สหภาพยุโรปบังคับใช้มาตรการลงโทษเอากับพวกบริษัทในจีนแผ่นดินใหญ่ นับตั้งแต่ที่รัสเซียรุกรานยูเครน
สำหรับอียูแล้ว นี่ถือเป็นแพกเกจมาตรการแซงก์ชั่นชุดที่ 13 ซึ่งพวกเขาประกาศใช้นับตั้งแต่การรุกรานของแดนหมีขาว นับจนถึงเวลานี้อียูได้แซงก์ชั่นลงโทษบริษัทต่างๆ ไปมากกว่า 600 แห่ง ส่วนใหญ่แล้วเป็นกิจการซึ่งตั้งฐานอยู่ในรัสเซีย
เมื่อวันพุธ (14 ก.พ.) สหภาพยุโรป, สหรัฐฯ, และสหราชอาณาจักร ได้จัดการประชุมในกรุงบรัสเซลส์ เพื่อหารือกันถึงวิธีการที่จะทำให้เกิดความแน่ใจได้ว่ามอสโกจะไม่สามารถหาช่องโหว่หลบเลี่ยงจากมาตรการแซงก์ชั่นทั้งหลายที่มีการประกาศใช้ไปแล้ว
สายสัมพันธ์จีน-รัสเซีย
ในการพบปะเจรจากันที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมปีที่แล้ว ชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel) ประธานของคณะมนตรียุโรป (European Council ที่ประชุมของบรรดาผู้นำชาติสมาชิกอียู) ได้ขอร้องประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนให้จัดการในทันทีกับ 13 บริษัทจีนซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันกับการจัดหาจัดส่งพวกสินค้าที่ใช้ได้ทั้ง 2 ทางให้แก่รัสเซีย ขณะที่ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission องค์กรบริหารของสหภาพยุโรป) สำทับว่าจีนควรต้องป้องกันขัดขวางความพยายามใดๆ ก็ตามของรัสเซียที่จะบ่อนทำลายผลกระทบของมาตรการแซงก์ชั่นซึ่งอียูประกาศใช้
ท่าทีเช่นนี้ ทำให้มีนักออกความคิดเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ในเรื่องทางการทหารรายหนึ่ง ซึ่งตั้งฐานอยู่ทางมณฑลเจียงซี และใช้นามปากกว่า “หมาป่าหิมะ” (Snow wolf) เขียนตอบโต้เอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า “อียูกำลังพยายามที่จะสั่งห้ามไม่ให้พวกกิจการของจีนร่วมมือกับรัสเซียอย่างนั้นหรือ? ไม่เห็นมีความจำเป็นใดๆ เลยที่พวกบริษัทจีนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชั่นที่อียูนำมาใช้กับรัสเซีย”
เขาบอกว่า กิจการของจีนนั้นมีเสรีภาพและก็มีสิทธิที่จะเลือกร่วมมือกับกิจการของทางรัสเซีย เมื่อความเป็นหุ้นส่วนกันทั้งหมดเหล่านี้ กระทำไปอย่างสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
“การหยุดยั้งจีนไม่ให้ร่วมมือกับรัสเซีย จะไม่ช่วยให้สามารถคลี่คลายแก้ไขการสู้รบขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้หรอก แต่มันจะเป็นประโยชน์สำหรับอียูและสหรัฐฯเท่านั้นเอง” เขากล่าว และพูดต่อไปว่า อียูนั่นแหละควรที่จะยุติการจัดหาจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารไปให้แก่ยูเครน ก่อนที่จะพยายามประณามจีน
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี ก็ได้บอกกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ระหว่างการสนทนากันทางโทรศัพท์ว่า ทั้งจีนและรัสเซียควรที่จะคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวต่อการแทรกแซงกิจการภายในของพวกกลุ่มพลังภายนอก
สีบอกว่าทั้งสองฝ่ายควรเดินหน้ามุ่งแสวงหาความร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์อย่างใกล้ชิด และพิทักษ์ปกป้องอธิปไตย, ความมั่นคง, และผลประโยชน์ด้านการพัฒนา ของแต่ละประเทศของพวกเขา
ข้อตกลงการลงทุน
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 สหภาพยุโรปมีมติให้เลื่อนการเจรจาหารือเพื่อจัดทำ ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอย่างรอบด้านจีน-อียู (China-EU Comprehensive Agreement on Investment เรียกกันย่อๆ ว่า CAI) ออกไปก่อนโดยอ้างเหตุผลความกังวลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในแคว้นซินเจียงของจีน นับแต่นั้นมาปักกิ่งได้พยายามผลักดันอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้มีการรื้อฟื้นการเจรจาหารือในเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่
เดือนเมษายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้พบหารือกับ สี ที่กรุงปักกิ่ง ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีพาณิชย์ หวัง เหวินเทา ของจีน ก็ได้พบหารือกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของฝรั่งเศสที่กรุงปารีส อย่างไรก็ดี มาครงบอกกับสื่อมวลชนว่ามันยังไม่ใช่เวลาที่จะเริ่มเจรจาเรื่อง CAI กันใหม่
เขายังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ว่า มอสโกกำลังอยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งพิงขึ้นต่อจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พวกเขาต้องสูญเสียช่องทางเข้าถึงทะเลบอลติก หลังจากสวีเดนและฟินแลนด์ต่างตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การนาโต้
มาครงแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ หลังจากที่ ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เรียกร้องให้ยุโรปประเมินทบทวนความสัมพันธ์ทางการทูตและทางเศรษฐกิจที่มีอยู่กับจีนเสียใหม่
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/world/ursula-von-der-leyen)
นักออกความคิดเห็นผ่านสื่อบางรายบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับจีนที่อยู่ในอาการมึนตึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ จะทำให้เป็นเรื่องลำบากเพิ่มขึ้นอีกที่ทั้งสองฝ่ายจะหวนคืนสู่โต๊ะเจรจาเพื่อต่อรองจัดทำความตกลง CAI กันต่อ พวกเขาบอกด้วยว่าปักกิ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของพวกเขาไปแล้ว โดยหันมาเน้นใช้ความพยายามเพื่อดำเนินการพูดจากับพวกประเทศยุโรปเป็นรายๆ ไป