xs
xsm
sm
md
lg

ตาสว่าง! ‘ทัคเกอร์ คาร์ลสัน’ยันปูตินพร้อมยุติสงครามยูเครน ด้านเครมลินสำทับไบเดนก็รู้ดีแต่ไม่คิดจะเจรจาด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทัคเกอร์ คาร์ลสัน พิธีกรรายการข่าวชาวอเมริกันคนดัง ขณะพูดเรื่องที่เขาไปสัมภาษณ์ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ณ เวทีประชุม เวิลด์ อิโคโนมิก กัฟเวิร์นเมนต์ ซัมมิต ที่ ดูไบ วันจันทร์ (12 ก.พ.)
ทัคเกอร์ คาร์ลสัน พิธีกรรายการข่าวชาวอเมริกันชื่อดัง ซึ่งได้สัมภาษณ์ปูตินเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุในวันจันทร์ (12 ก.พ.) ว่า ผู้นำรัสเซียพร้อมใช้ช่องทางการทูตเพื่อยุติสงครามในยูเครน แต่ถ้ายิ่งนานออกไปเขาก็อาจพร้อมประนีประนอมน้อยลง พร้อมกับชี้คณะบริหารไบเดนมีคนเก่งเยอะ เสียแต่มุมมองคับแคบเห็นผู้นำชาติอื่นเป็นฮิตเลอร์ไปหมด เลยไม่รู้ว่า สิ่งใดเป็นไปได้หรือสามารถบรรลุผลได้

คาร์ลสัน ซึ่งโด่งดังจากการเป็นพิธีกรรายการข่าวทางช่องฟอกซ์นิวส์ ก่อนขัดแย้งกับทางสถานีและออกมาจัดทำรายการทางออนไลน์ของตนเอง โดยยังคงมีผู้ติดตามเขาเป็นจำนวนมาก ได้บินไปสัมภาษณ์ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ถึงกรุงมอสโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และวิดีโอการสัมภาษณ์นี้มียอดการรับชมหลายร้อยล้านวิวนั้น กล่าวในงานเวิลด์ อิโคโนมิก กัฟเวิร์นเมนต์ ซัมมิตที่ดูไบเมื่อวันจันทร์ (12) ว่า จากการสัมภาษณ์ปูติน และการได้พูดจากับผู้นำรัสเซียหลังการสัมภาษณ์แบบเขาให้สัญญาจะไม่นำมาเขียนเป็นข่าว เขาคิดว่าปูตินต้องการให้สงครามในยูเครนยุติลง แต่ถ้ายิ่งนานไปคงจะไม่เปิดกว้างสำหรับการเจรจามากกว่านี้

คาร์ลสัน ซึ่งกลายเป็นบุคคลวงการสื่ออเมริกันคนแรกที่ได้เข้าสัมภาษณ์พูดจาเผชิญหน้าโดยตรงกับปูตินในรอบระยะเวลากว่า 2 ปี นั่นคือตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียทำการรุกรานยูเครนอย่างจริงจังในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เสียอีก ชี้ด้วยว่า ตะวันตกควรตระหนักว่า รัสเซียมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมลึกล้ำกว่าที่คาดคิดกัน และมอสโกยังผลิตอาวุธและกระสุนได้เร็วกว่าที่ชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) สามารถจัดหาให้ยูเครนได้

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ขณะให้สัมภาษณ์ ทัคเกอร์ คาร์ลสัน ที่ทำเนียบเครมลินในกรุงมอสโก เมื่อวันอังคารที่ 6 ก.พ. (ภาพเผยแพร่โดยสำนักข่าวสปุตนิก ของทางการรัสเซีย)
สิ่งหนึ่งที่คาร์ลสันบอกว่าถือเป็นการเปิดเผยความจริงข้อใหญ่สำหรับเขา จากการที่เขาไปสัมภาษณ์ปูตินครั้งนี้ ก็คือว่า ในช่วงที่สหภาพโซเวียตแตกสลายนั้น ทางรัสเซียได้เคยร้องขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต และประธานาธิบดีสหรัฐฯตอนนั้นคือ บิลล์ คลินตัน ทำท่าจะเห็นดีกับเรื่องนี้ ทว่าพวกผู้ช่วยของเขาได้โต้แย้งไม่ให้เอาด้วยกับความคิดนี้ จนในที่สุดมันก็ล้มเหลวลงไป

คาร์ลสันพูดที่ดูไบว่า “ถ้าฝ่ายรัสเซียร้องขอเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตร(นาโต) นั่นย่อมบ่งบอกให้ทราบว่าคุณได้แก้ปัญหาสำเร็จแล้ว และคุณสามารถที่จะเดินหน้าไปทำอะไรต่างๆ ที่เป็นการสร้างสรรค์กับชีวิตของคุณ แต่ทว่าเรากลับปฏิเสธ”

“ลองไปนั่งอยู่ในซาวนาสักชั่วโมงนึง แล้วลองขบคิดดูว่าเรื่องนี้หมายความว่ายังไง” เขากล่าวต่อ

เขายังตั้งข้อสังเกตว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีคนที่มีความสามารถ เพียงแต่คนเหล่านั้นมีทัศนคติมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคับแคบว่า ผู้นำประเทศอื่นๆ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และทุกวันคือมิวนิกในปี 1938 ผลลัพธ์คือ รัฐบาลตะวันตกไม่รับรู้จริงๆ ว่า สิ่งใดเป็นไปได้หรือสามารถบรรลุผลได้

ทั้งนี้ มิวนิกปี 1938 หมายถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่กองทัพนาซีเยอรมันของฮิตเลอร์เริ่มบุกยึดดินแดนหลายประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ทว่าพวกผู้นำยุโรปตอนนั้นเลือกใช้วิธีโอนอ่อนยอมตามความประสงค์ของจอมเผด็จการผู้นี้ โดยเฉพาะการทำข้อตกลงที่เมืองมิวนิกในปี 1938 ซึ่งในภายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าความอ่อนแอเช่นนี้เองกลับทำให้ฮิตเลอร์ได้ใจ และเดินนโยบายรุกรานแข็งกร้าวยิ่งขึ้น

คาร์ลสันสำทับว่า ผู้นำของทุกประเทศบนโลกนี้ โดยมีข้อยกเว้นคืออเมริกาในช่วงที่เป็นมหาอำนาจใหญ่อยู่ในโลกขั้วเดียว ถูกบีบด้วยลักษณะงานให้ต้องประนีประนอม ซึ่งการทูตก็คือการประนีประนอม และปูตินก็ใช้แนวทางการทูตเหมือนกับผู้นำทุกคน เพียงแต่มีจุดยืนที่แข็งกร้าวกว่า

ทั้งนี้ภายหลังการสัมภาษณ์ปูตินที่กินเวลาสองชั่วโมงของคาร์ลสัน ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกเครมลิน ได้ออกมาเปิดเผยกับสำนักข่าวทาสส์เมื่อวันเสาร์ (10) ว่า รัสเซียแจ้งให้อเมริการับรู้จุดยืนของตนเองอย่างชัดเจนแล้ว แต่ดูเหมือนผู้นำสหรัฐฯ ขาดเจตนำนงทางการเมืองที่จะเจรจา

(ที่มา: อาร์ที, วิกิพีเดีย, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น