คาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มติดอาวุธอิรักที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ในวันอังคาร (30 ม.ค.) ประกาศระงับทุกปฏิบัติการทางทหารที่เล็งเป้าเล่นงานกำลังพลสหรัฐฯ ในภูมิภาค การตัดสินใจที่อ้างว่ามีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลอิรักต้องพบกับความลำบากใจ อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงนี้มีขึ้นไม่นานหลังจากอเมริกาประกาศกร้าวว่าจะทำการแก้แค้น
"ในขณะที่เราประกาศระงับปฏิบัติการทางทหารและความมั่นคงกับกองกำลังผู้รุกราน เพื่อปกป้องไม่ให้รัฐบาลอิรักเกิดความลำบากใจ เราจะเดินหน้าปกป้องประชาชนในกาซา ในแนวทางอื่น" อาบู ฮัสเซน อัล-ฮามิดาวี เลขาธิการกลุ่มคาตาอิบ-ฮิซบอลเลาะห์ ระบุในถ้อยแถลง
กำลังพลสหรัฐฯ 3 นาย ถูกสังหารในเหตุโดรนโจมตีใกล้ชายแดนจอร์แดน-ซีเรีย เมื่อวันอาทิตย์ (28 ม.ค.) ในเหตุการณ์ที่เพนตากอนระบุว่ามีร่องรอยเป็นฝีมือของพวกคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ แม้ยังไม่มีการประเมินขั้นสุดท้ายก็ตาม
โฆษกของเพนตากอน ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับถ้อยแถลงหยุดปฏิบัติการของพวกคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ โดยเพียงต่อบอกว่า "การกระทำสำคัญกว่าคำพูด"
ก่อนหน้านี้ไม่นาน สหรัฐฯ ออกมาประกาศตอบโต้เหตุโจมตีดังกล่าว โดยในวันอังคาร (30 ม.ค.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน บอกว่าเขาตัดสินใจจะตอบโต้เหตุโดรนโจมตีสังหารกำลังพลอเมริกา 3 นายในจอร์แดน แต่ขณะเดียวกัน ก็เน้นย้ำว่าเขาไม่ต้องการให้เกิดสงครามในวงกว้างในตะวันออกกลาง
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ระบุว่า อเมริกาไม่ได้ต้องการให้สงครามลุกลามโดยมีอิหร่านเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะทำทุกอย่างที่ต้องทำเพื่อปกป้องกองกำลังอเมริกัน ส่วนลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า ไบเดนและตนจะไม่ยอมให้มีการโจมตีกองกำลังอเมริกัน และจะดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องประเทศและทหาร
อิหร่านปฏิเสธความเกี่ยวข้องในเหตุโจมตีโดยฝีมือกลุ่มติดอาวุธในอิรักในครั้งนี้ โดยบอกว่าสมาชิกทุกกลุ่มแห่งกองกำลังผสม Axis of Resistance หรือ "กลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน" วางแผนและลงมือด้วยตนเอง
กลุ่มติดอาวุธทั้งหลายที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ได้ทำการโจมตีเล่นงานเป้าหมายอิสราเอลและสหรัฐฯ จากทั้งเลบานอน เยเมน อิรักและซีเรีย นับตั้งแต่นักรบปาเลสไตน์ "ฮามาส" พันธมิตรของพวกเขาเริ่มสงครามกับอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม
คาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ คือกลุ่มก๊กที่ทรงแสนยานุภาพมากที่สุดในขบวนการต่อต้านเพื่ออิสลาม (Islamic Resistance Movement) ในอิรัก กลุ่มร่มเงาของกลุ่มก๊กติดอาวุธชีอะห์ ที่อ้างว่าเป็นคนลงมือโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ ในอิรักและซีเรียไปแล้วกว่า 150 ครั้ง นับตั้งแต่สงครามในกาซาเริ่มต้นขึ้น
สหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการโจมตีนองเลือดในซีเรียและอิรัก สถานการณ์ความรุนแรงที่ลุกลามบานปลายที่ทางพวกเจ้าหน้าที่อิรัก บอกว่ากำลังคุกคามกระบวนการมุ่งหน้าสู่สันติภาพของประเทศแห่งนี้ หลังจากต้องเผชิญกับความขัดแย้งมานานหลายทศวรรษ
การตัดสินใจของคาตาอิบ อิซบอลเลาะห์ มีขึ้นไม่กี่วัน หลังจากนายกรัฐมนตรีอิรัก ใช้ความพยายามอย่างเข้มข้นในการสกัดไม่ให้เกิดสถานการณ์ลุกลามบานปลายรอบใหม่ ตามหลังเหตุโจมตีในจอร์แดน
"นายกรัฐมนตรีโมฮัมเหม็ด เชีย อัล-ซูดานี ทำงานอย่างหนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกอิรัก" ฟาร์ฮัด อาลาดิน ที่ปรึกษาด้านกิจการต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีอิรักกล่าว "ทุกฝ่ายจำเป็นต้องสนับสนุนความพยายามของนายกรัฐมนตรี เพื่อป้องกันความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่ลุกลาม"
รัฐบาลอิรักได้รับการสนับสนุนจากพรรคเมืองต่างๆ และกลุ่มติดอาวุธทั้งหลายที่มีความใกล้ชิดกับอิหร่าน แม้จะไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับพวกกลุ่มหัวรุนแรงที่ยิงใส่กองกำลังสหรัฐฯ ทั้งนี้แม้แบกแดดจะประณามการโจมตี แต่ก็บอกเช่นกันว่าสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคจะลุกลามบายปลายเช่นนี้ต่อไปจนกว่าสงครามในกาซาจะยุติลง
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับถ้อยแถลงของคาตาอิบ อิซบอลเลาะห์ ทาง พล.ต.แพท ไรเดอร์ โฆษกของเพนตากอน บอกว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด "เราเรียกร้องให้พวกกลุ่มตัวแทนอิหร่านหยุดการโจมตี แต่พวกเขาไม่ ดังนั้นเราจึงเลือกจะตอบโต้ในช่วงเวลาและวิธีการอย่างเหมาะสม"
รัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับ อิหร่าน เรียกร้องในวันอังคาร (30 ม.ค.) ให้ลดสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ส่วนจีนก็เตือนเช่นกันเกี่ยวกับ "วัฏจักรแห่งการแก้แค้น" ในตะวันออกกลาง
(ที่มา : รอยเตอร์)