อิหร่านประกาศความสำเร็จในการส่งดาวเทียม 3 ดวงขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันอาทิตย์ (28 ม.ค.) โดยใช้จรวดที่เคยล้มเหลวมาแล้วหลายครั้งในอดีต ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าล่าสุดของโครงการที่ชาติตะวันตกชี้ว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) ของเตหะรานด้วย
การปล่อยดาวเทียมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ตึงเครียดหนักจากสงครามอิสราเอล-ฮามาสในกาซา ซึ่งส่อเค้าจะลุกลามขยายวงออกไปในภูมิภาค
แม้อิหร่านจะไม่ได้เปิดปฏิบัติการทางทหารแทรกแซงสงครามกาซาโดยตรง แต่ก็เผชิญแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ต้องทำอะไรบางอย่าง หลังถูกกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) โจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายเมื่อต้นเดือนนี้ อีกทั้งกลุ่มติดอาวุธตัวแทนอย่าง “กบฏฮูตี” ในเยเมนก็ก่อเหตุป่วนเรือสินค้าในทะเลแดงโดยอ้างว่าทำเพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์ ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ (28) กลุ่มติดอาวุธโปรอิหร่านในอิรักยังส่งโดรนไปโจมตีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจอร์แดนใกล้พรมแดนซีเรีย จนทหารอเมริกันเสียชีวิตไป 3 นาย และยังมีผู้บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 25 คน
สถานีโทรทัศน์แห่งชาติอิหร่านได้เปิดเผยภาพขณะที่จรวดซิมอร์ก (Simorgh) พุ่งขึ้นจากฐานยิง ซึ่งจากการวิเคราะห์ของสำนักข่าวเอพีเชื่อว่าการปล่อยจรวดส่งดาวเทียมครั้งนี้เกิดขึ้นที่ท่าปล่อยยานอวกาศอิหม่าม โคไมนี (Imam Khomeini Spaceport) ในเขตจังหวัดเซมนานของอิหร่าน
สถานีโทรทัศน์แห่งชาติอิหร่านรายงานว่า ดาวเทียม 3 ดวงที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในคราวนี้ ได้แก่ Mahda, Kayhan-2 และ Hatef-1 โดย Mahda นั้นเป็นดาวเทียมเพื่อการวิจัย ขณะที่ Kayhan และ Hatef เป็นดาวเทียมนาโนที่เน้นภารกิจการหาตำแหน่งทั่วโลก (global positioning) และการสื่อสาร ตามลำดับ
อีซา ซาเรปูร์ รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารของอิหร่านแถลงว่า ดาวเทียม Mahda เริ่มส่งสัญญาณกลับมายังพื้นโลกแล้ว
โครงการจรวดซิมอร์กของอิหร่านเคยล้มเหลวในการยิงมาแล้วถึง 5 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จรวดซิมอร์กเป็นจรวดแบบ 2 ขั้นที่ใช้เชื้อเพลิงเหลว ซึ่งทางการอิหร่านระบุว่าถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำรอบโลก
อย่างไรก็ตาม ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ เคยประเมินเอาไว้ในรายงานว่าด้วยความเสี่ยงทั่วโลกประจำปี 2023 ว่า การพัฒนายานขนส่งดาวเทียมนั้นจะ “ช่วยย่นกรอบเวลา” สำหรับอิหร่านในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีประเภทเดียวกัน โดยรายงานฉบับนี้ยังย้ำเตือนว่าจรวดซิมอร์กอาจถูกออกแบบมาให้ใช้ประโยชน์ได้ 2 ทาง (dual-use rocket)
ที่มา : AP