xs
xsm
sm
md
lg

มีหนาว! จีนกำลังพัฒนา 'กระสุนอัจฉริยะ' โจมตีเป้าหมายด้วยความเร็วไฮเปอร์โซนิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พวกนักวิทยาศาสตร์แห่งกองทัพเรือจีน อ้างว่ากำลังสร้าง "กระสุนอัจฉริยะ" ที่มีศักยภาพปลดปล่อยการโจมตีได้อย่างแม่นยำและเล่นงานเป้าหมายด้วยความเร็วไฮเปอร์โซนิก ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิง

ระบบเครื่องส่งอาวุธล้ำสมัยยังสามารถปล่อยหัวรบเข้าใส่เป้าหมาย ด้วยมีค่าความคลาดเคลื่อนไม่ถึง 15 เมตร แต่ศักยภาพโจมตีที่แม่นยำ อาจไม่เพียงพอต่อการโจมตีวัตถุเคลื่อนที่ที่มีขนาดเล็กกว่า อย่างเช่นรถถัง โดยในทางทฤษฎีแล้ว มันเหมาะสำหรับวัตถุที่มีขนาดใหญ่ เป้าหมายแบบคงที่อย่างเช่นเรือรบ หรือท่าเรือ

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ระบุว่า พัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านการทหารครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนไหวตามหลังกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เคยวางแผนพัฒนา "กระสุนแห่งความฝัน" ระบบอาวุธลักษณะคล้ายกัน ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วมีเจตนาให้นำวิถีด้วยความเร็ว 5 มัค (ความเร็วเป็น 5 เท่าของความเร็วเสียง) และนำวิถีด้วยสัญญาณดาวเทียม GPS

กองทัพสหรัฐฯ เสนอแนวคิดนี้เป็นครั้งแรกในปี 2012 พร้อมบ่งชี้ว่ามีความตั้งใจจะทดสอบยิง "กระสุนแห่งความฝัน" ภายใน 5 ปี เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงาน อย่างไรก็ตาม เส้นตายดังกล่าวผ่านมาแล้วเมื่อปี 2017 และกองทัพสหรัฐฯ ได้ละทิ้งการวิจัยและการพัฒนาระบบอาวุธนี้ในปี 2021 รายงานระบุ

เทคโนโลยีกระสุนอัจฉริยะถูกคาดหมายว่าจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในสถานการณ์ต่างๆ ในสมรภูมิรบ เนื่องจากมันมีประสิทธิภาพค่อนข้างคุ้มทุนต่อการผลิต แต่ยังคงสามารถรักษาไว้ซึ่งศักยภาพการโจมตีพิสัยไกลที่แม่นยำและบ่อยครั้งมักเกี่ยวข้องกับขีปนาวุธ

ระหว่างการโจมตี กระสุนจะก่อสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งในภายหลังสามารถก่อความเสียหายแก่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่นไมโครชิปและเสาอากาศ รวมถึงอาจทำลายระบบนำทางด้วยดาวเทียมของตัวเอง

พวกนักวิทยาศาสตร์จีนบอกว่าพวกเขาสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ได้แล้ว ด้วยการพัฒนาเสาอากาศที่สามารถรับมือกับสัญญาณสนามแม่เหล็ก และสามารถคงไว้ซึ่งการนำทางดาวเทียมที่แม่นยำ

เมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพเรือปักกิ่งบอกว่าพวกเขามีความก้าวหน้าต่างๆ ในด้านการพัฒนาอาวุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขอบเขตอาวุธแม่เหล็กไฟฟ้า พร้อมได้มีการจัดการซ้อมรบ จำลองความท้าทายต่างๆ ที่ยุทโธปกรณ์ทางทหารใหม่ๆ ของพวกเขาต้องเผชิญกับข้อได้เปรียบดั้งเดิมของบรรดาชาติตะวันตก
 
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น