xs
xsm
sm
md
lg

‘นวัตกรรมสุดล้ำ’ จะนำ‘เสี่ยวหมี่’ขึ้นแท่น“ดิสรัปเตอร์”วงการEV – ‘มอร์แกนสแตนลีย์’ฟันธง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เหลย จุน ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการ และ CEO เสี่ยวหมี่ ในงานเปิดตัว EV รุ่นแรก SU7 ที่ปักกิ่งปลายปีที่แล้ว
มอร์แกน สแตนลีย์คาดเสี่ยวหมี่จะกลายเป็นดิสรัปเตอร์ของวงการ EV จากนวัตกรรม ADAS สุดล้ำ และการผสานรวม “สมาร์ทโฟน + EV + IoT" โดยมูลค่ากิจการที่แท้จริงอาจสูงถึง 12,500 ล้านดอลลาร์

CnEVPost รายงานโดยอ้างบันทึกการวิจัยของมอร์แกน สแตนลีย์ที่ออกมาเมื่อเร็วๆ ซึ่งระบุว่า พิจารณาในแง่แรงส่งของอุตสาหกรรม จากการที่รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV มีความคล้ายคลึงหลายอย่างกับผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ จึงเชื่อว่า เสี่ยวหมี่มีแนวโน้มจะก้าวขึ้นเป็นดิสรัปเตอร์ในธุรกิจ EV ขณะที่บริษัทแห่งนี้กำลังเล็งนำเสนอหนึ่งในฟังก์ชันระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (ADAS) และประสบการณ์ในห้องโดยสารของผู้ใช้ที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ ดิสรัปเตอร์ (disruptor) หมายถึงผู้ที่เล็งเห็นโอกาสและสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ส่งผลแง่บวกและนำไปสู่ความสำเร็จเกินคาด

ทีมนักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์สำทับว่า การนำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากมาใช้แทนชิ้นส่วนกลไกดั้งเดิม ทำให้อุตสาหกรรม EV ค่อนไปทางอุตสาหกรรมคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิม

นอกจากนั้นชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่และมอเตอร์ยังมีพัฒนาการรวดเร็วมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น จึงไม่มีแนวโน้มที่จะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างผู้ผลิต EV ค่ายต่างๆ ในแง่อายุการใช้งานแบตเตอรี่และความเร็ว

ผู้ชนะในอนาคตในสนาม EV คือผู้ที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสูงกว่า

ในส่วน ADAS นั้น เสี่ยวหมี่สามารถนำเสนอฟีเจอร์การช่วยขับขี่ระดับ 2 รองรับสถานการณ์การขับขี่ที่ซับซ้อน

สำหรับประสบการณ์ภายในห้องโดยสาร โมเดล“สมาร์ทโฟน + EV + IoT" จะส่งให้ EV ของเสี่ยวหมี่มีศักยภาพการแข่งขันเหนือกว่าผู้เล่นอื่นๆ

ทีมนักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์เชื่อว่า การเปิดตัวระบบปฏิบัติการ HyperOS จะทำให้เสี่ยวหมี่แปลงไอเดียสร้างสรรค์หลายอย่างให้กลายเป็นฟีเจอร์ที่ดึงดูดผู้ใช้ในอนาคต

ขณะเดียวกันเทคโนโลยี IoT ของเสี่ยวหมี่ที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครอาจช่วยให้บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคุมการขับขี่อัจฉริยะสำหรับ EV ซึ่งมีแนวโน้มเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการแข่งขัน

นอกเหนือจากนวัตกรรมแล้ว ความเป็นผู้นำด้านต้นทุนยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ซึ่งทีมนักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์เชื่อว่า แม้เสี่ยวหมี่อาจมาทีหลังในธุรกิจ EV แต่มีแนวโน้มก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านต้นทุนด้วยการใช้ประโยชน์จากความสำเร็จในธุรกิจสมาร์ทโฟน

กล่าวคือ เสี่ยวหมี่อาจนำเสนอผลิตภัณฑ์ในราคาที่โดนใจลูกค้าผ่านกลยุทธ์การควบคุมราคาเข้มงวดและการปรับปรุงวิศวกรรมเชิงรุกในห่วงโซ่มูลค่าทั้งหมด

บันทึกการวิจัยยังแสดงความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจ EV ของเสี่ยวหมี่จะใช้ประโยชน์จากการแชร์โครงสร้างพื้นฐานองค์กรของบริษัท (แบรนด์ การบริหารจัดการ ห่วงโซ่อุปทาน การจัดจำหน่าย ฯลฯ)

ทั้งนี้ เสี่ยวหมี่เผยโฉม EV รุ่นแรก SU7 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เปิดเผยเกี่ยวกับราคา รวมทั้งยังไม่มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยก่อนหน้านั้นสองวัน เสี่ยวหมี่แย้มว่า น่าจะเป็นอีกหลายเดือน

ในงานดังกล่าว เหลย จุน ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการ และ CEO เสี่ยวหมี่ ประกาศว่า บริษัทต้องการเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตรถชั้นนำของโลกภายใน 15-20 ปี และขึ้นเป็นผู้เล่นชั้นนำในด้านการขับขี่อัจฉริยะภายในปีนี้

ต้นเดือนมกราคม ยักษ์ใหญ่สมาร์ทโฟนจีนแห่งนี้ย้ำว่า เป้าหมายสูงสุดของเสี่ยวหมี่คือ การเห็น EV ของบริษัทวิ่งอยู่บนถนนทุกสายทั่วโลก

มอร์แกน สแตนลีย์ทิ้งท้ายว่า ถ้า EV รุ่นแรกของเสี่ยวหมี่ได้รับความพึงพอใจในระดับสูงจากลูกค้าในด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ การออกแบบยานยนต์ ราคา และความเสถียรของระบบ ยอดขายของเสี่ยวหมี่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้ารวมกับข้อได้เปรียบด้านต้นทุน มูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจ EV ของเสี่ยวหมี่อาจสูงถึง 12,500 ล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น