ครั้งหนึ่งบริษัทเทสลาของอีลอน มัสก์ เคยถูกรัฐบาลจีนป้อนขนมจีบชวนมาลงทุน หวังให้ช่วยกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) บนแดนมังกร แต่วันนี้เทสลาอาจกลายเป็นเหยื่อของความสำเร็จ ซึ่งตนเองสร้างขึ้นในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่สุดในโลกแห่งนี้แล้วก็ได้
แผนการขยายโรงงานผลิตรถยนต์ในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเทสลาหมายมั่นปั้นมือ ตอนนี้อนาคตยังไม่รู้ว่าหมู่หรือจ่า
ตามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้บริหารของบริษัทคู่แข่งนั้น คณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (เอ็นดีอาร์ซี) ระมัดระวังในการพิจารณาอนุมัติโครงการใหม่ๆ ในการผลิตรถอีวีของทุกค่าย เนื่องจากเป็นห่วงเกี่ยวกับการผลิตรถอีวีออกมาล้นตลาด และสงครามการแข่งขันตัดราคากัน ซึ่งเทสลาเป็นผู้เริ่มขึ้น
นายบิลล์ รัสโซ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษา ออโตโมบิลิตี้ (Automobility ) ประเมินว่า จีนมีกำลังการผลิตรถยนต์เหลือเฟือถึงประมาณปีละ 10 ล้านคัน เทียบเท่ากับ 2 ใน 3 ของรถยนต์ที่ผลิตในอเมริกาเหนือทั้งหมดในปี 2565 โดยในมุมมองของรัฐบาลจีนถือว่าอยู่ในภาวะสินค้ารถยนต์ล้นตลาด
แผนการสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานปัจจุบันราว 3 กม. บนพื้นที่ 435 ไร่ จะเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ได้อีกปีละ 450,000 คัน มีมูลค่ามากกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ตามราคาขายปลีก แต่การอนุมัติ ที่ยังเป็นลูกผีลูกคน ทำให้มัสก์มาเยือนจีนอย่างกะทันหันเมื่อเดือนก่อน เพื่อหารือกับรองนายกรัฐมนตรี ติง เสวี่ยเซียง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน โดยมัสก์บอกกับทีมงานของเทสลาภายหลังการหารือว่า เขาเห็นความคืบหน้าในเชิงบวก
เหตุใดฐานการผลิตในจีนจึงสำคัญกับเทสลานัก ทั้งที่รัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็เสนอมาตรการจูงใจหลายอย่าง เพื่อโน้มน้าวให้บริษัทรถยนต์แห่กันเข้ามาผลิตในสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์ระบุว่า เทสลายอมเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนด้วยการขยายโรงงานในเซี่ยงไฮ้ เพราะหวังความได้เปรียบด้านต้นทุนเหนือคู่แข่ง และโอกาสการส่งออกไปยังชาติแถบอาเซียน และแคนาดา
โรงงานของเทสลาในเซี่ยงไฮ้ผลิตรถเทสลาโมเดล 3 และโมเดล Y ได้มากถึงเกือบ 711,000 คันในปีที่แล้ว เพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดต่อปีมากกว่า 1 ล้านคัน
เทสลายังตั้งเป้าขายรถ 20 ล้านคันทั่วโลกภายในปี 2573 เพิ่มจาก 1 ล้าน 3 แสน 1 หมื่นคันในปี 2565 โดยบริษัทกำลังเล็งสร้างโรงงานในอินเดีย และรัฐบาลหลายชาติ เช่น เกาหลีใต้ และอินโดนีเซียก็ชักชวนให้ไปลงทุน
อย่างไรก็ตาม นีโอ (Nio) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งเทสลาระบุว่า การผลิตรถอีวีในจีนทำให้มีความได้เปรียบด้านต้นทุนกว่ารถผลิตที่อื่นถึง 20% เนื่องจากจีนผูกขาดห่วงโซ่อุปทานและวัตถุดิบ
ความวิตกของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับรถยนต์ล้นตลาดส่งผลกระทบต่อการยื่นขออนุมัติของบริษัทรายอื่นๆ ด้วย เช่น เสี่ยวหมี่ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคสัญชาติจีน หรือลูซิดกรุ๊ป (Lucid Group) บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ ซึ่งสนใจเข้ามาผลิตรถยนต์ในจีน แต่ได้รับการเตือนว่า โอกาสมีน้อย จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวอุตสาหกรรม
การรอคอยให้จีนอนุมัติแผนการขยายโรงงานของเทศลาขณะนี้ บรรยากาศแตกต่างลิบลับกับเมื่อ 5 ปีก่อน ที่เทสลาเซ็นสัญญาฉบับแรกเพื่อเปิดโรงงานในเซี่ยงไฮ้
นักวิเคราะห์มองว่า ตอนนั้นจีนกำลังอาศัยเทสลาให้ช่วยกระตุ้นการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพราะความแข็งแกร่งของเทสลาจะบีบให้บริษัทที่อ่อนแอกว่าลุกขึ้นมาขยับเขยื้อนให้ว่องไวขึ้นเพื่อความอยู่รอดนั่นเอง
ที่มา : รอยเตอร์