xs
xsm
sm
md
lg

ไทยมัววุ่นตั้งรัฐบาล!อินโดฯวางเป้าแซงเป็น'ดีทรอยต์แห่งเอเชีย'ผู้ผลิตรถเบอร์1ในภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยกำลังเผชิญปัญหาในการปกป้องสถานะของตนเอง ในฐานะ "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" เนื่องจากอินโดนีเซียกำลังไล่หลังเข้ามาในด้านการผลิตรถยนต์ ด้วยการใช้ประโยชน์จากการมีทรัพยากรแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญของแบตเตอรีรถไฟฟ้า อยู่เป็นจำนวนมากเป็นต้นทุน ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานใหม่อื่นๆ

หนังสือพิมพ์นิกเกอิ เอเชีย รายงานว่าประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ใช้การประชุมจี 7 ในฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เป็นโอกาสสำหรับล็อบบี้บรรดาผู้นำโลกให้ลงทุนเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยในขณะที่คู่แข่งทางอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไทย กำลังวุ่นวายอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ วิโดโด กำลังผลักดันประเทศของเขาในเชิงรุก

นิกเกอิเอเชีย รายงานว่ากำลังผลิตรถยนต์ของไทย ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 ครั้งที่พีคสุด 2.45 ล้านคัน เหลือ 1.88 ล้านคันในปี 2022 ลดลงถึง23% อ้างอิงจากบริษัทวิจัย "มาร์คไลน์ส" การลดลงดังกล่าวมีชนวนเหตุจากความเคลื่อนไหวย้ายกำลังผลิตออกนอกประเทศ บางส่วนมีต้นตอจากเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2010

ขณะเดียวกัน กำลังผลิตในอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในช่วงเวลาเดียวกัน แตะระดับ 1.47 ล้านคันในปี 2022 หรือเกือบ 80% ของกำลังผลิตของไทยในปีดังกล่าว และคาดหมายว่าในปี 2023 กำลังผลิตรถยนต์ของอินโดนีเซียจะแตะระดับ 1.6 ล้านคัน

แต่หากมองแค่รถยนต์นั่ง กำลังผลิตของอินโนีเซียแซงหน้าไทยไปแล้วในปี 2014 และเร็วๆนี้มีกำลังผลิตมากกว่าคู่แข่งถึงเท่าตัว

ความเคลื่อนไหวของโลกที่เปลี่ยนผ่านสู่รถอีวี กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับอินโดนีเซีย จุดแข็งที่สุดของประเทศแห่งนี้คือการอุดมไปด้วยทรัพยากรนิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับแบตเตอรีในรถยนต์ไฟฟ้า มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในคลังสำรองนิกเกลของพวกเขา ที่ว่ากันว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

รัฐบาลอินโดนีเซียแถลงในเดือนเมษายน ว่าโฟล์คสวาเกนกำลังพิจารณาลงทุนในโครงการผลิตนิกเกิลโครงการหนึ่ง ซึ่งมีฟอร์ด มอเตอร์ เข้าร่วมด้วย

รายงานข่าวระบุว่ามีการโปรโมทรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบายต่างๆของรัฐบาล อาทิลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรถอีวีบางรุ่น จากระดับ 11% เหลือ 1% นับตั้งแต่เดือนเมษายน ในขณะที่รัฐบาลมีเป้าหมายสนับสนุนรถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศ โดยที่รถยนต์ไฟฟ้าที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีนี้ ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ ไม่น้อยกว่า 40% เพื่อเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในอินโดนีเซีย

บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกตอบสนองต่อมาตรการดังกล่าวในทางบวก โดยฮุนได มอเตอร์ แห่งเกาหลีใต้และ เอสเอไอซี-จีเอ็ม-วู่หลิง (SGMW) ได้เริ่มผลิตรถไฟฟ้าในอินโดนีเซีย เมื่อปี 2022 และ เทสลา เผยว่าพวกเขาใกล้ปิดข้อตกลงเบื้องต้น สำหรับสร้างโรงงานในอินโดนีเซียแล้ว

แอลจี เอเนอร์จี โซลูชันส์ ของเกาหลีใต้ กำลังสร้างโรงงานแบตเตอรีกับฮุนได มอเตอร์ ด้วยคาดหมายว่าจะสามารถเปิดปฏิบัติการได้ในปี 2024 ส่วน ซีเอทีแอล (CATL) ของจีน ผู้ผลิตแบตเตอรีอีวี รายใหญ่ที่สุดของโลก ก็มีแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในอินโดนีเซียเช่นกัน

นิกเกอิเอเชีย ระบุว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1960 ครั้งที่บรรดาผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า เริ่มผลิตรถยนต์ในไทย ได้มีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่เป็นรูปแบบร่างขึ้นในไทยไม่นานหลังจากนั้น ก่อนที่ไทยจะกลายมาเป็นฐานการส่งออกไม่ใช่แแค่สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่รวมไปถึงออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและแอฟริกา

อย่างไรก็ตามฉากหลังที่โลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่อีวี สูตรชัยชนะบนพื้นฐานของรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินกำลังล้าสมัยไปแล้ว

แหล่งข่าวรัฐบาลไทยให้สัมภาษณ์กับนิกเกอิ เอเชีย ว่าบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น เคลื่อนไหวช้าเกินไปในการมุ่งสู่รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมอย่างมากในไทย โดยในขณะที่มีความตื่นเต้นกับรถอีวีสูงมาก แต่ความเฉื่อยชาของผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นในการเข้าสู่ตลาดนี้ อาจเป็นตัวเตะถ่วงภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ

กระนั้นก็ตามในขณะนี้ ไทยเองก็ไม่ได้อยู่เฉย ๆ เพราะไทยเองก็มีนโยบายต่างๆจากภาครัฐ ที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมรถยนต์ ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลดกับรถยนต์ไฟฟ้า สูงสุด 150,000 บาท สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะผลิตในประเทศไทย เ ตามรายงานของนิกเกอิ เอเชีย พร้อมทั้งวางเป้าหมายว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนราวๆ 30% หรือมากกว่านั้น สำหรับรถยนต์ใหม่ที่จะผลิตในประเทศภายในปี 2030

(นิกเกอิเอเชีย)


กำลังโหลดความคิดเห็น