xs
xsm
sm
md
lg

ควอลคอมม์ปักหมุดตลาดไทย ผ่าน ‘IoT - EV’ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การที่บรรดาผู้ผลิตชิปเริ่มกลับสู่สภาวะปกติหลังจากผ่านสถานการณ์ขาดแคลนชิปเซ็ตที่เป็นผลต่อเนื่องทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะสงคราม ที่ทำให้เกิดการชะลอตัวในแง่ของการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเนื่องจากกำลังผลิตหลักต้องมุ่งไปที่การผลิตชิปเซ็ตไปรับกับความต้องการของเทคโนโลยีที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการพัฒนาชิปเซ็ตในฝั่งของสมาร์ทโฟนนั้นเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องตามอัตราการเติบโตของสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเชื่อมต่อ 5G และการนำ AI มาช่วยในการประมวลผล

ในขณะที่อุตสาหกรรมใหม่ที่เริ่มมีการนำชิปเซ็ตไปเป็นส่วนประกอบเพื่อทำให้อุปกรณ์อัจฉริยะขึ้นเริ่มกลับมาเติบโตให้เห็นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และในส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (IoT) ที่จะกลายเป็นโอกาสสำคัญไม่ใช่แค่ในตลาดโลก หรืออาเซียน แต่ยังรวมถึงผู้ประกอบการในประเทศไทยด้วย

เอสที หลิว ประธานควอลคอมม์ ไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และรองประธานบริษัท ควอลคอมม์ เทคโนโลยีส์ อิงค์ ชี้ให้เห็นว่าไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของภูมิภาคที่ควอลคอมม์ (Qualcomm) พร้อมเข้ามาทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อนำเสนอนวัตกรรมให้แก่ผู้บริโภค

เอสที หลิว
พร้อมยกตัวอย่างความสำเร็จที่ผ่านมา ในแง่ของความร่วมมือผลักดันการใช้งานเครือข่าย 5G ในประเทศไทย ทั้งความร่วมมือกับกลุ่มทรู ในการทดสอบใช้งาน 5G ระยะไกลบนคลื่น mmWave 26 GHz ที่สามารถทำระยะทางได้ถึง 11.1 กิโลเมตร ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก หรือแม้แต่ความร่วมมือกับทางเอไอเอส ที่นำอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อ 5G mmWave ความเร็วสูง 3 Gbps ในพื้นที่ใจกลางเมือง พร้อมกับขยายพื้นที่ให้บริการ 5G mmWave ไปในพื้นที่ที่มีการใช้งาน 5G หนาแน่น ช่วยให้ประสบการณ์ของผู้บริโภคดีขึ้น

“ในภูมิภาคอาเซียนยังมีโอกาสเติบโตอีกมากของบรรดาผู้ประกอบการ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะผู้ให้บริการเครือข่ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดาธุรกิจไอทีท้องถิ่น หรือสตาร์ทอัปที่สามารถนำโซลูชัน IoT เข้าไปให้บริการอย่างในโรงงานอุตสาหกรรม หรือภาคการเกษตร”

ประเด็นสำคัญของการเข้ามาทำตลาดในไทยร่วมกับพาร์ตเนอร์ของควอลคอมม์นั้น ผู้บริหารควอลคอมม์ มองว่า เป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของควอลคอมม์ที่ผลิตทั้งชิปเซ็ต และแพลตฟอร์มมาให้ใช้งาน กับผู้ประกอบการที่สามารถนำโซลูชันไปเสนอให้แก่ลูกค้าที่สนใจ


ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี 5G อาจจะถูกพูดถึงมานานแล้ว แต่ที่ได้เริ่มเห็นการนำมาใช้งานในภาคธุรกิจเพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีหลังนี้เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นการใช้งานส่วนใหญ่อยู่กับบรรดาสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ก่อนที่ในอนาคตจะขยายไปยังภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการรูปแบบการใช้งานเฉพาะทาง

“การให้บริการโครงข่าย 5G ในประเทศไทยสำหรับผู้บริโภคถือว่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคอยู่แล้ว และเชื่อว่าสิ่งที่จะตามมาในอนาคตคือการที่บรรดาภาคอุตสาหกรรมเริ่มนำประโยชน์ของ 5G ไปใช้งาน อย่างในอุตสาหกรรมการผลิต หรือภาคการเกษตรที่สามารถนำนวัตกรรมไปต่อยอดใช้งานได้”

***เดินหน้าสร้างอีโคซิสเต็ม IoT - EV


จากความสำเร็จในการเป็นผู้นำการผลิตชิปเซ็ตบนสถาปัตยกรรม ARM ด้วยการมีชิปประมวลผลที่เป็นรุ่นแฟลกชิปอย่าง Snapdragon 8 Gen 2 ในปัจจุบัน รวมถึงการเชื่อมต่อไร้สาย Snapdragon X75 5G ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของทั้งการประมวลผล และการเชื่อมต่อ ผสมผสานกับการนำ AI เข้ามาช่วยจัดสรรการใช้งาน ทำให้เกิดการต่อยอดความเชี่ยวชาญนี้ไปยังธุรกิจอื่นที่เป็นเทรนด์ขาขึ้นในอุตสาหกรรม


ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ซึ่งปัจจุบันควอลคอมม์ ได้พัฒนาชิปเซ็ต (SoC) ที่กลายเป็นหัวใจในการควบคุมสั่งงานระบบต่างๆ ของรถยนต์ไฟฟ้า เพราะด้วยเทรนด์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการขับขี่อัตโนมัติ หรือระบบความบันเทิงภายในรถยนต์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแตกต่างของค่ายรถยนต์ที่จะส่งมอบประสบการณ์ให้แก่ลูกค้าแล้ว

“สิ่งที่ควอลคอมม์ทำนอกจากพัฒนาชิปเซ็ตแล้ว ยังรวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง Snapdragon Digital Chassis ให้ค่ายรถยนต์สามารถนำไปต่อยอดใช้งานให้เข้ากับจุดเด่นของแต่ละแบรนด์ ด้วยการให้ความสำคัญกับ 3 ส่วนหลัก ทั้งเรื่องของความปลอดภัยในการขับ การเชื่อมต่อ และประสบการณ์ขับ”


พร้อมยกตัวอย่างความฉลาดของรถยนต์อัจฉริยะ มีคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจหลากหลาย อย่างเวลาผู้ขับเข้าไปนั่งในรถยนต์ ระบบตรวจจับอัตโนมัติจะตรวจสอบใบหน้าเพื่อระบุโปรไฟล์ของผู้ขับขี่ ปรับแต่งเบาะนั่งอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถพร้อมขับขี่ได้ทันที หรือในแง่ของความบันเทิง ที่ไม่ใช่เฉพาะผู้ขับเท่านั้น แต่ยังสามารถแยกให้ผู้นั่งสามารถเข้าถึงประสบการณ์ความบันเทิงอื่นๆ อย่างลูกๆ ที่เบาะหลังสามารถนั่งเล่นเกมในอีกหน้าจอได้

ปัจจุบันบรรดาค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ต่างให้ความสนใจกับแพลตฟอร์มของควอลคอมม์และเริ่มมีการนำไปใช้งานแล้ว นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงไปป์ไลน์ (Pipeline) ของมูลค่าธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ในยานยนต์มีมูลค่าราว 3 หมื่นล้านเหรียญ

ขณะที่รายได้จากธุรกิจยานยนต์ของควอลคอมม์ในไตรมาส 2 ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2023 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 20% เป็น 447 ล้านเหรียญ ส่วนรายได้จากธุรกิจหลักอย่างชิปเซ็ตอุปกรณ์พกพายังอยู่ที่ 6.1 พันล้านเหรียญ ตามด้วยอุปกรณ์ IoT ที่ 1.4 พันล้านเหรียญ ทำให้ในปีนี้สำหรับประเทศไทยจะเริ่มเห็นความร่วมมือของควอลคอมม์กับหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานในการใช้งาน IoT ในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการกำกับดูแลมาตรฐานการใช้งาน ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำอุปกรณ์เชื่อมต่อเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น


ทั้งนี้ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ควอลคอมม์มองว่ามีศักยภาพในประเทศไทย ประกอบด้วย การผลักดันในเรื่องของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) การขนส่ง (Smart Logistic) และ ภาคการเกษตร (Smart Agriculture) ความต้องการส่วนใหญ่ในกลุ่มของ IoT คือต้องการเซ็นเซอร์ หรือระบบอัจฉริยะเข้าไปช่วยดูแล และควบคุม ซึ่งที่ผ่านมาในไทยมีการผลักดันให้เกิดการนำไปใช้งานพร้อมไปกับการมาของ 5G อยู่แล้ว เพราะสามารถใช้เซ็นเซอร์ส่งต่อข้อมูลไปประมวลผลได้ทันที

โดยควอลคอมม์พร้อมที่จะนำความเชี่ยวชาญในการให้บริการ IoT จากทั้งโซลูชัน และแพลตฟอร์มที่มีเข้ามาทำตลาดร่วมกับผู้ประกอบการไอทีในไทย เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในระดับท้องถิ่นไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น