ไล่ ชิงเต๋อ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ไต้หวัน กล่าวยกย่องการเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งกับวอชิงตัน ระหว่างให้การต้อนรับคณะผู้แทนของสหรัฐฯ ซึ่งรีบเดินทางไปไทเปเมื่อวันจันทร์ (15 ม.ค.) หรือ 2 วันหลังจากการเลือกตั้งของเกาะแห่งนี้ ทว่าการปลุกปลอบให้กำลังใจระหว่างอเมริกากับไต้หวันเช่นนี้มีอันกร่อยลงถนัด เมื่อ นาอูรู สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเป็นชาติล่าสุดที่ประกาศตัดสัมพันธ์กับไทเปและหันไปคบกับปักกิ่งแทน
การประกาศอย่างกะทันหันของนาอูรู ประเทศเล็กๆ ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันแค่ 2 วัน ส่งผลให้เหลือเพียง 12 ประเทศในโลกที่ให้การยอมรับไต้หวันอย่างเป็นทางการ
รัฐบาลนาอูรูแถลงว่า จะไม่ยอมรับไต้หวันในฐานะ “ประเทศหนึ่งแยกต่างหาก” ได้อีกต่อไป แต่จะถือเป็น “ดินแดนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของจีน” แทน
ด้านไต้หวันตอบโต้ด้วยการตัดสัมพันธ์กับนาอูรูเพื่อ “ปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศ” โดยเถียน ชุงกวง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศไต้หวัน กล่าวหาปักกิ่งหว่านล้อมนักการเมืองนาอูรูและใช้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจโน้มน้าวให้ประเทศนี้ยุติการยอมรับทางการทูตต่อไทเป
เถียนสำทับว่า ปักกิ่งเลือกช่วงเวลาอ่อนไหวหลังการเลือกตั้งไต้หวัน ขณะที่หลายประเทศแสดงความยินดีกับกระบวนการเลือกตั้งที่ราบรื่นของไต้หวัน และประณามว่า เป็นการซุ่มโจมตีที่เทียบเท่ากับการโจมตีประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้ง
เขายังบอกว่า จีนเสนอเงินให้นาอูรูที่มีประชากร 12,500 คน มากกว่าที่ไต้หวันเคยมอบให้ ตอกย้ำว่า จีนพยายามซื้อทุกอย่างที่ซื้อได้เพื่อล้อมกรอบไต้หวัน โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของไต้หวันเผยว่า ปักกิ่งเสนอให้เงินนาอูรูปีละ 100 ล้านดอลลาร์
ทว่า กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า การฟื้นสัมพันธ์กับนาอูรูสะท้อนความรู้สึกของประชาชน
การสูญเสียนาอูรูส่งผลกระทบรุนแรงต่อไล่ ที่เพิ่งได้ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 ม.ค.) แม้จีนเรียกร้องไม่ให้คนไต้หวันเลือกผู้สมัครผู้นี้ที่เป็นตัวแทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่จีนประณามว่า ไล่เป็นพวกแบ่งแยกดินแดนอันตรายที่จะพาไต้หวันสู่เส้นทางปีศาจในการประกาศเอกราช
การประกาศของนาอูรูทำให้การเยือนไทเปของคณะผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อแสดงความยินดีกับไล่กร่อยลงโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม ไล่ประกาศระหว่างพบกับคณะผู้แทนของไบเดน ณ ที่ทำการพรรคดีพีพีในไทเปว่า เสรีภาพและประชาธิปไตยจะยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดสำหรับคนไต้หวัน และเป็นค่านิยมหลักที่ไต้หวันและอเมริกามีร่วมกัน รวมทั้งเป็นรากฐานของเสถียรภาพระยะยาวในการเป็นหุ้นส่วนของไทเปกับวอชิงตัน และสำทับว่า การสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งของสหรัฐฯ มีความสำคัญยิ่งยวดต่อไต้หวัน
ก่อนพบกับไล่ คณะผู้แทนของอเมริกาได้เข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน รวมทั้งพบกับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง
คณะผู้แทนของอเมริกาประกอบด้วยอดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติและอดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ และนำโดยประธานสถาบันอเมริกันประจำไต้หวัน หรือก็คือสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำไทเปในทางพฤตินัย
ไล่ยังประกาศปกป้องไต้หวันจากการข่มขู่ของจีน โดยย้ำย้ำกับคณะผู้แทนอเมริกันว่า ไต้หวันจะยังคงปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพบริเวณช่องแคบไต้หวันภายใต้หลักการของไช่ อิงเหวิน
ทั้งนี้ ในคณะบริหารของไช่ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัยติดกัน ไต้หวันได้เสริมสร้างทรัพยากรด้านกลาโหมอย่างเข้มแข็ง ทั้งซื้อเครื่องบินขับไล่และสร้างเรือดำน้ำเอง เพื่อป้องปรามการคุกคามจากจีน ซึ่งไล่ประกาศจะสานต่อนโยบายนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ชัยชนะของไล่ทำให้ดีพีพีได้ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 แต่พวกผู้สังเกตการณ์ชี้ว่าปฏิกิริยาตอบโต้จากปักกิ่งไม่ได้รุนแรงอะไรอย่างที่ฝ่ายตะวันตกคาดหมาย ตรงกันข้ามกลับอยู่ในลักษณะเงียบๆ จนบางฝ่ายคิดว่าจีนมีความพึงพอใจอย่างระมัดระวังด้วยซ้ำ
เว็บไซต์ข่าว “เอเชียไทมส์” อ้างอิงบล็อกเกอร์ “อังเคิล แรบบิต” ในเว็บไซต์ข่าวและความเห็น “ผู้สังเกตการณ์” ซึ่งเป็นสื่อภาษาจีนที่มีอิทธิพลสูง ที่ชี้ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบนี้ ผู้สมัครของดีพีพีได้คะแนนโหวต 40% ของผู้มาใช้สิทธิ ลดฮวบลงจากระดับ 57.13% ในการเลือกตั้งปี 2020 แถมยังไม่สามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภาเหมือนเดิม เนื่องจากเสียที่นั่งในสภา 12 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านหลักคือก๊กมินตั๋งได้ที่นั่งเพิ่ม 14 ที่นั่งจนกลายเป็นพรรคอันดับหนึ่งในสภา
เอเชียไทมส์บอกว่า ผลการเลือกตั้งเช่นนี้ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายที่ต้องการรักษาสถานะเดิม และถือเป็นผลลัพธ์ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเวลานี้สำหรับจีน
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี, เอเชียไทมส์)