คณะกรรมการกลางจัดการเลือกตั้งแห่งไต้หวัน รายงานผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย 5,586,019 คะแนน ชนะคู่แข่งพรรคก๊กมินตั๋งแบบทิ้งห่างกันเกือบล้านเสียง
คณะกรรมการกลางจัดการเลือกตั้งแห่งไต้หวัน รายงานผลการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสุดท้ายผ่านเว็บไซต์ทางการ เมื่อเวลา 22.07 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ไล่ ชิงเต๋อ (พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า) 5,586,019 (40.05%) โหวโหย่วอี๋ (พรรคก๊กมินตั๋ง) 4,671,021 (33.49%) เคอเหวินเจ๋อ (พรรคประชาชนไต้หวัน) 3,690,466( 26.46%)
ไล่ ชิงเต๋อ จะขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันคนต่อไป ต่อจากประธานาธิบดีหญิง ไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี ถือเป็นครั้งแรกนับจากปี 2000 ที่พรรคการเมืองในไต้หวันชนะเลือกตั้งและครองอำนาจปกครองสมัยที่ 3 ติดต่อกัน อีกทั้งเป็นการพลิกเปลี่ยนปรากฏการณ์ที่เป็นไปเองที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่คือ ก๊กมินตั๋ง กับดีพีพี ผลัดกันชนะการเลือกตั้งและครองอำนาจปกครองไต้หวันคนละ 2 สมัยติดต่อกัน
อนึ่ง หลังจากที่พรรคก๊กมินตั่งนำโดยเจียงไคเช็ค ย้ายรัฐบาลสาธารณรัฐจีนมาที่เกาะไต้หวันหลังแพ้สงครามสงครามกลางเมืองในจีนเมื่อปี 1949 ก๊กมินตั๋งเป็นรัฐบาลปกครองไต้หวัน (ชื่อทางการคือสาธารณรัฐจีน) มาตลอด 50 กว่าปี จนกระทั่งปี 2000 ที่พรรคดีพีพีชนะเลือกตั้งและครองตำแหน่งประธานาธิบดีติดต่อกัน 2 สมัย คือ เฉินสุ่ยเปี่ยน (2000-2008) ต่อมาก๊กมินตั๋งชนะเลือกตั้งติดต่อกัน 2 ครั้ง กุมอำนาจประธานาธิบดี 2 สมัย คือ หม่าอิงจิ่ว (2008-2016) และต่อมา ดีพีพีกลับมาชนะการเลือกตั้งและกุมอำนาจประธานาธิบดี 2 สมัย คือ ไช่อิงเหวิน (2016-ปัจจุบัน)
แต่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี ยอมรับว่า ไม่ได้ที่นั่งจำนวนมากพอในสภานิติบัญญัติในการเลือกตั้งครั้งนี้
โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของคณะรัฐบาลจีน เฉิน ปินหวา แถลงในคืนวันที่ 13 ม.ค. ถึงผลการเลือกตั้งในไต้หวันว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภานินิบัญญัติไต้หวันครั้งนี้ ไม่ได้เป็นตัวแทนกระแสหลักของเจตจำนงของประชาชนบนเกาะไต้หวัน คือ “ไต้หวันของจีน”
การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาและสถานการณ์พื้นฐานในความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ไม่อาจเปลี่ยนความหวังร่วมกันของพี่น้องร่วมชาติสองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่ยิ่งนับวันยิ่งสนิทชิดเชื้อ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงการรวมชาติมาตุภูมิ
“เราจะแก้ปัญหาไต้หวัน บรรลุการรวมชาติ ยืนหยัด “หลักการจีนเดียว” ภายใต้ “ฉันทมติ 92*” ยืดหยัดต่อต้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มลัทธิแบ่งแยกดินแดน และการแทรกแซงของอิทธิพลภายนอก
• หมายเหตุ ‘ฉันทมติ 92’ (“九二共识” /1992 Consensus) รับรอง ‘หลักการหนึ่งจีน’ ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้แทนไต้หวันได้ประชุมกันที่ฮ่องกงในเดือน พ.ย.2535 บรรลุข้อตกลง “หลักการหนึ่งจีน” โดยทั้งสองฝ่ายรับรองว่า “ในโลกนี้” มีเพียงจีนเดียว ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันต่างก็เป็นจีนเหมือนกัน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีการแถลงคำจำกัดความ “หนึ่งจีน” ของตน