xs
xsm
sm
md
lg

กระสันสงคราม! เปียงยางรัวปืนใหญ่อีก 60 นัดแถวๆ เกาะใกล้กรุงโซล หนึ่งวันหลัง 2 ฝ่ายซ้อมรบกระสุนจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทัพเกาหลีเหนือรัวกระสุนปืนใหญ่กว่า 60 นัดใกล้กับเกาะยอนพยอง (Yeonpyeong) ในวันเสาร์ (6 ม.ค.) หนึ่งวันหลังจากทั้ง 2 ฝ่ายทำการซ้อมรบกระสุนจริงในพื้นที่เดียวกันนี้ ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนทางทะเลที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 ชาติ

ถ้อยแถลงของเสนาธิการทหารร่วมของเกาหลีใต้ ระบุในถ้อยแถลงว่า "กองทัพเกาหลีเหนือได้ทำการยิงปืนใหญ่กว่า 60 นัด ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะยอนพบองในบ่ายวันเสาร์"

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อวันศุกร์ (5 ม.ค.) เกาหลีเหนือยิงกระสุนปืนใหญ่มากกว่า 200 นัด ใกล้เกาะยอนพยอง และเกาะแบงนยอง (Beangnyeong) 2 เกาะที่มีพลเรือนพักอาศัยอยู่เบาบางและตั้งอยู่ไม่ห่างจากทางใต้ของเขตชายแดนทางทะเลโดยพฤตินัยระหว่าง 2 ฝ่าย

พวกชาวบ้านของทั้ง 2 เกาะ ได้รับคำสั่งให้อพยพออกมาและได้มีการระงับบริการเรือข้ามฟาก ระหว่างสถานการณ์ทางทหารที่ลุกลามบานปลายร้ายแรงที่สุดหนหนึ่งในคาบสมุทรเกาหลี นับตั้งแต่เปียงยางยิงปืนใหญ่ใส่หนึ่งใน 2 เกาะดังกล่าว เมื่อปี 2010

ในเหตุการณ์ทั้งในวันศุกร์ (5 ม.ค.) และวันเสาร์ (6 ม.ค.) กระสุนปืนใหญ่ของเกาหลีเหนือตกในเขตกันชนที่จัดตั้งขึ้นมาภายใต้ข้อตกลงลดความตึงเครียดหนึ่งเมื่อปี 2018 ก่อนถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังเกาหลีเหนือส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจร

กองทัพเกาหลีใต้ระบุในวันเสาร์ (6 ม.ค.) ว่าการยิงปืนใหญ่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของเกาหลีเหนือ ภายในเขตห้ามมีพฤติกรรมที่เป็นปรปักษ์ เสี่ยงเป็นภัยคุกคามสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีและโหมกระพือสถานการณ์ลุกลามบานปลาย

"เกาหลีเหนือ หลังจากพวกเขากล่าวอ้างว่าได้เพิกถอนข้อตกลงทางทหาร 19 กันยายนโดยสมบูรณ์ ได้เดินหน้าข่มขู่คุกคามพลเรือนของเรา ด้วยการยิงปืนใหญ่ในเขตห้ามมีพฤติกรรมที่เป็นปรปักษ์" ถ้อยแถลงของกองทัพเกาหลีใต้อ้างถึงข้อตกลงปี 2018 "ในการตอบโต้ กองทัพของเราจะใช้มาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม"

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือกล่าวอ้างเมื่อวันศุกร์ (5 ม.ค.) ว่าการซ้อมรบกระสุนจริงของพวกเขา ไม่แม้กระทั่งส่งผลกระทบทางอ้อมต่อหมู่เกาะต่างๆ ตามแนวชายแดน

เกาะยอนพยอง ซึ่งมีพลเรือนราว 2,000 คน อยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางตะวันตกแค่ราว 115 กิโลเมตร ส่วนเกาะแบงนยอง ซึ่งคาดหมายว่ามีประชากรราว 4,900 คน อยู่ห่างจากกรุงโซล ไปทางตะวันตกแค่ราว 210 กิโลเมตร

ในเดือนพฤศจิกายน โซลได้ระงับเงื่อนไขบางส่วนในข้อตกลงทางทหารปี 2018 เพื่อประท้วงกรณีที่เปียงยางส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจร แต่จากนั้นไม่นาน เกาหลีเหนือก็ทำการฉีกข้อตกลงดังกล่าวเป็นชิ้นๆ โดยสิ้นเชิง

ยาง มู-จิน ประธานมหาวิทยาลัยเกาหลีเหนือศึกษา ในกรุงโซล ให้ความเห็นกับเอเอฟพีว่า "มันรู้สึกเหมือนกำลังย้อนกลับไปยุคสงครามเย็น ยุคที่ดูเหมือนว่าพฤติกรรมของทั้ง 2 ฝ่ายทั้งล่วงละเมิดและยั่วยุต่างๆ โดยแต่ละฝ่ายมองการกระทำของตนเองว่าเป็นการป้องกันตนเองและเป็นการตอบโต้ที่ชอบธรรม"

เขาเรียกร้องให้เกาหลีใต้สำรวจหนทางแห่งความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกับจีน พันธมิตรสำคัญของเกาหลีเหนือ ซึ่งเรียกร้องทั้ง 2 ฝ่ายอดทนอดกลั้น เพื่อลดความตึงเครียดในคาบสมุทร

ย้อนกลับไปในปี 2010 ในปฏิบัติการตอบโต้การซ้อมรบกระสุนจริงของเกาหลีใต้ใกล้ชายแดนทางทะเล ทางเกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่ถล่มเกาะยอนพยอง สังหารชาวเกาหลีใต้ไป 4 ราย แบ่งเป็นทหาร 2 นาย และพลเรือน 2 คน เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการโจมตีใส่พื้นที่พลเรือนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเกาหลีปี 1950-53

ในคราวนั้น เกาหลีใต้ยิงตอบโต้กลับไปกินเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีการสาดกระสุนปืนใหญ่เข้าใส่กันมากกว่า 200 นัด โหมกระพือความกังวลช่วงสั้นๆ ว่ามันจะทวีความรุนแรงเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ

ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติเกาหลีดำดิ่งสู่จุดต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ หลังจาก คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ บัญญัติสถานะมหาอำนาจนิวเคลียร์ของตนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และได้ทำการยิงทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปล้ำสมัยไปแล้วหลายครั้ง

ในการประชุมทางนโยบายช่วงสิ้นปี คิม เตือนเกี่ยวกับการโจมตีทางนิวเคลียร์เล่นงานเกาหลีใต้ และเรียกร้องยกระดับคลังแสงทางทหารของประเทศ พร้อมเตือนว่าความขัดแย้งอาจปะทุได้ทุกเมื่อ

เมื่อวันศุกร์ (5 ม.ค.) สำนักข่าวเคซีเอ็นเอ รายงานว่า คิม เรียกร้องยกระดับกำลังผลิตเครื่องจรวด เนื่องจากสถานการณ์เลวร้ายโดยทั่วไปบีบบังคับให้เกาหลีเหนือต้องเตรียมพร้อมอย่างแน่วแน่มากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับการเผชิญหน้าทางทหารกับเหล่าอริศัตรู

ความเห็นของเขามีขึ้นหลังจากทำเนียบขาว กล่าวหาเกาหลีเหนือจัดหาขีปนาวุธและเครื่องยิงจรวดแก่รัสเซีย ที่เพิ่งถูกใช้ในการโจมตีใส่ยูเครนเมื่อไม่นานที่ผ่านมา โดยวอชิงตันเรียกแรงสนับสนุนที่เปียงยางมอบให้แก่มอสโก ว่าเป็นสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลาย

ในทางเทคนิคแล้ว 2 ชาติเกาหลียังคงอยู่ในภาวะสงคราม เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างปี 1950-53 จบลงด้วยข้อตกลงสงบศึก ไม่ใช่สนธิสัญญาหนึ่งใด และยังคงมีการคุ้มกันอย่างหนาแน่นในพื้นที่เกือบทั้งหมดตามแนวชายแดนระหว่าง 2 ฝ่าย ขณะที่ประเด็นโต้แย้งด้านเขตแดนทางทะเลก็ไม่เคยกำหนดชอบเขตอย่างเป็นทางการ

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น