xs
xsm
sm
md
lg

ผวากันหมด! เกาหลีใต้ถอดบทเรียนฮามาสบุกอิสราเอล วิตกโดนเกาหลีเหนือจู่โจมเลียนแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชิน วอน-ซิค รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ ต้องการระงับข้อตกลงทางทหารที่ทำไว้กับเกาหลีเหนือ สืบเนื่องจากความเสี่ยงความเป็นไปได้ที่จะถูกโจมตี ตามหลังสงครามที่ปะทุขึ้นอย่างกะทันหันระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

รายงานข่าวของเอพีระบุ รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในกรุงโซล เมื่อวันอังคาร (10 ต.ค.) ว่า "เพื่อตอบโต้ (ความเสี่ยงของการโจมตีจากเกาหลีเหนือ) เราจำเป็นต้องสังเกตการณ์ (ความเคลื่อนไหวทางทหารของเกาหลีเหนือ) ด้วยทรัพย์สินด้านการลาดตระเวนของเรา เพื่อรับรู้ล่วงหน้าว่าพวกเขากำลังเตรียมการยั่วยุหรือไม่"

รัฐมนตรีรายนี้บอกว่าเขาจะยืนยันเกี่ยวกับการระงับข้อตกลงด้านการทหารระหว่าง 2 ชาติเกาหลีในปี 2018 เพื่อคืนสู่การสอดแนมตามแนวหน้าของประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกล่าวอ้างด้วยว่า อิสราเอลจะประสบความเสียหายน้อยกว่านี้หากว่าใช้เครื่องบินและโดรนสอดแนม

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ขบวนการนักรบปาเลสไตน์ "ฮามาส" เปิดปฏิบัติการจู่โจมดินแดนอิสราเอล รุกรานเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ตามแนวชายแดนทางใต้ของประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลอิสราเอลประกาศภาวะสงครามในวันต่อมา เปิดปฏิบัติการตอบโต้ครั้งใหญ่ในฉนวนกาซา ที่ใช้ชื่อว่า "ปฏิบัติการดาบเหล็ก" (Operation Iron Swords)"

อ้างอิงรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า กองทัพและข่าวกรองอิสราเอลดูเหมือนจะการ์ดตก ไม่รู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับการโจมตีของพวกฮามาส

หลังจากมีคำแถลงของ ชิน วอน-ซิค ทางผู้ตรวจสอบรายหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภา ของกระทรวงที่รับผิดชอบด้านกิจการระหว่าง 2 เกาหลี ระบุในวันพุธ (11 ต.ค.) ว่า จำเป็นต้องพิจารณาสถานการณ์ด้านความมั่นคงอย่างถี่ถ้วนก่อนระงับข้อตกลงดังกล่าว เขาบอกด้วยว่าประเด็นนี้ควรมีหาพูดคุยหารือกันอย่างละเอียด ณ ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮับ

ข้อตกลงทางทหารอย่างครอบคลุม (Comprehensive Military Agreement) ซึ่งลงนามโดยทั้ง 2 ชาติเกาหลี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2018 ได้วางกรอบมาตรการต่างๆ ที่จะลดความตึงเครียดด้านการทหารในคาบสมุทรเกาหลี และก่อสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่การเจรจาเพิ่มเติมและความร่วมมือทวิภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกันชน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแนวชายแดนทางบกและทะเล และเขตห้ามบินเหนือแนวชายแดน เพื่อป้องกันการปะทะกัน

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ เลงร้ายลง ตามหลังการเจรจาที่พังครืนระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ เกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเปียงยางในปี 2019 ทั้งนี้ อเมริกาต้องการเห็นความเคลื่อนไหวที่หนักแน่นกว่าเดิมจากเกาหลีเหนือ ในการละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ แต่ขณะเดียวกัน เปียงยางเน้นว่า วอชิงตันไม่ได้ทำอะไรเลยในการตอบแทนกรณีที่พวกเขาสมัครใจมุ่งหน้าสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองกำลังอเมริกาเข้าร่วมในการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นชุดๆ กระตุ้นให้ทางเกาหลีเหนือตอบโต้ด้วยการยิงทดสอบขีปนาวุธหลายสิบลูก และประณามการซ้อมรบที่นำโดยสหรัฐฯ ว่าเป็นการจำลองรุกรานเต็มรูปแบบ

ไม่มีเหตุปะทะครั้งใหญ่ระหว่าง 2 ชาติเกาหลี นับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธอย่างน้อย 23 ลูกลงสู่ทะเล โดยหนึ่งในนั้นตกในทะเล ห่างจากชายฝั่งของเกาหลีใต้ไม่ถึง 60 กิโลเมตร

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น