ญี่ปุ่นตกลงจัดหาขีปนาวุธแพทริออตให้แก่สหรัฐฯ หลังจากยุติการแบนส่งออกทางทหารที่ถูกกำหนดไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ (Pacifist Constitution) ของประเทศ มาตั้งแต่ปี 1947 ความเคลื่อนไหวนี้จะช่วยเกื้อหนุนคลังแสงของวอชิงตันที่ร่อยหรอลงไปอย่างมาก จากความขัดแย้งลากยาวระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
การขายอาวุธแก่สหรัฐฯ ซึ่งได้รับการยืนยันในกรุงโตเกียวเมื่อวันศุกร์ (22 ธ.ค.) ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นส่งออกอาวุธร้ายแรง ในขณะที่บริษัทมิตซูบิชิ อินดัสตรีส์ คือผู้ผลิตขีปนาวุธแพทริออต ภายใต้ใบอนุญาตจากล็อคฮีด มาร์ติน และ RTX สองบริษัทคู่สัญญาด้านการป้องกันประเทศสัญชาติสหรัฐฯ
แม้ขีปนาวุธสกัดกั้นที่ผลิตโดยญี่ปุ่นจะไม่ได้ป้อนสู่เคียฟโดยตรง แต่ขีปนาวุธเหล่นี้อาจเปิดทางให้วอชิงตัน ส่งขีปนาวุธแพทริออตที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ให้แก่เคียฟเพิ่มเติม
"ในการดำเนินการครั้งนี้ เราหวังว่าจะช่วยส่งเสริมการปกป้องกฎระเบียบระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้างบนพื้นฐานของหลักนิติรัฐ และเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ บอกกับพวกผู้สื่อข่าว หลังจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเห็นชอบยกเลิกมาตรการแบนส่งออก
ด้านกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นระบุว่าข้อตกลงขีปนาวุธครั้งนี้จะเป็นตัวช่วยกระชับความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
แม้ คูชิดะ ยืนยันว่า "ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในหลักการของเราในฐานะประเทศสันติ" แต่ทาง ราห์ม เอ์มมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น ยอมรับว่าการปฏิรูปด้านความมั่นคงของญี่ปุ่น อยู่ในขนาด ขอบเขตและอัตราความรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมบอกว่าโตเกียวกำลังปรับปรุงด้านกลาโหมให้ทันสมัยครั้งใหญ่ที่สุดหนหนึ่งในช่วงอายุคน
การตัดสินใจเห็นชอบการส่งออกครั้งนี้ มีขึ้นในวันเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเห็นชอบเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายด้านกลาโหมอีก 16% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเวลานี้งบประมาณด้านการทหารประจำปีงบประมาณ 2024 มูลค่า 7.95 ล้านล้านเยน (ราว 55,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เหลือแค่รอความเห็นชอบจากรัฐสภาเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ คูชิดะ เคยแถลงจะยกระดับด้านการทหารในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2022 ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติผู้ใช้จ่ายด้านกลาโหมรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และจีน
ตัวเลขงบประมาณดังกล่าวครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ไม่อาจคิดได้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนโดยสหรัฐฯ ของญี่ปุ่น โดยในรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพนั้น โตเกียวไม่ใช่แค่เพียงยอมสละสิทธิในการทำสงคราม แต่ยังยอมสละการครอบครองอาวุธที่เกินกว่าความจำเป็นสำหรับการป้องกันตนเองในขั้นต่ำสุดอีกด้วย
การยกเลิกมาตรการแบนส่งออกของญี่ปุ่น ยังอาจเป็นการเปิดทางให้เครื่องบินขับไล่ F-15 และอาวุธอื่นๆ ที่ผลิตโดยบรรดาบริษัทญี่ปุ่นภายใต้ใบอนุญาตของสหรัฐฯ สามารถขายเครื่องบินและอาวุธเหล่านั้นแก่วอชิงตัน สหราชอาณาจักร และพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)