xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน’ มองเส้นทางสงครามยูเครนในปี 2024

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร ***


ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ขณะเปิดการแถลงข่าวและตอบคำถามประชาชนช่วงสิ้นปีประจำปี 2023 ณ ศูนย์นิทรรศการกอสตินา ดวอร์ ในกรุงมอสโก, รัสเซีย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา
Putin: “Odessa is a Russian city”
BY M. K. BHADRAKUMAR
17/12/2023

ระหว่างแถลงข่าวและตอบคำถามประชาชนประจำช่วงสิ้นปีเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ปูตินบอกว่าพื้นที่ตอนใต้ของยูเครนคือดินแดนของชาวรัสเซียเสมอมา ไม่ว่าไครเมีย หรือทะเลดำ ต่างก็ไม่เคยมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงใดๆ กับยูเครนเลย เมืองโอเดสซาที่เป็นเมืองท่าริมทะเลดำสำคัญที่สุด “ถือเป็นนครหนึ่งของชาวรัสเซีย” โดยแท้

ณ การแถลงข่าวและตอบคำถามประชาชนประจำช่วงสิ้นปี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งกินเวลาทั้งสิ้น 4 ชั่วโมง ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ให้ข้อสังเกตสำคัญๆ บางประการเกี่ยวกับการสู้รบขัดแย้งในยูเครน ซึ่งฉายส่องให้เห็นเส้นทางโคจรที่น่าจะเกิดขึ้นของสงครามคราวนี้ในตลอดปี 2024 ที่กำลังย่างกรายเข้ามา แน่นอนอยู่แล้วว่า รัสเซียจะไม่ยอมรับให้เกิดภาวะ “การสู้รบขัดแย้งที่ถูกแช่แข็งเอาไว้” (frozen conflict) อย่างที่มีบางคนบางฝ่ายในโลกตะวันตกเสนอ เนื่องจากมันไปไม่ถึงการบรรลุผลทำให้วัตถุประสงค์ข้อต่างๆ ซึ่ง ปูติน ได้วางเอาไว้ตั้งแต่ตอนประกาศเริ่มต้นการปฏิบัติการพิเศษทางทหารครั้งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว กลายเป็นความจริงขึ้นมา

ปูติน เน้นย้ำในการระหว่างการแถลงข่าวและตอบคำถามคราวนี้ ดังนี้: “มันจะมีสันติภาพขึ้นมาได้เมื่อเราบรรลุถึงเป้าหมายต่างๆ ของเรา ... ตอนนี้ขอให้เราหวนกลับไปทบทวนเป้าหมายเหล่านี้กันดู –มันยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ผมใคร่ขอให้คุณย้อนระลึกว่าเราได้กำหนดเป้าหมายพวกนี้เอาไว้ยังไงกันบ้าง ได้แก่ การทำให้ยูเครนปราศจากอำนาจอิทธิพลของพวกนาซี (denazification) การทำให้ยูเครนปราศจากการสร้างสมกำลังทหาร (demilitarisation) และการเข้าสู่สถานะเป็นชาติเป็นกลางสำหรับยูเครน (neutral status for Ukraine)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.eu/article/eu-leaders-pledge-deliver-aid-flagging-ukraine-soon-dismissing-orbans-veto/)

เขาอธิบายขยายความว่า การทำให้ยูเครนปราศจากอำนาจอิทธิพลของพวกนาซี และ การทำให้ยูเครนปราศจากการสร้างสมกำลังทหาร เป็นงานที่กำลังดำเนินการกันอยู่ ขณะที่ปล่อยเอาไว้ไม่พูดถึงคำถามอันสำคัญยิ่งยวดเรื่องฐานะความเป็นชาติเป็นกลางของยูเครน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทางฝ่ายตะวันตกโดยรวมได้ปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ในเวลาเดียวกับที่พยายามเดินหน้าบีบบังคับด้วยการแทรกแซงของพวกเขาในรูปแบบใหม่ๆ ต่อไปอีก ถึงแม้เพิ่งผ่านความล้มเหลวในการรุกตอบโต้ที่กินเวลานานหลายเดือนของกรุงเคียฟ พฤติการณ์เช่นนี้ช่างเป็นการย้อนแย้งเสียนี่กระไร ทั้งนี้ เรื่องเล่าของฝ่ายตะวันตกฉบับทบทวนแก้ไขใหม่แล้วในเวลานี้ กำลังเน้นหนักอยู่ที่การมุ่งสร้างอุตสาหกรรมกลาโหมที่หยุ่นตัวและเข้มแข็งขึ้นมาในยูเครนให้ได้ในท้ายที่สุด ด้วยเทคโนโลยีและเงินทุนจากฝ่ายตะวันตก เพื่อขจัดปัดเป่าภัยคุกคามทางทหารจากรัสเซียใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ว่าเฉพาะเรื่องการทำให้ยูเครนปราศจากอำนาจอิทธิพลของพวกนาซี ปูตินเคยกล่าวว่า ในระหว่างที่ยังมีการเจรจากันระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่นครอิสตันบูล ของตุรกี เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เคียฟได้แสดงท่าทีตอบรับแนวความคิดของการออกกฎหมายซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านคัดค้านการเผยแพร่อุดมการณ์สุดโต่งนี้ ทว่าเรื่องนี้ได้ถูกฝังจมมิดเอาไว้ในอดีตไปเสียแล้ว สำหรับการทำให้ยูเครนปราศจากการสร้างสมกำลังทหารนั้น แนวความคิดนี้ก็ไม่เคยเป็นที่ยอมรับของฝ่ายตะวันตกเลย โดยที่ยูเครนกำลังได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ “กระทั่งมากมายยิ่งกว่าที่ฝ่ายตะวันตกได้ให้สัญญาเอาไว้เสียอีก”

ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงไม่เหลือทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว นอกจากต้องต้องทำลายสมรรถนะทางทหารของยูเครนต่อไปเรื่อยๆ และถือเรื่องนี้แหละคือแกนกลางของกระบวนการทำให้ยูเครนปราศจากการสร้างสมกำลังทหาร กระนั้น ปูตินยังคงเชื่อว่ายังมีขอบเขตอยู่บางอย่างบางประการที่สามารถเจรจาต่อรองกันได้ และตามข้อเท็จจริงแล้ว “พวกเราได้ตกลงกับพวกเขา [กับคณะผู้เจรจาฝ่ายยูเครน] ระหว่างการพูดจากันที่อิสตันบูลแล้วด้วยซ้ำ ถึงแม้สิ่งเหล่านี้ได้ถูกโยนทิ้งไปในเวลาต่อมาก็ตามที เรานั้นได้ลงแรงใช้ความพยายามแล้วเพื่อหาทางบรรลุข้อตกลง” สำหรับทางเลือกอื่นที่จะทำให้บรรลุถึงข้อตกลงว่าด้วยการทำให้ยูเครนปราศจากการสร้างสมทางทหาร ก็คือ “การแก้ไขคลี่คลายการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ด้วยการใช้กำลัง นี่คือสิ่งที่เราจะกระทำอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่” อย่างไรก็ดี เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าวนี้ ปูตินกล่าวปฏิเสธว่ารัสเซียไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเกณฑ์ทหารกันอีกรอบหนึ่ง เนื่องจากรัสเซีย “จะมีกำลังผู้คนประมาณครึ่งล้านคน [ในพื้นที่สงคราม] อยู่แล้วในตอนสิ้นปีนี้”

การให้ข้อสังเกตเหล่านี้ มีกลิ่นอายและตราประทับแบบรัฐบุรุษผู้หนึ่งที่กำลังพูดจากจุดยืนอันแข็งแกร่ง โดยที่ตนเองก็มีความสำนึกเป็นอย่างดีถึงจุดยืนเช่นว่านี้ด้วย ปูตินกล่าวยืนยันว่ากองกำลังรัสเซีย “กำลังปรับปรุงยกระดับที่มั่นของพวกเขาในแทบจะตลอดทั่วทั้งเส้นแนวปะทะ พวกเขาแทบทั้งหมดต่างเข้าร่วมในการสู้รบอย่างกระตือรือร้น และที่มั่นของกองทหารของเราก็กำลังปรับปรุงกระเตื้องดีขึ้น [ตลอดทั่วทั้งเส้นแนวปะทะ]” ปูตินไม่ได้แสดงอาการของความปรารถนาที่จะประนีประนอมกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอย่างใดทั้งสิ้น

ยังมีเรื่องสำคัญที่ควรต้องนำเอามาพินิจพิจารณากันเป็นพิเศษ เมื่อปูตินบอกว่าพื้นที่ส่วนตอนใต้ของยูเครนนั้น “เป็นดินแดนของชาวรัสเซียเสมอมา ... ไม่ว่าไครเมียหรือทะเลดำ ต่างก็ไม่ได้เคยมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงใดๆ กับยูเครนเลย เมืองโอเดสซา (Odessa) นั้นถือเป็นนครแห่งหนึ่งของชาวรัสเซีย” นี่เป็นคำแถลงในแบบบอกกล่าวล่วงหน้ากันเอาไว้โดยแท้ ซึ่งส่อแสดงนัยว่าการปฏิบัติการของรัสเซียในที่สุดแล้วอาจจะมีการขยายให้ครอบคลุมไปถึงเมืองโอเดสซา ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญริมทะเลดำที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดนิเปอร์ (Dnieper) ตลอดจนกระทั่งเลยไกลออกไปอีกทางตะวันตกตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลดำจวบจนกระทั่งถึงประเทศมอลโดวา ซึ่งก็คือทำให้ยูเครนกลายสภาพเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเลใดๆ ไปเลย ดังนั้นจึงคาดหมายได้ว่าการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้มีหวังจะลากยาวยืดเยื้อต่อไปอีก

ในทางตรงกันข้าม มีรายงานหลายกระแสออกมาจากพวกสื่อสหรัฐฯ ที่อ้างอิงคำพูดของประดาเจ้าหน้าที่อเมริกันซึ่งกำลังพยายามสร้างความรู้สึกประทับใจขึ้นมาว่า ณ ขั้นตอนปัจจุบัน มอสโกยังคงไม่มีความปรารถนาใดๆ ที่จะโยนผ้าขอยอมแพ้ แน่นอนทีเดียวว่านี่เป็นการวินิจฉัยซึ่งอิงอยู่กับความเชื่อของพวกเขาที่ว่า รัสเซียจะประสบความยากลำบากในความพยายามที่จะทำให้วัตถุประสงค์ของตนกลายเป็นความจริงขึ้นมา แล้วเมื่อถึงตอนสิ้นปี 2024 กระแสคลื่นลมของสงครามคราวนี้ก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไป และรัสเซียอาจจะถูกบังคับให้ต้องยอมประนีประนอม ด้วยเหตุนี้ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ และของยูเครนจึงกำลังมีการจัดวางยุทธศาสตร์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งสามารถที่จะนำออกมาดำเนินการได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของปี 2024 โดยที่ฝ่ายอเมริกันเน้นหนักให้รักษาดินแดนซึ่งยูเครนควบคุมอยู่ ณ ตอนนี้ให้มั่นคงและยืนหยัดเอาไว้ให้ได้อย่างเหนียวแน่น

นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ฝ่ายทหารของยูเครนกำลังเห็นดีเห็นงามกับ “นโยบายบุกไปข้างหน้า” (forward policy) โดยในเวลานี้เพนตากอนได้จัดส่งนายพลระดับ 3 ดาว (พลโท) ผู้หนึ่งไปประจำอยู่ในกรุงเคียฟ ด้วยทัศนะที่ว่าเพื่อเป็นการ “ยกระดับคำปรึกษาแนะนำทางการทหารโดยตรงให้แก่ยูเครน” ความเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจกลายเป็นการเริ่มต้นของการส่งที่ปรึกษาทางทหารชาวอเมริกันไปประจำการในยูเครนเพื่อคอยกำกับดูแลสงครามครั้งนี้ ซึ่งก็จะทำให้เพนตากอนมีบทบาทโดยตรงในการบริหารจัดการการปฏิบัติการต่างๆ ทั้งจากทัศนะมุมมองในทางยุทธวิธี เช่นเดียวกับจากทัศนะมุมมองในทางยุทธศาสตร์

เวลาเดียวกันนั้น วุฒิสภาสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการประกาศตัดสินใจขั้นสุดท้ายออกมาเกี่ยวกับความต้องการของฝ่ายบริหารไบเดนที่จะให้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก 61,000 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือท้ายที่สุดแล้วสภาสูงสหรัฐฯ ก็จะผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากความเห็นของคนส่วนใหญ่ในหมู่สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรครีพับลิกันนั้นเป็นพวกที่สนับสนุนความพยายามในการทำสงคราม ขณะที่คณะบริหารไบเดนก็กำลังโหมประโคมป่าวร้องอยู่ภายในประเทศว่า รัสเซียนั้นมีวาระแบบ “จักรวรรดินิยม” ต่อพวกประเทศนาโต และผลประโยชน์สำคัญยิ่งยวดของสหรัฐฯ คือสิ่งที่ถูกวางเป็นเดิมพันด้วย ในการป้องกันกัดขวางไม่ให้รัสเซียเป็นผู้ชนะสงครามในยูเครนคราวนี้

ช่วงสองสามวันที่ผ่านมา มีพัฒนาการที่เกี่ยวข้องประการหนึ่งซึ่งควรต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิด ได้แก่การที่รัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติกฎหมายที่จะป้องกันขัดขวางไม่ให้ประธานาธิบดีอเมริกันคนไหนก็ตามที นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การนาโต โดยที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาหรือจากทั้งรัฐสภาเสียก่อน ในทำนองเดียวกัน ยุโรปก็กำลังจัดขบวนเตรียมตัวต่อสู้ทำศึกอย่างเต็มที่ รวมทั้งกำลังเห็นดีเห็นงามกับแนวทัศนะระยะยาวที่ว่า การที่รัสเซียกำลังยกระดับการผลิตอาวุธเพื่อหล่อเลี้ยงประคับประคองการปฏิบัติการของตนในยูเครนนั้นคือการแสดงออกให้เห็นถึงภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบรรดารัฐริมทะเลบอลติก ตลอดจนจอร์เจีย และมอลโดวา ทั้งนี้เลขาธิการองค์การนาโต เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) กล่าวเตือนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ถ้าปูตินชนะในยูเครน มันก็มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่การก้าวร้าวรุกรานของเขาจะไม่สิ้นสุดลงแค่ที่นั่น”
(เรื่องรัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายห้ามประธานาธิบดีนำประเทศถอนตัวออกจากนาโต ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://thehill.com/homenews/4360407-congress-approves-bill-barring-president-withdrawing-nato/#:~:text=Congress%20has%20approved%20legislation%20that,or%20an%20Act%20of%20Congress.)

ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี บอริส พิสโตเรียส (Boris Pistorius) ก็ส่งเสียงสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวนี้เช่นกัน เมื่อเขาพูดในวันเสาร์ (16 ธ.ค.) ว่า ยุโรปต้องยกระดับเพิ่มพูนสมรรถนะด้านความมั่นคงและด้านกลาโหมของตน เพื่อตอบสนองกับภัยคุกคามที่รัสเซียเผยให้เห็น ในเวลาที่สหรัฐฯ น่าจะลดการเกี่ยวข้องพัวพันกับทวีปยุโรปลงในระยะหลายๆ ปีจากนี้ไป และหันความใส่ใจของตนไปยังภูมิแปซิฟิกในช่วงทศวรรษหน้า ดังที่เขาพูดเอาไว้ว่า “นี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การข่มขู่ว่าจะใช้กำลังเท่านั้น อันตรายอาจรอคอยอยู่ข้างหน้าจริงๆ ในตอนท้ายของทศวรรษนี้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.eu/article/europe-must-boost-military-capacity-to-counter-russia-threat-german-defense-chief/)

ข้อความที่ออกมาจากการประชุมของคณะมนตรียุโรป (European Council ที่ประชุมของบรรดาผู้นำชาติสมาชิกอียู) ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (15 ธ.ค.) ก็อยู่ในทำนองเดียวกัน นั่นคือการมุ่งหาทางลอดข้ามท่าทีคัดค้านแข็งขันของนายกรัฐมนตรีวิกตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี ที่ไม่ยอมให้ผ่านแพกเกจความช่วยเหลือยูเครนมูลค่า 50,000 ล้านยูโร ทั้งนี้ พวกผู้นำสหภาพยุโรปกำลังสำรวจหาเส้นทางเพื่อให้รับประกันได้ว่ายูเครนจะยังคงได้รับแพกเกจดังกล่าว สำหรับใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังตายซากของประเทศนี้ให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง –กระทั่งถ้าหากจำเป็นพวกเขาก็ดูพร้อมที่จะใช้ก้าวเดินอันรุนแรง ด้วยการเสียสละความสามัคคีเป็นเอกภาพกันของอียู และจัดหาเงินทองให้เคียฟในรูปแบบทวิภาคี ทั้งนี้เป็นที่คาดหมายกันว่า พวกผู้นำอียูจะกลับมาเปิดประชุมกันอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เพื่อแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหานี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.eu/article/eu-leaders-pledge-deliver-aid-flagging-ukraine-soon-dismissing-orbans-veto/)

ในวันศุกร์ (15 ธ.ค.) กระทรวงการต่างประเทศยูเครนได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาแสดงความดีอกดีใจที่คณะมนตรียุโรปตกลงให้เปิดการเจรจาเพื่อพิจารณารับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของอียู เวลาเดียวกันก็มีน้ำเสียงมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับแพกเกจความช่วยเหลือ 50,000 ล้านยูโรจากบรัสเซลส์

ถึงแม้เวลานี้น้ำเสียงของการพูดจาเชิงคัดค้านยังคงดูแข็งขัน แต่รัสเซียก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องหยั่งทราบจับความรู้สึกได้แล้วว่าในที่สุดอียูก็จะค้นพบหนทางด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินให้แก่เคียฟจนได้ ถึงแม้สำหรับในปัจจุบันนี้ ทางตันทั้งที่เกิดขึ้นในบรัสเซลส์และในวอชิงตันเกี่ยวกับงบช่วยเหลือยูเครน กำลังก่อให้เกิดบรรยากาศของความไม่แน่ไม่นอนขึ้นมา ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่เลวร้ายสำหรับยูเครน และเป็นประโยชน์แก่การเล่าเรื่องของฝ่ายรัสเซีย

มองสรุปกันโดยภาพรวม การแสดงความคิดเห็นอย่างหนักแน่นของ ปูติน เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ธ.ค.) มาจากการคาดคำนวณถึงปัจจัยต่างๆ ว่า อย่างไรเสียสหรัฐฯ ก็จะไม่ถอยหนีไปไหน แต่ยังคงปักหลักหนุนหลังยูเครนต่อไป และแผนการเล่นของคณะบริหารไบเดนก็คือการปรับปรุงยกเครื่องยุทธศาสตร์การทำสงครามอันเดิม เพื่อทำให้มันมีพื้นฐานที่หนักแน่นแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม และให้มันสามารถมีอายุยืนยาวจวบจนกระทั่งถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2024

ถ้าทำเนียบเครมลินคาดหวังว่าความสนับสนุนที่สหรัฐฯ ให้แก่ยูเครนกำลังอยู่ในภาวะหดหายแล้ว นั่นย่อมจะเป็นมุมมองที่ผิดฝาผิดตัว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่ ดมิตริ เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกทำเนียบเครมลิน หยอดความคิดเห็นได้อย่างเหมาะเจาะสวยงามในระหว่างให้สัมภาษณ์เครือข่ายทีวีเอ็นบีซีของสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (15 ธ.ค.) โดยบอกว่าปูตินย่อมมีความปรารถนาที่จะเห็นประธานาธิบดีอเมริกันซึ่ง “มีความสร้างสรรค์มากกว่า” ต่อรัสเซีย และเข้าอกเข้าใจถึง “ความสำคัญของการสนทนากัน” ระหว่างประเทศทั้งสอง เปสคอฟยังกล่าวต่อไปว่า ปูตินพร้อมที่จะทำงานกับ “ใครก็ตามที่จะมีความเข้าอกเข้าใจว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป คุณจะต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นกับรัสเซีย และคุณจะต้องนำเอาความกังวลสนใจของรัสเซียมาพิจารณาด้วย”

ช่วงเวลาตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในเดือนมีนาคม 2024 คาดหมายได้ว่าการเมืองภายในประเทศจะร้อนเดือดดุดันมากขึ้น และหลังจากปูตินได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ดังที่ได้รับการคาดหมายกันอย่างกว้างขวางแล้ว เมื่อถึงเวลาที่มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ของรัสเซียขึ้นมา การรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ก็จะอยู่ในช่วงเร่งตัว และเป็นการปลอดภัยหากจะวางเดิมพันว่าสงครามยูเครนจะอยู่ในโหมดปล่อยให้นักบินอัตโนมัติ (auto-pilot) เป็นผู้ควบคุม โดยที่เรื่องซึ่งถือว่ามีลำดับความสำคัญสูงสุดแทบจะสิ้นเชิงเลย ย่อมได้แก่การหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเรื่องน่าอับอายขายหน้าร้ายแรงใดๆ ขึ้นมาซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโอกาสการได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งของไบเดน

เราย่อมสามารถคาดหมายได้ว่า การหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเพลี่ยงพล้ำปราชัยทางการทหารขึ้นในยูเครน และการประคับประคองรักษาภาวะชะงักงันในประเทศนั้นเอาไว้ จะกลายเป็นจุดมุ่งหมายเพียงประการเดียวของคณะบริหารไบเดนในตลอดทั้งปี 2024 คำถามข้อใหญ่จึงมีอยู่ว่า ปูตินจะ “ให้ความร่วมมือ” หรือมีเรื่องเซอร์ไพรส์ตระเตรียมเอาไว้ ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าเปสคอฟพูดจาเหมือนกับเริ่มมองผ่านเลยไปจากวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดนแล้ว

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/putin-odessa-is-a-russian-city/
กำลังโหลดความคิดเห็น