xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีข้อยกเว้น! สหรัฐฯ เตือน ‘อิสราเอล’ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสงคราม เพื่อให้ได้ ‘อาวุธ’ จากอเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงยืนยันวานนี้ (11 ธ.ค.) ว่าสหรัฐฯ ยังคงยึดถือนโยบายที่ว่าทุกประเทศที่ได้รับอาวุธจากอเมริกาจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสงคราม (laws of war) และอิสราเอลก็ “ไม่ใช่ข้อยกเว้น” หลังจากที่วอชิงตันตัดสินใจขายกระสุนปืนใหญ่จำนวน 14,000 นัดให้แก่เทลอาวีฟโดยไม่รอกระบวนการอนุมัติของสภาคองเกรส

วันศุกร์ที่แล้ว (8 ธ.ค.) รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ใช้อำนาจฉุกเฉินตามกฎหมาย Arms Export Control Act อนุมัติการจำหน่ายกระสุนปืนใหญ่มูลค่า 106.5 ล้านดอลลาร์ให้แก่อิสราเอล ตามข้อมูลที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาประกาศในวันเสาร์ (9)

แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในงานแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (11) ว่า สหรัฐฯ คาดหวังให้ทุกประเทศที่รับความช่วยเหลือทางทหารจากอเมริกา “ต้องนำอาวุธเหล่านั้นไปใช้งานภายใต้กรอบกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสงครามอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งอิสราเอลก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น”

ผู้สื่อข่าวได้ตั้งคำถามกับ มิลเลอร์ ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ประเมินว่าอิสราเอลปฏิบัติตามนโยบายว่าด้วยการเคลื่อนย้ายอาวุธแบบดั้งเดิมปี 2023 (Conventional Arms Transfer (CAP) ที่รัฐบาล ไบเดน ประกาศใช้เมื่อเดือน ก.พ.หรือไม่? ซึ่งนโยบายนี้กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องประเมินว่า อาวุธที่ผลิตโดยอเมริกาจะต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ละเมิดอนุสัญญาเจนีวาฉบับต่างๆ หรือฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง

มิลเลอร์ ให้คำตอบว่า กระทรวงการต่างประเทศ “ยังไม่ได้มีการประเมินเช่นนั้น” พร้อมเอ่ยย้ำจุดยืนของอเมริกาว่าอิสราเอลควรจะใช้ความพยายามให้มากขึ้นเพื่อลดความสูญเสียต่อพลเรือนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

เมื่อผู้สื่อข่าวซักต่อว่า สหรัฐฯ มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นบ้างหรือไม่? มิลเลอร์ ก็ตอบเลี่ยงๆ ว่า “เราติดตามสถานการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสงครามครั้งนี้ และได้พูดคุยกับรัฐบาลอิสราเอลอยู่”

สงครามกาซาที่ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้ประเด็นที่ว่าอาวุธของสหรัฐฯ ถูกนำไปใช้ในสงครามอย่างไรและที่ไหนบ้างก็เริ่มถูกเพ่งเล็งมากขึ้นเรื่อยๆ แม้เจ้าหน้าที่อเมริกันจะย้ำว่า สหรัฐฯ ไม่มีแผนกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการมอบความช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอลก็ตามที

กระทรวงสาธารณสุขกาซาอัปเดตยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดเพิ่มเป็น 18,025 คนตลอดเวลากว่า 2 เดือนที่สงครามอิสราเอล-ฮามาสปะทุขึ้น ซึ่งตัวเลขความสูญเสียที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของพลเรือนในกาซา ก็กระตุ้นให้ทั่วโลกออกมาเรียกร้องการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น