Israeli strike destroys prestige Qatar-funded Gaza complex
by Yahya Hassouna, AFP
03/12/2023
ฝ่ายทหารของอิสราเอลได้แบ่งพื้นที่ฉนวนกาซาออกเป็นบล็อกๆ รวม 2,300 บล็อก และเวลานี้พวกเขาจะส่งข้อความสั้นเอสเอ็มเอสไปถึงชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง บอกกล่าวให้พวกเขาหลบหนีไปเสียก่อนที่อิสราเอลจะเปิดการโจมตี หน่วยงานยูเอ็นชี้ปัญหาว่า คำเตือนนี้ไม่ได้แนะนำเลยว่าให้หนีไปที่ไหนจึงจะปลอดภัย ขณะที่ชาวบ้านโดยเฉพาะพวกที่พลัดถิ่นหลบหนีมาจากตอนเหนือบอกว่า พวกเขาไม่มีอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า หรือวิทยุรับฟังข่าวสารใดๆ เลย
แทบจะเป็นเวลาเดียวกันกับที่คณะผู้เจรจาของฝ่ายอิสราเอลถอนตัวออกจากการหารือต่อเวลาหยุดยิงชั่วคราว ซึ่งจัดขึ้นในกาตาร์เมื่อวันเสาร์ (2 ธ.ค.) ภายหลังที่การต่อรองประสบภาวะชะงักงัน ฝูงเครื่องบินรบไอพ่นของอิสราเอลก็เข้าถล่มโจมตีอย่างแหลกลาญ ส่งผลให้อาคารหลายหลังในโครงการพัฒนาที่พักอาศัยในฉนวนกาซา ซึ่งได้รับเงินทุนอุดหนุนจากกรุงโดฮาและมีชื่อเสียงโด่งดังทีเดียว กลายเป็นกองเศษปรักหักพังในท่ามกลางควันไฟดำโขมง
โครงการนี้ซึ่งได้ชื่อว่า ฮะมัดซิตี้ (Hamad City) ตามพระนามของชัยค์ ฮะมัด บิน คอลิฟา อัล-ทานี (Sheikh Hamad bin Khalifa Al-Thani) อดีตอีมีร์ (emir เจ้าอาหรับผู้ครองรัฐ) แห่งกาตาร์ซึ่งได้ทรงเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์โครงการขณะเสด็จเยือนกาซาเมื่อ 11 ปีก่อน
โครงการนี้เริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2016 ถือเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ใหม่ที่สุดในฉนวนกาซา โดยที่กลุ่มอาคารที่พักอาศัยซึ่งตั้งอยู่ในเมืองข่านยูนิส (Khan Yunis) เมืองใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของดินแดนกาซาแห่งนี้ สามารถคุยอวดได้อย่างภาคภูมิว่ามีทั้งมัสยิด ร้านรวง และสวนร่มรื่นชวนให้เกิดความประทับใจ
แฟลตที่พักอาศัยห้องแรกๆ (จำนวนมากกว่า 1,000 ห้องทีเดียว) ถูกจัดสรรให้แก่ชาวปาเลสไตน์ซึ่งบ้านเรือนของพวกเขาได้ถูกทำลายไปในสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น
ในวันเสาร์ (2 ธ.ค.) เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง หนึ่งวันหลังจากที่การหยุดรบชั่วคราวระหว่างอิสราเอลกับฮามาสซึ่งมีกาตาร์เป็นคนกลางได้หมดอายุลง
ทีแรกสุด เครื่องโทรศัพท์ของพวกเขาส่งสัญญาณดังในช่วงเวลาประมาณเที่ยงของวันดังกล่าว และถ่ายทอดคำสั่งของกองทัพอิสราเอลที่ส่งทางระบบเอสเอ็มเอสให้พวกเขาต้องอพยพออกไป “ในทันที” กองทัพรัฐยิวอ้างว่าพวกเขาทำเช่นนี้อย่างเป็นระบบด้วยจุดมุ่งหมายที่จะลดจำนวนพลเรือนที่ต้องบาดเจ็บล้มตายให้เหลือน้อยที่สุด
หลังจากนั้นราวครึ่งชั่วโมง การถล่มโจมตีทางอากาศของอิสราเอลรวม 5 ระลอกก็โปรยปรายลงมาใส่ย่านดังกล่าวภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 นาที
ลูกระเบิดตกกระหน่ำลงไปในกลุ่มอาคารอพาร์ตเมนต์สีซีดๆ กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ทำให้พวกมันกลายเป็นแค่กองเศษอิฐเศษปูนเป็นส่วนใหญ่ และก่อให้เกิดกลุ่มควันดำโขมงขนาดมหึมาลอยขึ้นไปในท้องฟ้า ขณะที่ผู้คนแตกตื่นหลบหนีและร้องเรียกขอความช่วยเหลือ ท่ามกลางสัญญาณเหตุฉุกเฉินที่ส่งเสียงดังสนั่น
“อย่างน้อยที่สุดเราก็ผ่านมันมาได้แล้ว” นาเดอร์ อบู วอร์ดา (Nader Abu Warda) วัย 26 ปี บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี ด้วยอาการประหลาดใจที่เขายังรอดชีวิตมาได้
ไม่มีโทรศัพท์
ฝ่ายทหารของอิสราเอลได้แบ่งพื้นที่ฉนวนกาซาออกเป็นบล็อกๆ รวม 2,300 บล็อก และเวลานี้พวกเขาจะส่งข้อความสั้นเอสเอ็มเอสไปถึงชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง บอกกล่าวให้พวกเขาหลบหนีไปเสียก่อนที่อิสราเอลจะเปิดการโจมตีซึ่งพวกเขาระบุว่ามุ่ง “กำจัดกวาดล้างกลุ่มฮามาส”
มีผู้คนประมาณ 1,200 คนส่วนใหญ่เป็นพลเรือน เสียชีวิตจากการที่ขบวนการอิสลามิสต์ “ฮามาส” ยกพลเข้าโจมตีดินแดนตอนใต้ของอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม และอีกราว 240 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน ทั้งนี้ตามข้อมูลของพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอิสราเอล
ขณะที่รัฐบาลผู้ปกครองฉนวนกาซาที่นำโดยกลุ่มฮามาสแถลงว่า การถล่มโจมตีของอิสราเอลได้สังหารผู้คนไปมากกว่า 15,000 คนแล้ว ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นพลเรือนเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่ที่รัฐยิวเปิดการโจมตีทางอากาศเมื่อ 8 สัปดาห์ที่ผ่านมาและต่อมาก็เข้าถล่มทางภาคพื้นดินด้วย
สำนักงานเพื่อการประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ (OCHA) ชี้ให้เห็นจุดสำคัญว่า ข้อความเตือนให้หลบหนีของทางการอิสราเอล ไม่ได้มีการระบุแนะนำว่าผู้รับข้อความเหล่านั้นควรจะหลบหนีไปที่ไหน
อิบรอฮิม อัล-จามัล (Ibrahim al-Jamal) ข้าราชการพลเรือนที่อยู่ในวัย 40 ปีเศษๆ บอกว่า เขาไม่ได้มี “อินเทอร์เน็ตใดๆ ตลอดจนกระแสไฟฟ้าอะไรทั้งนั้น แม้กระทั่งวิทยุสำหรับรับฟังข้อมูลข่าวสารก็ไม่มี” นอกจากนั้นเขาก็ “ไม่เคยได้เห็นแผนที่นี้” ที่ผู้สื่อข่าวเล่าให้ฟังว่าแบ่งดินแดนกาซาออกเป็นบล็อกๆ
“คนจำนวนมากในกาซาไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ามีอะไรแบบนี้ แต่ถึงยังไงมันก็คงไม่สำคัญอะไรนักหรอก เพราะการทิ้งระเบิดนะมันเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งอยู่ดี” เขากล่าว
พวกหน่วยงานด้านมนุษยธรรมบอกว่า ผู้ที่ถือว่าอ่อนแอตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุดในกาซา ได้แก่ผู้คนที่ต้องพลัดถิ่นที่อยู่ซึ่งเวลานี้ประมาณการกันว่ามี 1.7 ล้านคน หรือกว่า 2 ใน 3 ของประชากรในดินแดนแห่งนี้ที่มีอยู่ราว 2.3 ล้านคน
พวกเขาจำนวนมากเวลานี้ไม่มีช่องทางเข้าถึงโทรศัพท์ และจำเป็นต้องพึ่งพาการเตือนภัยจากใบปลิวที่อิสราเอลทิ้งลงมาเตือนจากเครื่องบิน ทว่าเมื่อพวกเขาอยู่ข้างในแฟลต พวกเขาก็มองไม่เห็นอยู่ดี
จะให้ไปไหน?
ตามข้อมูลขององค์การฉุกเฉินและกู้ภัยเพื่อการป้องกันฝ่ายพลเรือน (Civil Defence emergency and rescue organisation) ของฉนวนกาซา ในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มี “ครอบครัวที่ต้องพลัดถิ่นที่อยู่จำนวนหลายร้อยครอบครัว” ได้เข้าไปพักพิงหลบภัยในแฟลตต่างๆ ที่ฮะมัดซิตี้ราว 3,000 ห้อง
โมฮัมเหม็ด ฟูรา (Mohammed Foura) วัย 21 ปี ซึ่งกลายเป็นผู้พลัดถิ่นไปเรียบร้อยแล้วในทันทีที่อพยพออกมาจากเมืองกาซาซิตี้ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ก่อนที่เครื่องบินจะเข้ามาโจมตีราวครึ่งชั่วโมง มีชาวบ้านคนอื่นๆ มาเตือนให้เขารีบหนี
พวกเขาพากันตะโกนว่า “รีบหนี, รีบหนี” เขาเล่า ขณะที่ครอบครัวต่างๆ พากันนำเอาสมบัติข้าวของของพวกเขาใส่เข้าไปในรถรา หรือผูกให้เป็นห่อใหญ่เบ้อเริ่มแล้วแบกหนีไป
นาเดอร์ อบู วอร์ดา หลบหนีมาจากจาบาเลีย (Jabalia) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กาซาซิตี้ เมื่อตอนสงครามคราวนี้เริ่มต้นขึ้นมา และเวลานี้ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดีหรือจะทำอะไรต่อไป
ตัวเขา ภรรยาของเขา และลูกๆ 3 คน ได้ไปพำนักอยู่ที่แฟลตของเพื่อนคนหนึ่งในโครงการฮะมัดซิตี้
“พวกเขาเคยบอกเราว่า ‘กาซาซิตี้เป็นพื้นที่สงคราม’ ตอนนี้ ข่านยูนิส ก็เหมือนกันแล้ว” เขากล่าว “เมื่อวานนี้พวกเขาบอกว่า ‘หนีไปทางตะวันออกของข่านยูนิส’ วันนี้พวกเขาพูดใหม่ว่า ‘หนีไปทางตะวันตก’ เขากล่าวต่อด้วยอาการโมโหเดือดาลอย่างเห็นได้ชัด
“พวกเราจะไปไหนได้ล่ะตอนนี้ ลงไปในทะเลหรือ? เราจะเอาลูกๆ ของเราไปนอนที่ไหน?”