บรรดารัฐอาหรับและสหภาพยุโรป (อียู) เห็นพ้องในการประชุมที่สเปนเมื่อวันจันทร์ (27 พ.ย.) ว่าแนวทาง 2 รัฐ (two-state solution) คือคำตอบเดียวที่จะแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ได้อย่างยั่งยืน ขณะที่ โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของอียู เสนอให้องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) เข้ามาปกครองดินแดนกาซาด้วย
บอร์เรลล์ ระบุว่า รัฐอียูทุกประเทศได้เข้าร่วมการประชุม Union for the Mediterranean (UfM) Regional Forum ซึ่งเป็นเวทีหารือระหว่าง 43 ชาติในยุโรป แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลางที่เมืองบาร์เซโลนา และผู้แทนเกือบทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นจะต้องใช้ทางออกแบบ 2 รัฐควบคู่ยุติปัญหายิว-ปาเลสไตน์
บอร์เรลล์ ยังเสนอให้องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์จัดการเลือกตั้งอีกครั้งโดยเร็วที่สุดเพื่อเพิ่มความชอบธรรมและแก้ไขกระบวนการทำงาน และตนมองว่าองค์กรแห่งนี้ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการปกครองฉนวนกาซาในอนาคต
“ผมเชื่อว่านี่คือทางออกเดียวที่เป็นไปได้ แต่มันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อประชาคมโลกสนับสนุน ไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะสุญญากาศที่เอื้อให้เกิดองค์กรความรุนแรงต่างๆ ขึ้นมา” บอร์เรลล์ ระบุในงานแถลงข่าว
รัฐบาลกาตาร์ซึ่งเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างอิสราเอลและฮามาสยืนยันว่า ข้อตกลงหยุดยิง 4 วันแรกได้ถูกขยายเพิ่มออกไปอีก 2 วัน
ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวครั้งนี้ถือเป็นการพักความรุนแรงครั้งแรกในสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 สัปดาห์ โดยก่อนหน้านี้กองทัพอิสราเอลได้ทิ้งระเบิดโจมตีฉนวนกาซาอย่างหนักเพื่อแก้แค้นที่พวกฮามาสส่งกองกำลังบุกโจมตีภาคใต้เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งทำให้มีประชาชนในฝั่งอิสราเอลเสียชีวิตไปราว 1,200 คน และยังมีคนถูกจับไปเป็นตัวประกันอีกราว 240 คน
ในทางกลับกัน การยิงถล่มแก้แค้นของอิสราเอลก็ทำให้ดินแดนกาซาพังพินาศยับเยิน พลเรือนปาเลสไตน์ถูกสังหารไปแล้วไม่ต่ำกว่า 14,800 คน และต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นฐานอีกหลายแสนคน
อัยมาน ซาฟาดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจอร์แดน ระบุว่า การพูดคุยเรื่องผู้ปกครองกาซาภายหลังสงครามนั้นควรมองเวสต์แบงก์และกาซาเป็นหน่วยเดียวกัน และจะต้องให้ชาวปาเลสไตน์ได้มีโอกาสเลือกผู้ปกครองของตนเอง
ด้าน ริยาด อัล-มาลิกี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของปาเลสไตน์ กล่าวว่า องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ซึ่งสูญเสียการควบคุมกาซาให้พวกฮามาสไปตั้งแต่ปี 2007 ยืนยันว่า พวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องกลับเข้าไปในกาซาใหม่ “เพราะเราอยู่ที่นั่นมาโดยตลอด เรามีพนักงานของรัฐทำงานอยู่ที่นั่นถึง 60,000 คน”
เจ้าชายไฟซอล บิน ฟาร์ฮาน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศซาอุฯ ในฐานะผู้แทนกลุ่มรัฐมนตรีจากสันนิบาตอาหรับ (Arab League) และองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation - OIC) ระบุว่า “เราได้ส่งสารของเราออกไปแล้วว่า จำเป็นต้องมีการหยุดยิงในทันที และมองหาวิธีที่จะต่อยอดจากข้อตกลงพักรบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน”
อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี กล่าวว่า การที่อิสราเอลไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกที่ร้าวลึก (deep rifts)
“และนี่คือเหตุผลที่ดิฉันเดินทางมาที่นี่วันนี้ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลเยอรมนีจะไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักก็ตาม แต่เพราะความแตกแยกที่ร้าวลึกขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องมานั่งพูดคุยกัน และรับฟังซึ่งกันและกัน” เธอกล่าว
ที่มา : รอยเตอร์