ชาวต่างชาติและผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสนับร้อยได้รับอนุญาตให้ออกจากกาซาเมื่อวันพุธ (1 พ.ย.) หลังจากก่อนหน้านั้นหนึ่งวันอิสราเอลถล่มค่ายผู้อพยพใหญ่ที่สุดในดินแดนดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน ซึ่งกองทัพยิวอ้างว่า รวมถึงผู้บัญชาการฮามาสที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนโจมตีอิสราเอล ขณะที่ฮามาสปฏิเสธ และระบุว่า มีตัวประกัน 7 คนเสียชีวิต ซึ่ง 3 คนในจำนวนนี้ถือหนังสือเดินทางต่างประเทศ ด้านอิหร่านเรียกร้องชาติมุสลิมงดส่งออกเชื้อเพลิงและอาหารให้อิสราเอล
กาตาร์ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งอิสราเอลและฮามาส ประสบความสำเร็จในการเป็นตัวกลางผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายตกลงเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ถือสองสัญชาติ และผู้ถือหนังสือเดินทางต่างประเทศชุดแรกจำนวนหลายร้อยคน เดินทางออกจากกาซาเข้าสู่อียิปต์เมื่อวันพุธ ที่จุดผ่านแดนราฟาห์ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนแห่งเดียวที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของอิสราเอล หลังจากดินแดนฉนวนกาซาถูกอิสราเอลถล่มต่อเนื่องมานานกว่า 3 สัปดาห์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 8,500 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และรวมถึงเด็กกว่า 3,500 คน
การถล่มโจมตีกาซาอย่างแหลกลาญยับเยินของอิสราเอล มีขึ้นหลังจากกองกำลังฮามาสบุกข้ามพรมแดนเข้าไปสังหารผู้คนในรัฐยิวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งทางการอิสราเอลให้ตัวเลขว่ามีจำนวน 1,400 คนส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ถือเป็นเหตุการณ์ที่รัฐยิวถูกโจมตีครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ
นอกจากระดมโจมตีทางอากาศและถล่มด้วยปืนใหญ่และจรวดแล้ว ขณะนี้อิสราเอลยังบุกภาคพื้นดินและส่งรถถังเข้าไปทางตอนเหนือของกาซาเพิ่มขึ้น ภาพจากกองทัพยิวเผยให้เห็นทหารเข้าค้นตามบ้านที่ถูกระเบิดเสียหายเพื่อล่าตัวนักรบฮามาส รวมถึงค้นหาตัวประกันราว 240 คนที่ถูกฮามาสจับจากตอนที่บุกเข้าอิสราเอล
อิสราเอลบอกว่า มีทหารของฝ่ายตนเสียชีวิต 11 นายระหว่างการต่อสู้ดุเดือดกับฮามาสในพื้นที่ชั้นในของฉนวนกาซาเมื่อวันอังคาร (31 ต.ค.)
ด้านกองกำลังอิซเซดีน อัล-กัสซัม ที่เป็นฝ่ายกำลังอาวุธของฮามาส ประกาศเปลี่ยนกาซาให้กลายเป็นหลุมฝังศพสำหรับกองกำลังอิสราเอลผู้รุกราน
เมื่อวันอังคาร อิสราเอลเผยว่า ได้ส่งเครื่องบินรบโจมตีเครือข่ายอุโมงค์ที่ค่ายจาบาเลีย ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดในกาซา และสังหารผู้ก่อการร้ายจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงอิบราฮิม เบียรี ผู้บัญชาการกองพันที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนและร่วมบุกอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.
อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขปาเลสไตน์บอกว่า มีชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 50 คนถูกฆ่าตายจากการที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ถูกโจมตีทิ้งระเบิด แล้วยังมีผู้บาดเจ็บอีก 150 คน ขณะที่ ฮาเซม กอสเซม โฆษกของฮามาสแถลงปฏิเสธว่าไม่ได้มีผู้บังคับบัญชาระดับอาวุโสสคนไหนอยู่ที่นั่น และเรียกการแถลงของอิสราเอลว่าเป็นข้ออ้างบังหน้าสำหรับการสังหารพลเรือน
ฮามาสยังออกคำแถลงฉบับหนึ่งที่บอกว่า มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บราว 400 คนที่ค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลีย ซึ่งเป็นที่พำนักของพวกครอบครัวผู้ลี้ภัยจากสงครามครั้งก่อนๆ ที่กระทำกับอิสราเอลย้อนหลังไปจนถึงปี 1948
นอกจากนั้น ในวันพุธฮามาสยังแถลงว่า มีตัวประกัน 7 คน ซึ่งรวมถึงผู้ถือหนังสือเดินทางต่างประเทศ 3 คน เสียชีวิตในเหตุโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลีย
ทางด้านกาตาร์และซาอุดีอาระเบียประณามการโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยของอิสราเอล และโบลิเวียประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล
ในวันพุธ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เรียกร้องชาติมุสลิมหยุดส่งออกอาหารและน้ำมันให้อิสราเอล และเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการทิ้งระเบิดถล่มฉนวนกาซา
ก่อนหน้านี้เหล่าผู้นำทางศาสนาของเตหะรานเตือนว่า สถานการณ์อาจลุกลามถ้าอิสราเอลไม่หยุดรุกรานปาเลสไตน์ ซึ่งเห็นกันว่าหมายถึงกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของอิหร่านในตะวันออกกลางพร้อมลงมือตอบโต้
สำหรับการเปิดด่านพรมแดนระหว่างกาซากับอียิปต์ในวันพุธ เป็นการจุดประกายความหวังในวิกฤตมนุษยธรรมในกาซาที่สหประชาชาติ และหน่วยงานบรรเทาทุกข์อื่นๆ ระบุว่า มีความร้ายแรงอย่างชนิด “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซายังคงน่ากังวลอย่างยิ่ง โดยขณะนี้ประชาชน 2.4 ล้านคนขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำ เชื้อเพลิง และยา ภายหลังถูกอิสราเอลปิดล้อมแทบเด็ดขาดสิ้นเชิงมาหลายสัปดาห์ รวมทั้งประกาศให้ผู้ที่อยู่ทางตอนเหนือของกาซารีบอพยพไปทางใต้ ทว่าก็กลับถล่มโจมตีอย่างหนักหน่วงไม่ว่าทางด้านเหนือหรือด้านใต้ของดินแดนซึ่งมีพื้นที่แคบๆ แห่งนี้ที่มีประชากรอาศัยกันหนาแน่น
นอกจากนั้น หน่วยงานด้านการสื่อสารของปาเลสไตน์ยังเปิดเผยว่า บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในกาซาใช้การไม่ได้โดยสิ้นเชิงเมื่อวันพุธ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์
เจ้าหน้าที่อิสราเอลบอกว่า เมื่อวันอังคารได้อนุญาตให้รถบรรทุกสิ่งของบรรเทาทุกข์ 70 คันจากอียิปต์เข้าสู่กาซา ซึ่งถือเป็นจำนวนมากที่สุดนับจากที่อเมริกาเป็นตัวกลางผลักดันข้อตกลงนี้ ทว่า ยังน้อยกว่าปริมาณที่ประชาชนในกาซาต้องการอย่างแท้จริง
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของอิสราเอลซึ่งบอกว่ากลัวสิ่งของบรรเทาทุกข์จะถูกส่งให้ฮามาสหรือมีอาวุธและสิ่งอื่นๆ ปะปนไปด้วย ยังตรวจค้นอย่างเข้มงวดทำให้การจัดส่งความช่วยเหลือยิ่งล่าช้า
ขณะเดียวกัน ด้วยความกังวลว่า ความรุนแรงอาจลุกลามกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกร้องให้มีกลไกเร่งด่วนเพื่อลดความตึงเครียด รวมทั้งส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ไปยังตะวันออกอีกครั้งตั้งแต่วันศุกร์ที่จะถึง (3 พ.ย.)
นอกจากนั้น บลิงเคนยังเปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า อเมริกาและประเทศอื่นๆ กำลังค้นหาการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้สำหรับอนาคตของกาซา หากพ้นจากการควบคุมของฮามาส
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)