xs
xsm
sm
md
lg

อิสราเอลกริ้วจัดเรียกร้องให้เลขาธิการยูเอ็นพ้นตำแหน่ง ยัวะแม้พูดประณามฮามาส แต่ก็เห็นใจปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองมา 56 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส ขณะกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น เมื่อวันอังคาร (24 ต.ค.) ที่ทำให้อิสราเอลกริ้วจัด
อิสราเอลกริ้วจัดถึงขั้นเรียกร้องให้เลขาธิการยูเอ็นออกจากตำแหน่ง หลังจากเขากล่าวปราศรัยประณามพฤติการณ์ฮามาส แต่ชี้ว่าปาเลสไตน์ถูกยึดครองอย่างทารุณมากว่า 50 ปี ทางด้านอเมริกาเสนอให้พักรบช่วงสั้นๆ เพื่อเปิดทางลำเลียงความช่วยเหลือเข้าสู่กาซา โดยที่รัฐยิวยังสามารถคงปฏิบัติการถล่มแหลกด้วยข้ออ้างเพื่อป้องกันตัวเองต่อไปได้ ปรากฏว่ารัสเซียและหลายชาติอาหรับคัดค้านทันควัน พร้อมเรียกร้องให้สงบศึกโดยไม่มีเงื่อนไข

อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันอังคาร (24 ต.ค.) ระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ระบุว่า ฮามาสไม่มีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้นในการก่อความรุนแรงอย่างน่าตกใจเมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมา แต่พร้อมกันนั้นก็เตือนอิสราเอลไม่ให้ลงโทษชาวปาเลสไตน์แบบเหมารวม และแสดงความกังวลอย่างมากกับการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างชัดเจนในกาซา

กูเตียร์เรสยังสำทับว่า การโจมตีของฮามาส “ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ” แต่เกิดขึ้นมาหลังจากชาวปาเลสไตน์ “ตกอยู่ใต้การยึดครองที่เป็นการรัดคอจนทำให้หายใจไม่ออกมาเป็นเวลา 56 ปี”

ปรากฏว่า เอลี โคเฮน รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล ไม่พอใจอย่างยิ่งถึงขั้นชี้หน้ากูเตียร์เรสและพูดตอบโต้เสียงดังว่า พลเรือนและเด็กเล็กมากมายของอิสราเอลถูกฮามาสสังหารเมื่อวันที่ 7 ซึ่งถือเป็นการโจมตีนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์อิสราเอล

โคเฮนยังพยายามแก้ต่างว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการยึดครอง โดยบอกว่า อิสราเอลยกกาซาให้ปาเลสไตน์ไปตั้งแต่ถอนทหารออกมาในปี 2005

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากนั้นไม่นานอิสราเอลได้เริ่มการปิดล้อมอย่างเข้มงวดทารุณต่อดินแดนที่มีประชาชนชาวปาเลสไตน์จำนวน 2.3 ล้านคนอาศัยกันอย่างยากแค้นแห่งนี้ นับจากที่ฮามาสมีอำนาจเข้าปกครองกาซา นอกจากนั้น เวสต์แบงก์ซึ่งเป็นอีกดินแดนหนึ่งที่เหลืออยู่ของชาวปาเลสไตน์ ก็ยังคงอิสราเอลยึดครองไว้จนถึงขณะนี้

ทางด้าน กิลาด เออร์แดน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำยูเอ็น ยังเรียกร้องผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ให้กูเตียร์เรสลาออก เนื่องจากแสดงความเข้าอกเข้าใจกลุ่มก่อการร้ายและฆาตกร

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของอิสราเอล นักรบฮามาสจู่โจมข้ามพรมแดนไปในอิสราเอลและโจมตีเป้าหมายด้านพลเรือนเป็นส่วนใหญ่เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ได้สังหารประชาชนราว 1,400 คน รวมทั้งจับตัวประกันกว่า 220 คนกลับไปกาซา

ส่วนปาเลสไตน์แถลงว่า จนถึงเวลานี้มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซากว่า 5,700 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน จากปฏิบัติการแก้แค้นของอิสราเอล

กูเตียร์เรส ซึ่งได้เดินทางไปยังอียิปต์และกาซาเพื่อผลักดันการส่งความช่วยเหลือเข้าสู่กาซา แสดงความยินดีที่สามารถลำเลียงขบวนความช่วยเหลือ 3 ขบวนผ่านจุดผ่านแดนราฟาห์ของอียิปต์ แต่สำทับว่า ความช่วยเหลือเหล่านั้นเป็นแค่เศษเสี้ยวของที่ชาวกาซาต้องการ ขณะที่หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ของยูเอ็นเตือนว่า อาจต้องหยุดภารกิจตั้งแต่คืนวันพุธ (25 ต.ค.) เนื่องจากขาดแคลนเชื้อเพลิง

เลขาธิการยูเอ็น ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส ยังย้ำข้อเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมทันที เพื่อให้จัดส่งความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้นและปลอดภัยขึ้น รวมถึงอำนวยความสะดวกในการปล่อยตัวประกัน

ทว่า อิสราเอลที่มีอเมริกาหนุนหลัง ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยอ้างว่า จะทำให้ฮามาสมีเวลาระดมกำลังกลับมาสู้รบใหม่ รวมทั้งยืนยันว่า จะปิดกั้นการจัดส่งเชื้อเพลิงให้กาซา

สัปดาห์ที่แล้วอเมริกาใช้อำนาจยับยั้งร่างญัตติเกี่ยวกับวิกฤตกาซาที่พิจารณากันอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคง โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้มีการสนับสนุนสิทธิของอิสราเอลในการตอบโต้ฮามาสอย่างเพียงพอ

ในวันอังคาร แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ขอให้คณะมนตรีสนับสนุนร่างญัตติของอเมริกาที่ระบุถึงการปกป้องสิทธิดั้งเดิมของทุกรัฐในการป้องกันตนเอง พร้อมเรียกร้องให้ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และสนับสนุน “การหยุดพักเพื่อมนุษยธรรม” เพื่อลำเลียงความช่วยเหลือเข้าสู่กาซา ซึ่งวลีนี้โดยทั่วไปแล้วหมายถึงการพักรบอย่างไม่เป็นทางการและในระยะเวลาสั้นกว่าการหยุดยิง

บลิงเคนย้ำว่า ไม่มีสมาชิกประเทศไหนในคณะมนตรีที่สามารถยอมรับการสังหารหมู่ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของอเมริกาอธิบายว่า วอชิงตันเชื่อว่าการหยุดเพื่อมนุษยธรรมที่เชื่อมโยงกับการส่งความช่วยเหลือ โดยที่อิสราเอลยังสามารถใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อป้องกันตนเอง เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา

ทว่า วาสซิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น คัดค้านร่างของอเมริกาทันควัน โดยระบุว่า ทั่วโลกคาดหวังให้คณะมนตรี เรียกร้องการหยุดยิงโดยไม่มีเงื่อนไขทันที

แม้แต่ไคโรที่เป็นพันธมิตรของวอชิงตันยังออกมาประณาม โดยซาเมห์ ชูกรี รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ กล่าวว่า เสียใจที่คณะมนตรีล้มเหลวเป็นครั้งที่ 2 ในการผลักดันมติหรือเรียกร้องการหยุดยิงเพื่อให้สงครามนี้จบลง

ริยาด อัล-มาลิกิ รัฐมนตรีต่างประเทศปาเลสไตน์ โจมตีว่า การที่คณะมนตรีไม่ดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัย

อัยมาน ซาฟาดี รัฐมนตรีต่างประเทศจอร์แดน ขานรับว่า คณะมนตรีต้องแสดงจุดยืนชัดเจนเพื่อให้ความมั่นใจกับชาวอาหรับและชาวมุสลิม 2,000 ล้านคนว่า จะมีการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

(ที่มา : เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น