Gaza-Israel war: unwinding Britain’s knotted ball of mutual hate
By JONATHAN GORNALL
18/10/2023
สหราชอาณาจักรได้สร้างสถานการณ์ที่ไม่มีทางเป็นไปได้ขึ้นมา ซึ่งเป็นปมเงื่อนยุ่งยากซับซ้อนที่ยังคงหาทางคลี่คลายกันไม่ได้จวบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ และในไม่ช้าไม่นานแม้กระทั่งสหราชอาณาจักรเองก็เริ่มตระหนักซาบซึ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้
ในเวลาเฉกเช่นขณะนี้ ผู้คนย่อมบังเกิดความลังเลใจเมื่อพยายามเจาะลึกเข้าไปพิจารณาความถูกและความผิดของโศกนาฏกรรมที่กำลังพัฒนาคลี่คลายออกมาให้เห็นกันในอิสราเอลและในกาซา แต่แน่นอนทีเดียวว่า มันเป็นเรื่องเลวร้ายยิ่งกว่านักหนาถ้าหากเราจะปล่อยตัวไปตามอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร้จุดหมาย เข้าไปร่วมอยู่ในการประณามก่นด่าตอบโต้กันซึ่งอิงอยู่กับทัศนะมุมมองอันคับแคบ ที่มองย้อนหลังไปไม่ได้ไกลเกินกว่าผรุสวาจาด้วยความโกรธเกรี้ยวครั้งหลังสุดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ถึงอย่างไร ประวัติศาสตร์ก็สามารถบอกกล่าวแก่เราได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า เมื่อสาวไปถึงที่สุดแล้วเราสมควรที่จะประณามกล่าวโทษใครที่ตรงไหน สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นเพียงผลพวงต่อเนื่องระลอกหลังสุดของความวิบัติหายนะตลอดกาลที่ริเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 1 ศตวรรษที่แล้ว จากความสับปลับฉ้อฉลของรัฐบาลสหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรซึ่งอยู่ในสภาพหลังชนกำแพง ในช่วงดุเดือดสูงสุดของมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีผลประโยชน์ต่างๆ ของตนเองอยู่ในใจ เมื่อตอนที่ (ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1917) รัฐมนตรีต่างประเทศ อาร์เธอร์ บัลโฟร์ (Arthur Balfour) ของพวกเขา เขียนจดหมายที่จะกลายเป็นตัวชี้ชะตาอนาคตต่อไปข้างหน้า ไปถึงลอร์ดรอธส์ไชด์ (Lord Rothschild) ทายาทของตระกูลนายธนาคารใหญ่ระดับระหว่างประเทศ และก็เป็นชาวสหราชอาณาจักรผู้สนับสนุนขบวนการฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์ (Zionist) คนสำคัญยิ่งคนหนึ่ง
คำประกาศบัลโฟร์ หรือปฏิญญาบัลโฟร์ (Balfour Declaration) อย่างที่จดหมายฉบับนี้จะเป็นที่รู้จักจดจำกันในเวลาต่อมา ประกาศว่า “รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (แห่งสหราชอาณาจักร) มีความเห็นในทางนิยมชมชอบกับการสถาปนามาตุภูมิแห่งชาติสำหรับประชาชนชาวยิวแห่งหนึ่งขึ้นมาในดินแดนปาเลสไตน์ และจะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดของพวกตนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ความสำเร็จของวัตถุประสงค์ข้อนี้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://avalon.law.yale.edu/20th_century/balfour.asp)
ทั้งรัฐบาลสหราชอาณาจักร และรัฐชาวยิวซึ่งในที่สุดแล้วก็หยั่งรากปักฐานขึ้นมาได้สำเร็จโดยอาศัยเอกสารฉบับนี้ ในไม่ช้าไม่นานต่างก็พากันหลงลืมเงื่อนไขที่ระบุเอาไว้ด้วยว่า “จักต้องไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่สิทธิพลเมืองและสิทธิทางศาสนาของพวกชุมชนที่มิใช่ชาวยิวซึ่งดำรงคงอยู่ก่อนแล้วในปาเลสไตน์”
ทางสหราชอาณาจักรนั้นแทบไม่ได้สนอกสนใจอะไรเกี่ยวกับความทะเยอทะยานของพวกนักลัทธิฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์ ที่จะก่อตั้งดินแดนมาตุภูมิสำหรับชาวยิวขึ้นมาในอาณาบริเวณที่พวกเขาถือว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา แรงจูงใจของสหราชอาณาจักรคือการหาทางให้ได้รับความสนับสนุนทางการเงินและทางการเมืองจากชาวยิวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพล สำหรับสงครามที่สหราชอาณาจักรกำลังรบราอยู่กับเยอรมนีในตอนนั้น
แน่นอนทีเดียว มันเป็นภาพลักษณ์เปรียบเทียบ ซึ่งถือกันว่าเป็นแนวคิดแบบต่อต้านชาวยิวที่จะต้องถูกประณาม ถ้าหากเราขืนเสนอแนะว่า “ชาวยิว” มี หรือว่าเคยมีอิทธิพลอย่างมากมายเหลือล้นไม่ว่าในรูปแบบใดๆ เหนือกิจการทางการเมืองหรือกิจการทางการเงินของชาติต่างๆ อย่างไรก็ดี มันคือข้อเท็จจริง ไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิดเลย ที่เราจะบอกว่าในช่วงดุเดือดสูงสูงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาวยิวผู้ทรงอำนาจในสหรัฐฯ และในสหราชอาณาจักร ประสบความสำเร็จในการผลักดันความเรียกร้องต้องการของชาวลัทธิฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์ที่จะให้ก่อตั้งมาตุภูมิของชาวยิวขึ้นในปาเลสไตน์ เข้าไปจนถึงแวดวงระดับสูงสุดของรัฐบาลของประเทศทั้งสอง
ในสหรัฐฯ นั้น ผู้พิพากษาศาลสูงสุด ลูอิส แบรนเดส (Louis Brandeis) เพื่อนและพันธมิตรทางการเมืองคนหนึ่งของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญยิ่งคนหนึ่งในเรื่องแนวความคิดก่อตั้งมาตุภูมิสำหรับชาวยิวขึ้นมาใหม่ในปาเลสไตน์ คือผู้ที่มีอิทธิพลสูงที่สุดต่อนโยบายอเมริกันในประเด็นปัญหานี้ โดยที่เขายังได้ทำงานร่วมมือกันโดยตรงกับบัลโฟร์อีกด้วย
เรื่องที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กัน -แต่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏอยู่ในเอกสารต่างๆ ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเวลานี้เก็บรักษาเอาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (National Archives)— ก็คือว่า ปฏิญญาบัลโฟร์ เมื่อตอนที่ยังเป็นฉบับร่าง ได้ถูกยื่นเสนออย่างลับๆ เพื่อขอความเห็นชอบจากชาวยิวชั้นนำในสหราชอาณาจักรจำนวน 10 คนเมื่อเดือนตุลาคม 1917 บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นนักลัทธิฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์คนสำคัญๆ ทั้งสิ้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://balfourproject.org/bp/wp-content/uploads/2014/09/War-cabinet-minutes-Oct-1917.pdf)
หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือ ลอร์ดรอธส์ไชด์ ผู้ซึ่งจดหมายที่เป็นปฏิญญาบัลโฟร์ฉบับเสร็จสมบูรณ์ จะจ่าหน้าส่งไปถึงเขาในท้ายที่สุด ในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์หลังจากนั้น อีกคนหนึ่งคือเพื่อนของเขาที่ชื่อ ชาอิม ไวซ์มานน์ (Chaim Weizmann) ประธานขององค์การนักลัทธิฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์ (Zionist Organization) บุคคลผู้นี้เกิดในรัสเซีย และต่อไปจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอิสราเอล
เล่นเล่ห์เพทุบายต่อต้านออตโตมัน
แน่นอนทีเดียว กระทั่งในขณะที่พวกเขากำลังเกี้ยวพาพวกนักลัทธิฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์ของโลกอยู่นี้เอง ฝ่ายสหราชอาณาจักรซึ่งประสบความสำเร็จในการกระตุ้นส่งเสริมให้ชาวอาหรับลุกฮือก่อกบฏต่อต้านผู้ปกครองชาวเติร์ก ยังได้ไปให้สัญญาเอาไว้แล้วกับทาง ชาริฟ แห่งเมกกะ (Sharif of Mecca) ว่า ชาวอาหรับสามารถที่จะมีมาตุภูมิที่เป็นเอกราชของพวกเขาเองได้ บนดินแดนซึ่งจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) ของชาวเติร์ก จะถูกขับไล่ออกไปในไม่ช้าไม่นานหลังจากความพ่ายแพ้ปราชัยของพวกเขา
ราวกับว่าการทรยศตีสองหน้าเช่นนี้ยังไม่เพียงพอ ในปี 1916 สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสยังได้ลงนามกันในความตกลงไซค์ส-ปิโค (Sykes-Picot Agreement) ที่เป็นข้อตกลงลับซึ่งพวกเขาตกลงกันว่าจะเฉือนแบ่งดินแดนของออตโตมันกันอย่างไรหลังจากสงครามสิ้นสุดลง
และแล้วเมื่อสันนิบาตชาติ (League of Nations) ที่ก่อตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีมติมอบหมายให้อาณัติแก่สหราชอาณาจักรในการเข้าปกครองดูแลดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งเฉือนออกมาจากจักรวรรดิออตโตมันผู้พ่ายศึกและอยู่ในสภาพแตกสลาย สหราชอาณาจักรก็ได้แสดงความคดในข้องอในกระดูก ไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่พวกอาหรับ อันเป็นการทรยศหักหลังซึ่ง ที อี ลอว์เรนซ์ (T E Lawrence ผู้เป็นที่รู้จักกันในสมญานามว่า ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย) ผู้ปลุกเร้าชาวอาหรับให้ลุกขึ้นสู้ออตโตมัน ต้องประกาศในเวลาต่อมาว่า มันทำให้ตัวเขาเองตกอยู่ใน “ความอับอายอย่างขมขื่นและยาวนานต่อเนื่อง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/world/2022/oct/30/revealed-te-lawrence-felt-bitter-shame-over-uks-false-promises-of-arab-self-rule)
การอพยพของชาวยิวเข้าไปอยู่ที่ปาเลสไตน์ ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อเป็นการตอบโต้กับการการที่พวกเขาถูกฟ้องร้องกล่าวโทษในรัสเซีย ได้เพิ่มทวีขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงปีแรกๆ ซึ่งสหราชอาณาจักรได้รับอาณัติปกครองดูแลปาเลสไตน์ และสัญญาณเริ่มแรกของความตึงเครียดระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับก็ปรากฏออกมาให้เห็นกันในไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้น โดยที่เมื่อเดือนเมษายน 1920 ได้เกิดการจลาจลปะทุขึ้นเป็นครั้งแรกในนครเยรูซาเลม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://becc.bristol.gov.uk/records/2008/059/001)
สหราชอาณาจักรได้สร้างสถานการณ์ที่ไม่มีทางเป็นไปได้ขึ้นมา ซึ่งเป็นปมเงื่อนยุ่งยากซับซ้อนที่ยังคงหาทางคลี่คลายกันไม่ได้จวบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ และในไม่ช้าไม่นานแม้กระทั่งสหราชอาณาจักรเองก็เริ่มตระหนักซาบซึ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้
ในเดือนมกราคม 1915 เพียง 2 เดือนหลังจากสหราชอาณาจักรประกาศสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน เฮอร์เบิร์ต ซามูเอล (Herbert Samuel) ชาวยิวผู้ปฏิบัติตามหลักศาสนายิวอย่างเปิดเผยคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร มองเห็นความเป็นไปได้ที่จะอาศัยช่องทางจากการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ ในการเดินหน้าผลักดันอุดมการณ์ของนักลัทธิฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์ เขาได้เผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่งภายในคณะรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “อนาคตของปาเลสไตน์” (The Future of Palestine)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Future_of_Palestine#/media/File:Future_of_Palestine_Herbert_Samuel_memorandum_1915_CAB_37_123_43.jpg)
ในเอกสารฉบับนี้ ซามูเอลรบเร้าให้รัฐบาลพิจารณาผนวกดินแดนปาเลสไตน์ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง แล้วเปิดให้ชาวยิวอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน เขาบอกว่า การทำเช่นนี้ “จะเป็นชัยชนะสำหรับอังกฤษจากการที่ชาวยิวตลอดทั่วโลกจะรู้สึกสำนึกบุญคุณไปตลอดกาล” โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยิว “ในสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขามีจำนวนราวๆ 2 ล้านคน”
ภายหลังสงคราม ซามูเอลได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงใหญ่ของสหราชอาณาจักรประจำปาเลสไตน์ ในความเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรช่างไม่มีความตระหนักถึงความอ่อนไหวของประเด็นปัญหานี้ อย่างพิเศษผิดธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง
การแต่งตั้งคราวนั้น กระทั่งรัฐบาลทหารสหราชอาณาจักรแห่งปาเลสไตน์ในช่วงหลังสงครามยังรู้สึกได้ถึงอันตราย จอมพลเอดมันด์ อัลเลนบี (Field Marshal Edmund Allenby) เขียนเอาไว้ว่า ชาวอาหรับจะมองการแต่งตั้งนี้ว่าเป็น “การส่งมอบประเทศอย่างสำเร็จเสร็จสิ้นในทันทีให้แก่คณะบริหารถาวรของนักลัทธิฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์” ขณะที่สมาคมชาวมุสลิม-ชาวคริสเตียน (Muslim-Christian Society) กล่าวเตือนว่า “ไม่สามารถที่จะแบกรับความรับผิดชอบได้ ถ้าหากเกิดการจลาจลหรือการกระทำที่เป็นการรบกวนสันติภาพอย่างอื่นๆ ขึ้นมา”
(ความเห็นของอัลเลนบี ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=1650658)
(คำแถลงของสมาคมชาวมุสลิม-ชาวคริสเตียน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.palestine-studies.org/en/node/1648029)
แต่ขณะที่จำนวนชาวยิวในปาเลสไตน์ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ มันก็ไม่มีการหวนกลับอีกแล้ว เสียงโหวตในสหประชาชาติเห็นชอบกับแผนการแยกดินแดน ซึ่งวาดภาพคาดอนาคตให้มี “รัฐอาหรับที่เป็นเอกราช รัฐชาวยิวที่เป็นเอกราช” และ “คณะกรรมการระหว่างประเทศทำหน้าที่ดูแลอารักขานครเยรูซาเลม (international trusteeship for the City of Jerusalem) ได้นำไปสู่สงครามกลางเมืองในปี 1947 ขณะที่พอถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 สหราชอาณาจักรก็ประกาศชูมือยอมแพ้ และล่าถอยถอนตัวออกไปจากดินแดนปาเลสไตน์
วันรุ่งขึ้น เดวิด เบน-กูเรียน (David Ben-Gurion) ประธานขององค์การนักลัทธิฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์โลก (World Zionist Organization) ก็ประกาศการก่อตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นมา
ถ้าหากความพยายามเพื่อยุติวัฏจักรแห่งความรุนแรงที่ดูราวกับไม่สามารถหยุดยั้งลงได้นี้ ช่างแลดูเหมือนกับว่ามันเป็นสิ่งซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เอาเสียเลย นั่นก็เนื่องจากว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ แทบจะเป็นการแน่นอนอยู่แล้ว ทั้งนี้ แผนการริเริ่มต่างๆ มากมายที่ออกแบบวางแผนกันขึ้นมาเพื่อหวังคลี่คลายเงื่อนปมแห่งความเกลียดชังซึ่งกันและกันและความไม่วางใจซึ่งกันและกัน ล้วนแต่ไม่มีอันไหนเลยที่จะประสบความสำเร็จ
เวลานี้ จากการที่ฮามาสโจมตีใส่อิสราเอลอย่างนองเลือดและอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร และการที่อิสราเอลล้างแค้นเอาคืนในกาซาซึ่งก็เป็นไปอย่างนองเลือดและอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควรพอๆ กัน โศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงยังคงดำเนินต่อไป นำเอาคนในอีกรุ่นอายุหนึ่งเข้ามาในการต่อสู้อันไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งไม่มีใครเลยสามารถที่จะเป็นผู้ชนะ
(บทความนี้ในพากย์ภาษาอังกฤษ มาจาก ซินดิเคชั่น บูโร Syndication Bureau)
โจนาธาน กอร์แนลล์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวสหราชอาณาจักร ที่เคยทำงานกับหนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ เขาเคยพำนักอาศัยและทำงานในตะวันออกกลางจวบจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบันเขาตั้งฐานอยู่ที่สหราชอาณาจักร