xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหารพารากอนเติมพลังใจพนักงาน กู้ภาพลักษณ์-ความมั่นใจ หลังเหตุเยาวชนกราดยิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บทความในไทยรัฐเผย "ชฎาทิพ จูตระกูล" ผู้บริหารสูงสุดสยามพารากอน เลี้ยงขอบคุณและเติมพลังใจให้พนักงาน ชี้ 18 ปีที่ผ่านมาผ่านร้อนผ่านหนาวแต่สู้ด้วยใจ เหตุกราดยิงฝึกซ้อมตลอด ใช้เวลาอพยพ 8 หมื่นคนใน 20 นาที สิ่งที่ทำต่อไปคือฟื้นภาพลักษณ์และความมั่นใจของประเทศ ย้ำเหตุการณ์ 45 นาที ไม่ทำให้แพ้หรือหมดกำลังใจ

วันนี้ (20 ต.ค.) คอลัมน์ “เหะหะพาที” ของผู้ใช้นามปากกาว่า “ซูม” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 และ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เขียนบทความถึง นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มสยามพิวรรธน์ ผู้บริหารสูงสุดของศูนย์การค้าสยามพารากอน กล่าวในงานเลี้ยงขอบคุณและเติมพลังใจให้พนักงาน หลังเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เยาวชนรายหนึ่งใช้สิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงกราดยิงภายในศูนย์การค้า ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 4 ราย เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา

นางชฎาทิพกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของสยามพารากอน มาจากที่ดินซึ่งเคยเป็นโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรมระดับ 5 ดาว คณะผู้บริหารตัดสินใจสร้างศูนย์การค้าขึ้นด้วยเป้าหมายที่ไกลเกินกว่าการสร้างกำไรให้กับธุรกิจ แต่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวของไทยควบคู่ไปด้วย โดยสร้างสรรค์ให้เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก (Global Destination) และเป็นแลนด์มาร์กใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นที่ยอมรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ

ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา สยามพารากอนประสบความสำเร็จ ในปี 2559 ได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์กลางแห่งการชอปปิ้งระดับโลกติดอันดับ 6 สถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเช็กอินสูงสุดในโลก และเป็นสถานที่เดียวในเอเชียที่ติดอันดับ 1 ใน 10 จากการจัดอันดับของ Facebook Review เมื่อปี 2558 ชนะสถานที่สำคัญทั่วโลกมากมาย รวมทั้งยังเป็นหนึ่งใน Global Instragram ในปี 2015 ที่มีคนมาถ่ายรูปแล้วโพสต์มากที่สุดของโลกในปีนั้น

"สยามพารากอนเป็นศูนย์การค้าเดียวที่สามารถดึงดูดจำนวนลูกค้าได้โดยเฉลี่ยวันละ 250,000 คน และใน 250,000 คนนั้นเป็นนักท่องเที่ยวถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ... นั่นหมายถึงว่าตลอดทั้งปีสยามพารากอนมีลูกค้ามาเยี่ยมชมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน และเป็นนักท่องเที่ยวถึง 30 ล้านคน นับว่าเราได้บรรลุปณิธานของการเป็นโครงการที่ดีที่สุดโครงการหนึ่งของโลก สามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้มาประเทศไทยได้ดังที่เคยตั้งความหวังไว้ ไม่น่าเชื่อเลยว่าเราสามารถทำได้ถึงขนาดนี้" นางชฎาทิพกล่าว

นางชฎาทิพกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่สยามพารากอนซึ่งอยู่คู่กรุงเทพฯ มา 18 ปี ย่อมต้องผ่านร้อนผ่านหนาวร่วมกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเกิดอะไรจะต้องเกิดที่นี่ ต้องถือว่าได้รับเกียรติที่จะได้พิสูจน์ความสามารถของพวกเราทุกคน คงเป็นสถานที่เดียวที่สามารถเอาชนะทุกวิกฤตการณ์ได้ และก้าวออกมาได้อย่างสง่างาม แม้ในบางครั้งกลายเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดที่สุด แต่ก็ผ่านมาได้ เพราะเราสู้ทั้งที่ไม่มีอาวุธ สู้ด้วยใจ ทำให้ผู้บุกรุกเหล่านั้นถอนตัวออกไปได้

"พนักงาน 300 กว่าคนบอกว่าไม่กลับบ้าน พนักงานออฟฟิศยุคนั้นกว่า 600 คนก็ไม่หยุดทำงาน ผู้บริหารก็ผลัดกันมานอนเป็นเพื่อนพนักงาน เพราะทุกคืนมีเรื่องเกิดขึ้นได้ตลอด เราถึงสามารถรอดปลอดภัยยืนอยู่มาได้จนถึงวันนี้ พนักงานยังมีอาชีพ บริษัทก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ทุกวันนี้เพราะความเสียสละของพวกเราทุกคน" นางชฎาทิพกล่าว

นางชฎาทิพยังกล่าวถึงเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า เป็นบททดสอบที่น่าสะพรึงกลัวและรุนแรง แต่ได้เตรียมตัวรับเรื่องแบบนี้มาตลอดเวลา จึงมีการฝึกซ้อมพนักงานร่วมกับบรรดาผู้เช่าตลอด ทั้งเหตุกราดยิงและเหตุจับตัวประกัน หลังเคยเกิดขึ้นที่ต่างประเทศ และโคราช (นครราชสีมา) ทีมรักษาความปลอดภัยมีมาตรการ มีวัสดุอุปกรณ์พร้อมเพรียง มีความรู้ มีความสามารถและมีใจ เพราะต้องดูแลบรรดาร้านค้า ลูกค้า และพนักงานทั้งหมด

เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถอพยพคนออกจากศูนย์การค้าไม่ต่ำกว่า 80,000 คน ได้ภายในเวลา 20 นาที บรรดาร้านค้าทำตามนโยบายและระเบียบปฏิบัติได้ทันเวลา ซึ่งในทุกวิกฤตเวลาคือสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าจัดการได้รวดเร็ว ความเสียหายจะลดลง คนในศูนย์การค้าได้รับการดูแล พนักงานช่วยจัดการอพยพให้ทุกคนออกจากอาคารโดยเร็วที่สุด ทำได้ครบถ้วน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต้องเป็นเครื่องเตือนใจ น้อมรับและนำมาปรับปรุงการทำงานในทุกส่วนให้ดียิ่งขึ้น ที่ต้องทำต่อไป คือ ภาพลักษณ์ของประเทศ เมื่อเกิดเหตุการณ์ในสถานที่ของเรา เรามีภารกิจที่จะต้องกอบกู้ภาพลักษณ์และความมั่นใจในประเทศไทยกลับคืนมาให้ได้

"หน้าที่นี้ไม่ใช่จะทำไม่ได้ เพราะพวกเราทำกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า เราเจอทุกอย่าง เราเจอมากกว่าใคร แต่ทุกครั้งเราไม่เคยปล่อยให้ความกลัวมาทำให้เราแพ้ เราจะทำให้สยามพารากอนเป็นที่หนึ่งในใจคนไทยและคนทั้งโลกได้อย่างไร? เราทำสำเร็จมา 18 ปี และอยู่มาทุกยุคทุกสมัย เราจะไม่ทำให้เหตุการณ์ครั้งเดียว 45 นาที มาทำให้เราแพ้หรือหมดกำลังใจ สยามพารากอนและประเทศไทยจะกลับมายืนอย่างสง่างามได้ตลอดไป" นางชฎาทิพกล่าว

คลิกเพื่ออ่านบทความต้นฉบับ วันที่ 19 ต.ค. 2566 และ วันที่ 20 ต.ค. 2566

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้ สยามพารากอนได้ออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือแก่ผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวจีน และลูกจ้างชาวเมียนมา รายละ 5 ล้านบาท และเยียวยาผู้บาดเจ็บรายละ 300,000 บาท สมทบกับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยคาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูและส่งเสริมความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทย และแสดงถึงน้ำใจอันดีงามของคนไทย ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและผู้ประสบภัย

สำหรับศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กับ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ด้วยเงินลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2548 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน เป็นอาคารสูง 8 ชั้น และชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น พร้อมอาคารจอดรถกว่า 4,000 คัน พื้นที่รวมกว่า 500,000 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วย ศูนย์การค้าที่รวมร้านค้าแบรนด์ดัง, ห้างพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ขนาด 16 โรงภาพยนตร์, ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม รอยัลพารากอนฮอลล์, พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ซี ไลฟ์ โอเชียน เวิลด์ กรุงเทพฯ, โรงแรมสยาม เคมปินสกี กรุงเทพ และลานพาร์คพารากอน มีทางเชื่อมกับศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม
กำลังโหลดความคิดเห็น