INSIGHT-Israel's endgame? No sign of post-war plan for Gaza
By Samia Nakhoul, Matt Spetalnick and Alexander Cornwell, REUTERS
18/10/2023
ทั้งพวกผู้ช่วยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และพวกเจ้าหน้าที่ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ทราบเรื่องดี ต่างพูดกันว่า ขณะที่อิสราเอลอาจจะวางแผนการทรงประสิทธิภาพขึ้นมาเพื่อสร้างความเสียหายให้แก่ฮามาสอย่างชนิดยืนยาวถาวร แต่พวกเขายังไม่ได้พิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการถอนตัวออกมา (exit strategy) นั่นคือ หลังจากชนะศึกแล้ว พวกเขาจะทำอย่างไรต่อไปกับดินแดนฉนวนกาซา
ดูไบ/วอชิงตัน (รอยเตอร์) – อิสราเอลกำลังประกาศคำโตที่จะทำลายกลุ่มฮามาสให้ราบเรียบ ด้วยการบุกเข้าไปในดินแดนฉนวนกาซาเพื่อโจมตีกวาดล้างอย่างดุเดือดรุนแรงแบบไร้ความปรานี ทว่ากลับมองไม่ค่อยเห็นว่ามีการกำหนดแนวทางเพื่อการปิดเกม โดยไม่ได้มีแผนการอันชัดเจนใดๆ เกี่ยวกับวิธีการเข้าปกครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ซึ่งจะต้องแหลกลาญยับเยินยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแห่งนี้ กระทั่งถ้าหากกองทัพรัฐยิวประสบชัยชนะเป็นผู้พิชิตในสมรภูมิ
การปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลที่ใช้ชื่อรหัสว่า “ยุทธการดาบเหล็กกล้า” (Operation Swords of Iron) ครั้งนี้ จะเต็มไปด้วยความเหี้ยมเกรียมดุร้ายอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะไม่เหมือนกับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นที่อิสราเอลเคยกระทำกับกาซาในอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตามปากคำของพวกเจ้าหน้าที่ทั้งระดับภูมิภาคและของฝ่ายตะวันตกรวม 8 คนซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ แต่ขอให้สงวนนามพวกเขาเอาไว้สืบเนื่องจากความอ่อนไหวของเรื่องนี้
เวลานี้อิสราเอลได้เรียกระดมกำลังพลสำรองเข้าเป็นทหารประจำการ เป็นจำนวนถึง 360,000 คนซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นประวติการณ์ อีกทั้งกำลังถล่มโจมตีทิ้งระเบิดใส่ดินแดนซึ่งมีขนาดเล็กๆ แห่งนี้แบบนอนสต็อป หลังจากที่กลุ่มฮามาสบุกจู่โจมภาคใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปเป็นจำนวนราวๆ 1,400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาค 3 รายที่มีความคุ้นเคยกับการหารือกันระหว่างสหรัฐฯ กับพวกผู้นำในภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุทธศาสตร์ในเฉพาะหน้านี้ของอิสราเอล คือ มุ่งทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของดินแดนกาซา แม้กระทั่งจะต้องทำให้พลเรือนเกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างสูงลิ่วก็ตามที ผลักดันประชาชนในดินแดนเล็กๆ แห่งนี้ให้เคลื่อนย้ายลงใต้ไปทางชายแดนติดต่อกับอียิปต์ และไล่ล่าพวกฮามาสด้วยการทำลายล้างระบบอุโมงค์ใต้ดินสุดสลับซับซ้อนอย่างกับเขาวงกต ซึ่งกลุ่มนี้ได้จัดสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ดำเนินการปฏิบัติการของพวกเขา
กระนั้นก็ตามที พวกเจ้าหน้าที่อิสราเอลบอกว่า พวกเขายังไม่ได้มีไอเดียที่ชัดเจนหรอกว่า ภายหลังเสร็จศึกคราวนี้แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนั้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร
พวกผู้ช่วยบางคนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กำลังแสดงความกังวลกันว่า ขณะที่อิสราเอลอาจจะวางแผนการทรงประสิทธิภาพขึ้นมาเพื่อสร้างความเสียหายให้แก่ฮามาสอย่างชนิดยืนยาวถาวร แต่พวกเขายังไม่ได้พิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการถอนตัวออกมา (exit strategy) นี่เป็นคำกล่าวของแหล่งข่าวรายหนึ่งในกรุงวอชิงตันที่มีความคุ้นเคยกับเรื่องนี้
ทริปเดินทางไปเยือนอิสราเอลของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน และรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน ของสหรัฐฯในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มุ่งไปเน้นย้ำให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องโฟกัสเรื่องแผนการสำหรับกาซาในช่วงหลังสงคราม แหล่งข่าวรายนี้กล่าวต่อ
ทางเจ้าหน้าที่หลายรายของฝ่ายอาหรับก็รู้สึกตื่นกลัวขึ้นมาเช่นกัน จากการที่อิสราเอลยังไม่ได้กำหนดแผนการอันชัดเจนสำหรับอนาคตของดินแดนแห่งนี้ ซึ่งถูกปกครองโดยฮามาสมาตั้งแต่ปี 2006 และเป็นถิ่นพำนักอาศัยของผู้คนจำนวน 2.3 ล้านคน
“อิสราเอลไม่ได้มีแผนปิดเกมสำหรับกาซา ยุทธศาสตร์ของพวกเขาคือการทิ้งระเบิดเป็นพันๆ หมื่นๆ ลูก ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้ราบเรียบ แล้วก็ยกกำลังบุกเข้าไป แต่จากนั้นแล้วจะเป็นยังไงต่อไปล่ะ? พวกเขาไม่ได้มียุทธศาสตร์เพื่อการถอนตัว สำหรับนำมาใช้ในวันถัดๆ มา” แหล่งข่าวด้านความมั่นคงระดับภูมิภาครายหนึ่งบอก
การรุกรานของอิสราเอลยังไม่ทันได้เริ่มต้นขึ้น แต่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของกาซาแถลงว่า มีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารไปแล้ว 3,500 คนจากการถล่มทิ้งระเบิดและสาดกระสุนปืนใหญ่และลูกจรวดของฝ่ายอิสราเอล โดยราวๆ หนึ่งในสามของเหยื่อเหล่านี้คือเด็กๆ ซึ่งเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงกว่าในการสู้รบขัดแย้งระหว่างฮามาสกับอิสราเอลคราวก่อนๆ ไม่ว่าครั้งไหน
ไบเดน ซึ่งเดินทางไปเยือนอิสราเอลเป็นช่วงสั้นๆ เมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) ได้บอกกับฝ่ายอิสราเอลว่า จำเป็นต้องทำให้ฮามาสชดใช้อย่างสาสมกับความผิดที่พวกเขากระทำ กระนั้นเขาก็เตือนให้ระมัดระวัง โดยชี้ว่าภายหลังเกิดเหตุการณ์โจมตีนิวยอร์ก ในวันที่ 11 กันยายน 2001 (เหตุการณ์ 9/11) แล้ว สหรัฐฯ ได้กระทำความผิดพลาดหลายๆ ประการ
“ชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ที่สุดนั้นไม่ได้เป็นพวกฮามาส” เขากล่าว “ฮามาสไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนชาวปาเลสไตน์”
แอรอน เดวิด มิลเลอร์ (Aaron David Miller) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตะวันออกกลาง ที่ทำงานกับกลุ่มคลังสมอง “มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ” (Carnegie Endowment for International Peace) พูดถึงการเยือนของไบเดนว่า จะทำให้เขามีโอกาสกดดัน เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ให้ขบคิดอย่างรอบคอบในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างเช่น สัดส่วนของการใช้กำลัง และแผนการระยะยาวต่อไปสำหรับกาซา ก่อนที่จะยกกำลังเข้ารุกรานกาซา
“เมืองแห่งอุโมงค์”
พวกเจ้าหน้าที่อิสราเอล รวมทั้งเนทันยาฮู ประกาศว่าพวกเขาจะกวาดล้างฮามาสเพื่อล้างแค้นให้แก่การเข่นฆ่าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งกลายเป็นการโจมตีของกลุ่มนักรบครั้งที่ก่อให้เกิดการนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์อายุ 75 ปีของประเทศอิสราเอล
ทว่าต่อจากนั้นจะทำอะไรกันต่อไป เป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีความชัดเจน
“แน่นอนอยู่แล้วว่า เรากำลังคิดเรื่องนี้กันอยู่และกำลังจัดการกับเรื่องนี้อยู่ และเรื่องนี้ต้องเกี่ยวข้องกับการประเมินผลต่างๆ และต้องครอบคลุมเอาทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฝ่ายทหาร และฝ่ายอื่นๆ เข้ามาด้วย เกี่ยวกับสถานการณ์ในตอนจบนี่จะเป็นยังไง” เป็นคำกล่าวของผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติอิสราเอล ซากี ฮาเนกบี (Tzachi Hanegbi) บอกกับพวกผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร (17) “เรายังไม่ทราบว่านี่จะเป็นยังไงด้วยความมั่นอกมั่นใจหรอก”
“แต่เราที่เราทราบแน่ๆ แล้ว ก็คือสิ่งที่มันจะไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว” เขากล่าว โดยอ้างอิงถึงจุดมุ่งหมายที่ประกาศออกมาของอิสราเอล ว่าต้องการกำจัดฮามาสให้สิ้นซากไป
กระนั้น กระทั่งเรื่องนี้มันก็ยังคงเข้าข่ายเป็นสิ่งที่พูดง่ายกว่าทำ
แหล่งข่าวระดับภูมิภาครายแรกบอกว่า ที่หลบซ่อนของพวกฮามาสนั้น “มันเป็นนครอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งทำให้อุโมงค์ของพวกเวียดกง (Vietcong) ดูเป็นของเด็กเล่นไปเลย” อันเป็นการอ้างอิงถึงกองกำลังจรยุทธ์ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่สามารถอาศัยระบบอุโมงค์ของตนในการหลบซ่อนและท้าทายเล่นเอาเถิดกับกองทหารสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ “พวกเขา (กองทัพอิสราเอล) ไม่สามารถจะกำจัดฮามาสให้หมดไป ด้วยการใช้รถถังและอำนาจการยิงหรอก”
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญทางการทหารระดับภูมิภาค 2 รายบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ฝ่ายกองกำลังของฮามาส ซึ่งใช้ชื่อว่า กองกำลังอาวุธ เอซเซดีน อัล-กัสซัม (Ezzedine al-Qassam Brigades) ได้ระดมกำลังเพื่อรับมือกับการรุกรานแล้ว รวมทั้งมีการติดตั้งทั้งพวกทุ่นระเบิดต่อสู้รถถัง และพวกกับระเบิดเล่นงานบุคคลเอาไว้ซุ่มตีกองทหาร
การรุกโจมตีของอิสราเอลที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้ ทำท่าจะมีขนาดใหญ่โตกว่าการปฏิบัติการในกาซาคราวก่อนๆ ของพวกเขาอย่างมากมาย โดยที่การปฏิบัติการในอดีตนั้น พวกเจ้าหน้าที่อิสราเอลเคยอ้างอิงเรียกขานกันว่าเป็น “การตัดหญ้า” ที่มุ่งบั่นทอนสมรรถนะทางทหารของฮามาส แต่ไม่ถึงขนาดประสงค์จะกำจัดพวกเขาให้สูญสิ้น
อิสราเอลเคยสู้รบกับฮามาสในความขัดแย้งก่อนหน้านี้มาแล้ว 3 ครั้ง คือ ในปี 2008-2009 ปี 2012 และปี 2014 โดยที่มี 2 ครั้งได้ส่งกำลังทหารเปิดการรุกรานทางภาคพื้นดินในขอบเขตจำกัด ทว่าในการรณรงค์เหล่านั้น พวกผู้นำอิสราเอลไม่เคยประกาศคำโตว่าจะทำลายฮามาสให้สิ้นซาก ไม่เหมือนกับในคราวนี้
ในการเผชิญหน้ากัน 3 หนนั้น มีฝ่ายปาเลสไตน์เสียชีวิตไปไม่ถึง 4,000 คน ส่วนฝ่ายอิสราเอลก็ตายกันไม่ถึง 100 คน
อย่างไรก็ดี ในวอชิงตันนั้นมองสถานการณ์ในแง่สดใสน้อยกว่า พวกเขาไม่ค่อยเชื่อว่าอิสราเอลจะสามารถทำลายพวกฮามาสลงได้อย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ รวมทั้งพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังแทบมองไม่เห็นเลยว่า อิสราเอลจะต้องการยึดพื้นที่กาซาส่วนใดๆ เอาไว้ อย่าว่าแต่กลับเข้าไปยึดครองดินแดนนี้เอาไว้ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง แหล่งข่าวสหรัฐฯ ของรอยเตอร์บอก
บุคคลผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้มากกว่า ก็คือกองกำลังอิสราเอลบุกเข้าไปเข่นฆ่าหรือกวาดจับสมาชิกฮามาสเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ระเบิดทำลายบรรดาอุโมงค์ใต้ดินและโรงงานผลิตจรวด จากนั้นหลังจากที่จำนวนการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายอิสราเอลเพิ่มสูงขึ้น ก็จะมองหาหนทางสำหรับการประกาศชัยชนะแล้วก็ถอนตัวออกไปจากกาซา
เมฆหมอกดำทะมึนของสงคราม
มีความหวาดกลัวแผ่กระจายไปทั่วภูมิภาคแถบนี้ว่า สงครามครั้งนี้จะบานปลายเลยล้ำไปกว่าแค่ดินแดนฉนวนกาซา โดยที่กลุ่มนักรบฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และอิหร่านซึ่งเป็นผู้หนุนหลังพวกเขารวมทั้งหนุนหลังฮามาสด้วย จะเปิดแนวรบใหญ่ด้านใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนฮามาส
รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮอสเซน อามีร์-อับดอลลาเฮียน (Hossein Amir-Abdollahian) ของอิหร่าน ออกมากล่าวเตือนแล้วถึงความเป็นไปได้ที่ฝ่ายตนจะเปิดปฏิบัติการ “เข้าโจมตีก่อน” เพื่อเล่นงานอิสราเอล ถ้าอิสราเอลขืนเดินหน้าต่อไปในเรื่องรุกรานกาซา เขากล่าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อิหร่านจะไม่ยืนดูอยู่เฉยๆ ถ้าสหรัฐฯ ล้มเหลวไม่สามารถเหนี่ยวรั้งอิสราเอลเอาไว้ได้
พวกผู้นำอาหรับบอกกับ บลิงเคน ซึ่งตระเวนเดินทางไปๆ มาๆ ตามเมืองหลวงต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าถึงแม้พวกเขามีการออกคำแถลงประณามฮามาสที่โจมตีพลเรือนอิสราเอล แต่พวกเขาก็คัดค้านพฤติการณ์ของอิสราเอลที่กำลังเป็นการลงโทษแบบเหมารวมต่อประชาชนคนธรรมดาชาวปาเลสไตน์ ซึ่งพวกเขาหวั่นเกรงว่ามันจะกลายเป็นเชื้อปะทุทำให้เกิดความไม่สงบในระดับภูมิภาคขึ้นมา
ผู้คนจะต้องโกรธแค้นพุ่งพล่านในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคเมื่อจำนวนคนบาดเจ็บล้มตายขึ้นสูง พวกเขากล่าวเตือน
เวลานี้วอชิงตันจัดส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีของตนหมู่ที่ 2 นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (หลังจากได้จัดส่งหมู่เรือที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบินเจอรัลด์ ฟอร์ด ไปก่อนแล้ว) เดินทางไปยังด้านตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว และมีความกังวลกันว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์อาจเข้าร่วมสงครามโดยบุกโจมตีชายแดนทางภาคเหนือของอิสราเอล อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่ากองทัพสหรัฐฯ จะมีความเคลื่อนไหวตอบโต้โดยปรับเปลี่ยนจากการตั้งทัพเพื่อมุ่งป้องปรามมาเป็นการเข้าร่วมสู้รบโดยตรง
ในอีกด้านหนึ่ง แหล่งข่าวระดับภูมิภาคหลายรายบอกว่า วอชิงตันเวลานี้กำลังเสนอฟื้นฟูเพิ่มพลังให้แก่องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority หรือ PA) ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่องค์การนี้ได้สูญเสียอำนาจควบคุมดินแดนกาซาไปให้แก่ฮามาสในปี 2007 ถึงแม้ยังคงมีความสงสัยข้องใจกันอย่างมหาศาลว่า PA หรือองค์การอื่นใดของปาเลสไตน์จะสามารถเข้าปกครองดินแดนแห่งนี้ได้หรือ กระทั่งหากฮามาสถูกขับไล่ไสส่งออกไปสำเร็จแล้ว
มิลเลอร์ ซึ่งเป็นอดีตผู้เจรจาของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง แสดงความข้องใจสงสัยอย่างล้ำลึก ในเรื่องความเป็นไปได้ของการสถาปนารัฐบาลปาเลสไตน์หลังยุคฮามาส เข้าทำหน้าที่ปกครองกาซา
“ผมสามารถวาดภาพให้คุณเห็นได้ว่า คุณจะทำยังไงเพื่อให้สามารถรวบรวมทั้งยูเอ็น องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ฝ่ายอียิปต์ โดยมีสหรัฐฯ ที่ผนึกกำลังกับทางยุโรปเป็นผู้นำ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงกาซาจากสภาพที่เป็นเรือนจำโอเพนแอร์อยู่ในเวลานี้ ให้กลายเป็นอะไรที่ดีขึ้นกว่านี้นักหนา ทว่าภาพอย่างนี้มันเหมาะสมสำหรับเกิดขึ้นในกาแลกซีห่างไกลออกไปมากๆ ไม่ใช่บนพิภพนามว่าโลกใบนี้หรอก” เขากล่าว
ในเวลาเดียวกันนั้น เสียงเรียกร้องให้จัดตั้งพวกพื้นที่ระเบียงเพื่อมนุษยธรรม (humanitarian corridors) ขึ้นมาภายในดินแดนกาซา ตลอดจนยอมให้มีเส้นทางหลบหนีสำหรับพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในทางไม่เห็นด้วยอย่างแรงจากพวกชาติอาหรับที่เป็นเพื่อนบ้าน
พวกเขาแสดงความหวั่นกลัวว่า การรุกรานของอิสราเอลคราวนี้จะจุดชนวนให้เกิดกระแสการพลัดถิ่นอย่างถาวรของผู้คนจำนวนมากระลอกใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นการฉายซ้ำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งสงครามสู้รบเพื่อเอกราชของอิสราเอลในปี 1948 และคราวสงครามอาหรับ-อิสราเอลปี 1967 ทั้งนี้ชาวปาเลสไตน์จำนวนเป็นล้านๆ คนที่ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีจากที่อยู่อาศัยในครั้งนั้น เวลานี้ก็ยังต้องเร่ร่อนมีชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศอาหรับต่างๆ ที่ยอมรับพวกเขาเข้าไปในตอนนั้น
ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ของอียิปต์ แถลงว่า เขาปฏิเสธไม่ยอมรับการบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องพลัดถิ่นที่อยู่จากดินแดนของพวกเขา ข้ามเข้ามาในแหลมไซนายของอียิปต์ ซึ่งมีพรมแดนประชิดติดกับกาซา พร้อมกับกล่าวอีกว่าความเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นว่านี้มีแต่จะเปลี่ยนพื้นที่แถบนี้ให้กลายเป็นฐานสำหรับการโจมตีต่อต้านอิสราเอลเท่านั้น เขาประกาศว่าชาวอียิปต์จำนวนเป็นล้านๆ จะประท้วงต่อต้านความเคลื่อนไหวเช่นนี้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด
ซีกตะวันออกของนครเยรูซาเลม (East Jerusalem) ที่ถูกอิสราเอลยึดเอาไว้ตั้งแต่สงครามปี 1967 แล้วจากนั้นก็ประกาศผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนอย่างเป็นการถาวร รวมทั้งการขยายการจัดตั้งนิคมชาวยิวขึ้นมาตลอดทั่วทั้งดินแดนที่กองทัพอิสราเอลยึดครองอยู่ คือปัญหาแกนกลางที่ทำให้เกิดการขัดแย้งสู้รบกับชาวปาเลสไตน์ แต่ เนทันยาฮู ซึ่งมีแนวความคิดแบบขวาจัดรุนแรงและคลั่งศาสนาอย่างเปิดเผย กำลังให้คำมั่นสัญญาที่จะผนวกดินแดนเพิ่มมากขึ้นอีกเพื่อให้ชาวยิวเข้าไปตั้งรกราก
ในเขตเวสต์แบงก์ ที่เป็นดินแดนอีกผืนหนึ่งของชาวปาเลสไตน์และถูกกองทัพอิสราเอลยึดครองเอาไว้ นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2023 เป็นต้นมาก็มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วหลายร้อยคน ในเหตุการณ์ปะทะกันครั้งแล้วครั้งเล่ากับพวกทหารอิสราเอลและชาวยิวที่เข้าไปตั้งนิคม และมีความวิตกกันอย่างกว้างขวางว่าความรุนแรงอาจแผ่ครอบคลุมดินแดนแห่งนี้ด้วย ขณะที่กาซาซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันกำลังตกอยู่ในกองเพลิงแห่งสงคราม
“ฉากทัศน์แบบเลวร้ายที่สุดเท่าที่คุณจะนึกออก ไม่ว่ามันจะเป็นยังไงก็ตามที ของจริงจะเลวร้ายยิ่งกว่านั้นเสียอีก” แหล่งข่าวระดับภูมิภาครายที่สองกล่าว เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้ที่การสู้รบขัดแย้งครั้งนี้จะขยายตัวเลยออกไปจากฉนวนกาซา