xs
xsm
sm
md
lg

แล็บกรมวิทย์ผ่านมาตรฐาน ตรวจสารพิษต่อพันธุกรรมแห่งแรก ขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลง-ยาสัตว์ 50 ประเทศได้ ไม่ต้องตรวจซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ดันห้องแล็บตรวจความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรม ผ่านรับรองระดับโลก OECD GLP เป็นแห่งแรกในไทย นำผลไปขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลง ยาสัตว์ ผลิตภัณฑสมุนไพร ได้ทั้งในและต่างประเทศกว่า 50 ประเทศ ไม่ต้องส่งตรวจซ้ำ

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลการทดสอบความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรม ที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ทั้งในเซลล์ร่างกายและเซลล์สืบพันธุ์ของมนุษย์ มีความสำคัญในการพิจารณาออกกฎระเบียบ การอนุมัติและขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลง ยารักษาโรค เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงกำหนดค่ามาตรฐานสำหรับระดับการสัมผัสที่ยอมรับได้ในอากาศ น้ำ และอาหาร ซึ่งในประเทศไทย อย.ได้กำหนดแนวทางการขออนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประเภทยาพัฒนาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยให้มีข้อมูลการศึกษาผลิตภัณฑ์ ด้านความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมในหลอดทดลอง เพื่อประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ซึ่งแนวทางการประเมินความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมในหลอดทดลอง จะต้องดำเนินการทดสอบ 3 ระดับ ได้แก่ การทดสอบในระดับยีน เช่น การทดสอบการก่อกลายพันธุ์ในเชื้อแบคทีเรีย ระดับโครโมโซม เช่น การทดสอบการเกิดไมโครนิวเคลียส และระดับดีเอ็นเอ จึงจะสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการประเมินความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมได้อย่างรอบด้าน


นพ.ยงยศ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการทดสอบด้านความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมในหลอดทดลองครบทั้ง 3 ระดับ ที่ผ่านการรับรองตามระบบคุณภาพ OECD GLP หรือ OECD Good Laboratory Practice คือ ระบบคุณภาพที่ช่วยจัดการห้องปฏิบัติการให้มีมาตรฐาน นิยมใช้ห้องปฏิบัติการที่เน้นทางด้านการทดสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ทดลองในมนุษย์ ตามหลักเกณฑ์ของภาคีเครือข่ายองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development ; OECD) ดังนั้น สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการดำเนินการทดสอบด้านความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมจึงได้พัฒนาการทดสอบดังกล่าวให้สอดคล้องตามระบบคุณภาพ OECD GLP และเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับการรับรองสาขาความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบการก่อกลายพันธุ์ (Mutagenicity studies) ตามหลักการ OECD GLP เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

“สถาบันวิจัยสมุนไพร พร้อมให้บริการทดสอบการก่อกลายพันธุ์อย่างครบวงจร ในเภสัชภัณฑ์ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช วัตถุเจือปนอาหารคน วัตถุเจือปนอาหารสัตว์เครื่องสำอาง ยาสัตว์ สารเคมีอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน สามารถนำไปขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ช่วยผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ ไม่ต้องตรวจซ้ำ จำหน่ายได้ในประเทศสมาชิก OECD มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก" นพ.ยงยศกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น