มีผู้ประท้วงอย่างน้อย 100 คน บุกยึดอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันพุธ (18 ต.ค.) เรียกร้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผลักดันให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา ส่วนทางฝั่งยุโรปมีผู้สนับสนุนปาเลสไตน์หลายหมื่นคนรวมตัวกันในกรีซ เช่นเดียวกับอีกนับร้อยคนบริเวณด้านหน้าสำนักงานศาลอาญาระหว่างประเทศ เรียกร้องให้นานาชาติจัดการในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์
พวกนักเคลื่อนไหวที่สวมเสื้อยืดสกรีนคำว่า "ยิวพูดคำว่าหยุดยิงเดี๋ยวนี้" และ "ไม่ใช่ในนามของรา" นั่งปรบมือและร้องเพลงปลุกใจบนพื้นห้องโถงของอาคารสำนักงานอาคารสำนักงานแคนนอนเฮาส์ และกางป้ายข้อความขนาดใหญ่ที่มีใจความว่า "หยุดหยิง" และ "ปล่อยกาซาให้มีชีวิต"
ตำรวจรัฐสภาบอกว่าพวกผู้ประท้วงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในอาคาร และได้จับกุมผู้ชุมนุมไปหลายคน "เราเตือนผู้ประท้วงแล้วให้หยุดการชุมนุม และพอพวกเขาไม่ปฏิบัติตาม เราก็เริ่มจับกุมพวกเขา" ตำรวจรัฐสภาระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ หรือทวิตเตอร์เดิม
การประท้วงครั้งนี้มีกลุ่ม Jewish Voice for Peace องค์กรยิวต่อต้านไซออนิสต์เป็นแกนนำ โดยก่อนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ประชาชนหลายร้อยคนรวมตัวกันที่อุทยานเนชั่นแนล มอลล์ ใกล้กับรัฐสภา เร่งเร้าให้รัฐบาลของไบเดน ส่งเสียงเรียกร้องหยุดยิง
"ไบเดน เป็นเพียงหนึ่งเดียวที่มีอำนาจกดดันอิสราเอลในตอนนี้ และเขาจำเป็นต้องใช้อำนาจนั้นปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์" ผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าว
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางการประท้วงต่อต้านการกระทำของอิสราเอลเช่นกันในอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก โดยมีรายงานพบเห็นผู้ประท้วงฝักใฝ่ปาเลสไตน์หลายร้อยคน รวมตัวกันบริเวณด้านนอกสำนักงานใหญ่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในเมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในวันพุธ (18 ต.ค.) เรียกร้องประชาคมนานาชาติดำเนินการขัดขวางในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์
การสู้รบเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยพวกนักรบฮามาสเปิดฉากโจมตีอย่างไม่คาดคิดเล่นงานอิสราเอล ส่วนหนึ่งในเป้าหมายเพื่อยุติการยึดครองของอิสราเอล นับตั้งแต่นั้น อิสราเอลดาหน้าโจมตีทางอากาศถล่มฉนวนกาซาระลอกแล้วระลอกเล่า ส่งผลให้จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในทั้ง 2 ฝ่าย เป็นชาวอิสราเอลราว 1,400 ราย และชาวปาเลสไตน์มากกว่า 3,000 คน
ศาลอาญาระหว่างประเทศ กำลังสืบสวนความเป็นไปได้ของอาญากรรมโหดร้ายป่าเถื่อนต่างๆ ที่ก่อโดยพวกนักรบฮามาสในอิสราเอล และกองทัพอิสราเอลในฉวนกาซา มาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งครอบคลุมความขัดแย้งในปัจจุบันด้วย
"เราต่อต้านการเข่นฆ่าไม่ว่าจะฝ่ายไหนๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นเรื่องของกาซา โลกมักทำตัวตามืดบอดเสมอ เรามาที่นี่เพื่อส่งเสียงว่า พอได้แล้ว" ราฟัต อัลกายยาลี วัย 50 ปี ผู้ชุมนุมรายหนึ่งกล่าว พร้อมเผยว่าเขาเดินทางมาประท้วงที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะเขาเชื่อมั่นในกฎหมายสากล
บรรดาผู้ประท้วงต่างชูป้าย "ขอความยุติธรรมสำหรับชาวปาเลสไตน์ หยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" และ "ต้องมีเด็กถูกเข่นฆ่าอีกมากแค่ไหน จนกว่าอิสราเอลจะถูกดำเนินคดี"
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คาริม ข่าน อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ บอกกับรอยเตอร์ว่า ศาลแห่งนี้มีขอบเขตอำนาจในการสืบสวนอาญากรรมโหดร้ายที่ก่อโดยนักรบฮามาสในอิสราเอล และกองทัพอิสราเอลในฉนวนกาซา แม้ว่าอิสราเอลไม่ใช่รัฐสมาชิกก็ตาม
นอกจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว มีรายงานด้วยว่ามีผู้ประท้วงหลายพันคน รวมตัวกันในกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ ในวันพุธ (18 ต.ค.) ต่อต้านสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ตำรวจเปิเผยว่ามีประชาชนชาว 10,000 คน ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของสภาพแรงงานแห่งหนึ่ง ที่ขอให้ออกมาแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับประชาชนชาวปาเลสไตน์ ผู้ชุมนุมพากันเดินขบวนด้านหลังธงปาเลสไตน์ผืนใหญ่ และฝูงชนพากันตะโกนว่า "ไม่อาจมีสันติภาพ หากปราศจากความยุติธรรม" และ "อาชญากรรมนี้เป็นเอกลักษณ์ของนาโต อียู และอิสราเอล"
การเดินขบวนไปสิ้นสุดลงที่สถานทูตอิสราเอล ซึ่งมีตำรวจปราบจลาจลปิดล้อมคุ้มกันอยู่ ระหว่างนั้นตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ประท้วงช่วงสั้นๆ เพื่อสกัดไม่ให้เข้าไปใกล้เกินไป ก่อนหน้านั้นมีผู้คนราว 100 คน รวมตัวกันบริเวณด้านนอกสถานทูตเช่นกัน ในการชุมนุมที่จัดขึ้นโดยสมาคมมิตรภาพอิสราเอล-กรีซ แต่ทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้เผชิญหน้ากันใดๆ
"เราเรียกร้องโลกประชาธิปไตยทั้งมวล แสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้บริสุทธิ์หลายพันคนที่ถูกฆาตกรรม และขณะเดียวกัน ขอให้พวกฮามาสปล่อยตัวประกันในทันที" แกนนำการชุมนุมระบุบนเฟซบุ๊ก
รัฐบาลกรีซรุดออกมาสนับสนุนอิสราเอล ตามหลังเหตุโจมตีของฉามาส ที่สังหารผู้คนไป 1,400 ราย และจับตัวประกันไปเกือบ 200 คน ในเหตุจู่โจมข้ามชายแดนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายทั้งหลายของกรีซและบรรดาสื่อมวลชนมีแนวทางสนับสนุนปาเลสไตน์มากกว่า โดยวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "การยึดครองดินแดนปาเลสไตน์มาเป็นเวลานาน" และกล่าวโทษอียู และสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนอิสราเอล
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)