xs
xsm
sm
md
lg

เผชิญหน้าสหรัฐฯ-ยิว! โลกอาหรับ-มุสลิมยืนข้างปาเลสไตน์ ประณามและประท้วงเหตุโจมตี รพ.กาซา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนรวมตัวกันทั่วโลกอาหรับและมุสลิมเมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) เพื่อประท้วงต่อเหตุโจมตีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในฉนวนกาซา คร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยราย ที่พวกเขากล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล ความเคลื่อนไหวซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลหลายชาติในตะวันออกกลาง ก็ออกมาประณามกล่าวโทษอิสราเอลต่อเหตุโจมตีนองเลือดครั้งนี้เช่นกัน

เสียงประณามเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วภูมิภาค ท่ามกลางการรวมตัวประท้วงด้วยความโกรธแค้น หลังมีเสียงเรียกร้องจากขบวนการเคลื่อนไหวอิซบอลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน และกลุ่มก๊กต่างๆของปาเลสไตน์ให้ระดมพลครั้งใหญ่

"ไปตายซะอเมริกา ไปตายซะอิสราเอล" พวกผู้ประท้วงสนับสนุนฮิซบอลเลาะห์หลายร้อยคน ตะโกนร้องระหว่างเดินขบวนในย่านต่างๆ ทางใต้ของกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน "พวกอิสราเอลจะพยายามเล็งเป้าโจมตีโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่กู้ภัย อาสาสมัครป้องกันตนเองและชาวบ้านกาซา โดยไม่รามือ เพื่อผลักให้ผู้คนออกจากกาซา" ฮาเซม ชาฟิดดิน เจ้าหน้าที่ฮิซบอลเลาะห์ บอกกับผู้ชุมนุม

พบเห็นผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งเดินขบวนไปตามท้องถนนสายต่างๆ ในเมืองรามัลเลาะห์และนาบลุส พร้อมตะโกน "ปลดปล่อยปาเลสไตน์"

อิสราเอลและนักรบปาเลสไตน์กล่าวโทษกันไปมาต่อเหตุโจมตีโรงพยาบาลในช่วงค่ำวันอังคาร (17 ต.ค.) โดยกองทัพอิสราเอลแก้ต้าง ว่าพวกเขามีหลักฐานว่าพวกนักรบอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ซึ่งต่างสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลในข้อตกลงข้อตกลงอับราฮัมปี 2020 อันเป็นข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการฟื้นฟูอาหรับ-อิสราเอล ได้วิพากษ์วิจารณ์อิราเอล สำหรับการอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตี เช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยประณามพวกนักรบมาส ต่อเหตุโจมตีนองเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม

"สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ของประณามอย่างหนักหน่วงต่อการโจมตีของอิสราเอล ซึ่งเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคน" สำนักข่าว WAM สื่อมวลชนอย่างเป็นทางการของยูเออีรายงานในช่วงเช้าวันพุธ (18 ต.ค.)

ในบาห์เรน ซึ่งกลับมามีความสัมพันธ์อันเป็นปกติกับอิสราเอล ในปี 2020 เช่นกัน พบเห็นผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งเดินขบวนมุ่งหน้าสู่สถานทูตอิสราเอลในกรุงมานามา ก่อนถูกตำรวจเข้าสลายการชุมนุม ส่วนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งระงับการเจรจาในด้านความสัมพันธ์กับอิสราเอลมาตั้งแต่ความขัดแย้งปะทะขึ้น ประณามเหตุโจมตีว่าเป็น "อาชญากรรมที่ชั่วช้าซึ่งก่อการโดยกองกำลังอิสราเอลผู้รุกราน"

กาตาร์ หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของฮามาส ประณามอิสราเอล "สังหารหมู่อย่างเหี้ยมโหด" ส่วนโมร็อกโก อีกประเทศที่รับรองอิสราเอลในปี 2020 ก็กล่าวโทษรัฐยิวเช่นกัน เช่นเดียวกับอียิปต์ ที่เป็นชาติอาหรับประเทศแรกที่คืนสัมพันธ์อันปกติกับอิสราเอลในปี 1979

ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน เรียกร้องให้องค์การความร่วมมืออิสลาม ควรกำหนดมาตรการปิดกั้นทางน้ำมันและมาตรการคว่ำบาตรอื่นๆ เล่นงานอิสราเอล และขับไล่เอกอัครราชทูตอิสราเอล ต่อเหตุโจมตีนองเลือดถล่มโรงพยาบาลอัล-อาห์ลี อาหรับ ในฉนวนกาซา

ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ประณามด้วยถ้อยคำหนักหน่วง "ต่อการทิ้งบอมบ์ของอิสราเอล" ใส่โรงพยาบาลอาห์ลี อาหรับ ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตของเหยื่อผู้บริสุทธิ์พลเมืองปาเลสไตน์หลายร้อยคนในฉนวนกาซา

ในเยเมน ประเทศที่ถูกสงครามฉีกเป็นชิ้นๆ มีผู้ชุมนุมเข้าร่วมการประท้วงใหญ่สนับสนุนปาเลสไตน์ในกรุงซานา ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกบฏฮูตี ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน อย่างไรก็ตาม พบเห็นประชาชนอีกหลายร้อยคน เข้าร่วมชุมนุมแบบเดียวกันในเมืองตาเอซและมาริบ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล

แอลจีเรีย ประณามการโจมตีว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนโดยกองกำลังผู้รุกราน ในขณะที่ในตูนิเซีย พวกผู้ประท้วงฝักใฝ่ปาเลสไตน์หลายพันคน รวมตัวกันบริเวณด้านนอกสถานทูตฝรั่งเศส ประณามตะวันตกที่ให้การสนับสนุนอิสราเอล

ผู้ชุมนุมบางส่วนโบกธงปาเลสไตน์ พร้อมส่งเสียงเรียกร้องให้ขับไล่เอกอัครราชทูต โดยกล่าวหาฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในชาติตะวันตกที่เป็นพันธมิตรกับพวกไซโอนิสต์

รัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ ซึ่งมีฐานบัญชาการในกรุงตริโปลี ของลิเบีย ประณามการโจมตีโรงพยาบาล ว่าเป็น "อาชญากรรมน่ารังเกียจ" ในขณะที่มีประชาชนหลายร้อยคนออกมาชุมนุมในกรุงตริโปลี และเมืองอื่่นๆ

ความเคลื่อนไหวต่างๆ ในหลายประเทศมีขึ้นในขณะที่ โอซามะ ฮัมดัน เจ้าหน้าที่ฮามาส ได้ส่งเสียงเรียกร้องให้มีการประท้วงอย่างกว้างขวางทั่วภูมิภาคในวันศุกร์ (20 ต.ค.) และวันเสาร์ (21 ต.ค.) พร้อมเรียกร้องให้ขับไล่เอกอัครราชทูตของพวกไซออนิสต์ ออกจากเมืองหลวงของทุกชาติอาหรับและอิสลาม

จอร์แดนบอกว่าอิสราเอลต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เลวร้ายในครั้งนี้ พร้อมกันนั้นได้มีชาวจอร์แดนราว 10,000 คน รวมตัวกันบริเวณด้านนอกสถานทูตอิสราเอล เรียกร้องให้ขับไล่คณะผู้แทนทูตของอิสราเอล

กองกำลังด้านความมั่นคงได้ปิดกั้นถนนสายต่างๆ ที่มุ่งหน้าสู่สถานทูต แต่จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากความขุ่นเคืองในจอร์แดน ซึ่งเป็นถิ่นพำนักของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก "ไม่เอาสถานทูตไซออนิสต์ในแผ่นดินจอร์แดน" พวกผู้ประท้วงตะโกน พร้อมโบกธงปาเลสไตน์

องค์การความร่วมมืออิสลามก็ประณามอิสราเอลเช่นกัน โดยเรียกว่าเป็น "อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมกับมนุษยชาติ และเป็นองค์กรรัฐก่อการร้าย"

จาเซม โมฮัมเหมด อัลบูไดวี เลขาธิการคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ บอกว่าพวกเขามีหลักฐานอย่างโจ่งแจ้งต่อการกระทำผิดร้ายแรงของกองกำลังอิสราเอลผู้รุกราน

อาเหม็ด อบูล เกต เลขาธิการสันนิบาตอาหรับ เรียกร้องพวกผู้นำในวันอังคาร (17 ต.ค.) ให้หยุดโศกนาฏกรรมนี้ในทันที

อิรัก ซึ่งกล่าวโทษอิสราเอล เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หาทางออกอย่างเร่งด่วนและในทันที เพื่อหยุดการจู่โจมฉนวนกาซาของอิสราเอล ในขณะที่มีผู้ประท้วงต่อต้านอิสราเอลรวมตัวกันในเขตกรีนโซนของกรุงแบกแดดราว 200 คน

ในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย ประชาชนหลายร้อยคนโบกธงปาเลสไตน์ รวมตัวกันใกล้รัฐสภา สวมเสื้อยืดเป็นภาพของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด "ความทุกข์ทรมานหรือชัยชนะ" ป้ายประท้วงหนึ่งเขียนไว้

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น