กระแสสนับสนุนปาเลสไตน์พุ่งพล่านทั้งในมัสยิด สนามฟุตบอล และเมืองต่างๆ ทั่วทั้งโลกอาหรับ หลังจากกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลชนิดช็อกโลก
ตั้งแต่เมืองรามัลเลาะห์ ในเขตเวสต์แบงก์ ไปจนถึงกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน อัมมาน ประเทศจอร์แดน กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก และกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ผู้คนออกมารวมตัวกันแจกขนม เต้นรำ และสวดอ้อนวอนส่งกำลังใจให้แก่ "การต่อต้าน” อิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองมายาวนาน
“ตลอดชีวิตนี้ผมเห็นแต่อิสราเอลฆ่าพวกเรา ยึดดินแดนของพวกเรา และจับลูกหลานของพวกเราไป ผมจึงดีใจมากกับสิ่งที่ฮามาสทำ” ฟาเราะห์ อัล-ซาอาดี คนขายกาแฟวัย 52 ปีในรามัลเลาะห์ เขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวปาไลสไตน์ที่กองทัพอิสราเอลเข้ายึดครองอยู่ กล่าว แต่เขาก็ยอมรับว่า กลัวการตอบโต้อย่างรุนแรงของอิสราเอล
ในวันอังคาร (10 ต.ค.) มีผู้คนหลายสิบออกไปรวมตัวกันตามถนนสายต่างๆ ในรามัลเลาะห์ ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งขององค์การบริหารปาเลสไตน์บ้านเกิดของประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส เพื่อแสดงการสนับสนุนฮามาส
การโจมตีทะลุทะลวงเข้าไปในดินแดนอิสราเอลแบบที่เจ้าบ้านไม่ทันตั้งตัวเมื่อเช้ามืดวันเสาร์ (7 ต.ค.) ของฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ชาวปาเลสไตน์ ทำให้ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งสองฝั่งเกิน 2,000 คน นอกจากนั้น ฮามาสยังจับตัวประกัน 150 คนกลับไปยังกาซา
ด้านอิสราเอลแก้แค้นด้วยการถล่มกาซาหนักหน่วงและต่อเนื่อง โดยเมื่อวันอังคารเจ้าหน้าที่อิสราเอลระบุว่า พบศพนักรบฮามาส 1,500 ศพทางใต้ของอิสราเอล
เหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ทำให้ชาวอิสราเอลเกิดแรงขับดันใหม่ในการอุทิศตัวเพื่อประเทศชาติ เวลาเดียวกันนั้น ได้สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวปาเลสไตน์และบรรดาชาวอาหรับผู้สนับสนุนพวกเขา ให้ออกมารวมตัวแสดงความสามัคคีกันอย่างชนิดไม่เกิดขึ้นบ่อยนักตลอดทั่วทั้งภูมิภาคนี้
ตอนดึกคืนวันอังคารประชาชนกว่า 4,000 คนชุมนุมกลางกรุงอัมมาน ตะโกนเชียร์ฮามาส และเรียกร้องการแสดงพลังและการปฏิวัติ
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ พวกผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ พากันออกมาแจกจ่ายขนมทั้งที่เมืองทางใต้ของเลบานอน และในกรุงเบรุต
ปัจจุบัน อิสราเอลกับเลบานอนยังคงเป็นคู่สงครามกันในทางเทคนิค โดยกองทัพอิสราเอลเคยยึดครองดินแดนทางใต้ของเลบานอนเอาไว้นานถึง 22 ปี
รีม ซอบห์ นักศึกษาปาเลสไตน์วัย 18 ปี ร่วมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยอเมริกันในเบรุต โดยบอกว่า ถึงแม้แบกอาวุธไปต่อสู้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยเขาก็สนับสนุนฮามาสได้
ขณะเดียวกัน โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยข้อความสนับสนุนฮามาส ซึ่งรวมถึงแฮชแท็ก #Palestine-is-my-cause (การต่อสู้เพื่อปาเลสไตน์คืออุดมการณ์ของฉัน) ภาษาอาหรับ ที่ติดเทรนด์ในเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม)
ในเมืองหลวงของตูนิเซีย โรงเรียนหลายแห่งชักธงปาเลสไตน์ ขณะที่องค์กรและพรรคการเมืองต่างๆ เรียกร้องการชุมนุมสนับสนุนฮามาส และประธานาธิบดีประกาศให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์และสิทธิการต่อต้านการยึดครองของชาวปาเลสไตน์อย่างเต็มที่และโดยไม่มีเงื่อนไข
ที่อียิปต์ซึ่งยังคงสั่งห้ามการชุมนุมประท้วงโดยไม่ได้รับอนุญาต บรรดาแฟนฟุตบอลเปลี่ยนสนามแข่งเป็นการโชว์ความสามัคคีด้วยการตะโกนสนับสนุนปาเลสไตน์
ที่กรุงแบกแดด กองกำลังกึ่งทหารที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน พากันเหยียบย่ำและเผาธงอิสราเอลระหว่างการชุมนุมในจัตุรัสตอห์รีร์
พวกประเทศริมอ่าวอาหรับร่วมแสดงการสนับสนุนฮามาสเช่นเดียวกัน แม้บางชาติไปทำ “ข้อตกลงอับราฮัม” ที่อเมริกาเป็นตัวกลาง ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และกับบาห์เรนในปี 2020 ก็ตาม
แม้สองประเทศนี้ออกคำแถลงแสดงความห่วงใยอิสราเอลและประณามการสังหารพลเรือนอิสราเอล แต่บรรยากาศในหมู่ประชาชนกลับเป็นหนังคนละม้วน ดังเห็นได้จากการโพสต์ข้อความสนับสนุนปาเลสไตน์ในสื่อสังคม อับดุลคาเลก อับดุลลา นักวิเคราะห์ชื่อดังมากของยูเออี เขียนในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ประณามการโจมตีกาซาของอิสราเอลว่า เป็นการสังหารหมู่
ที่ดามัสกัส โอเปราเฮาส์ที่นั่นติดธงปาเลสไตน์ พนักงานหญิงคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยซีเรีย บอกว่า การโจมตีของฮามาสกระตุ้นความรู้สึกและฟื้นจิตวิญญาณการต่อต้านของชาวซีเรีย และสำทับว่า ปาเลสไตน์ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว หลังตกเป็นเหยื่อการสังหาร การทำลายล้าง และการพลัดจากที่อยู่อาศัย
(ที่มา : เอเอฟพี)