เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (16 ต.ค.) ยืนยันวอชิงตันมีศักยภาพทางการเงินในการสนับสนุน 2 ศึกพร้อมกัน ยืนยันเงินทุนของประเทศอยู่ในสถานะเข้มแข็งเพียงพอที่จะเดินหน้าให้การค้ำยันผลประโยชน์ในต่างแดนของอเมริกา ทั้งสงครามในยูเครน และสถานการณ์ความตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง
"แน่นอนว่า อเมริกาสามารถยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอลและสนับสนุนสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับกองทัพอิสราเอล และเรายังสามารถและจำเป็นต้องให้การสนับสนุนยูเครน ที่กำลังสู้รบกับรัสเซีย" เยลเลน กล่าวเมื่อวันจันทร์ (16 ต.ค.) ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสกายนิวส์ สื่อมวลชนอังกฤษ ก่อนการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโร ในลักเซมเบิร์ก
เยลเลน เน้นย้ำว่าแนวโน้มทางการเงินของสหรัฐฯ นั้นมีความเข้มแข็งเพียงพอสำหรับสนับสนุนบรรดาพันธมิตรในต่างแดน แต่เตือนว่า ไม่ทราบแน่ชัดเช่นกันว่าความขัดแย้งที่ขยายวงในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเกิดขึ้นท่ามกลางตลาดน้ำมันโลกและก๊าซธรรมชาติที่ผันผวนอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่โหมกระพือวิกฤตค่าครองชีพในหลายชาติตะวันตกในช่วงขวบปีที่ผ่านมา
แม้รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ รายนี้บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อกำลังอ่อนตัวลง แต่ส่งเสียงเรียกร้องไปยังรีพับลิกันให้พยายามเร่งรีบแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ เพื่อรับประกันความคล่องตัวของเงินช่วยเหลือที่มอบให้แก่ต่างประเทศ ทั้งนี้ เควิน แมคคาร์ธี ส.ส.รีพับลิกัน จากแคลิฟอร์เนีย ถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อช่วงต้นเดือน นำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสะสมทั้งทางด้านเศรษฐกิจและกฎหมายในวอชิงตัน
แมคคาร์ธี ถูกถอดถอนพ้นจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร หลัง แมตต์ กาสซ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฟลอริดา เพื่อนร่วมพรรครีพับลิกัน เรียกร้องให้ลงมติปลดเขา หลังจากไม่พอใจที่ แมคคาร์ธี ยอมโอนอ่อนต่อแรงกดดันของเดโมแครต ที่ต้องการให้ผ่านร่างงบประมาณที่ใช้เงินมหาศาล นอกจากนี้ เขายังถูกกล่าวหาไปเจรจาต่อรองบรรลุข้อตกลงกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการเดินหน้าให้การสนับสนุนเงินทุนแก่กองทัพยูเครน
"เราจำเป็นต้องมาพร้อมกับเงินทุน สำหรับทั้งอิสราเอลและยูเครน" เยลเลนกล่าว พร้อมระบุรัฐบาลของไบเดนยังให้ความสำคัญกับทั้ง 2 ศึก ในลำดับต้นๆ "มันขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรในการหาตัวประธาน และนำเราอยู่ในสถานะที่สามารถผ่านกฎหมายได้"
ความเห็นของเยลเลน มีขึ้นหลังจากที่เธอไปปรากฏตัว ณ เวทีประชุมไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์ ในโมร็อกโก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระหว่างนั้นบรรดาผู้นำเศรษฐกิจทั้งหลายได้หารือกันเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นไปได้จากวิกฤตอันหนักหน่วงระหว่างอิสราเอลกับนักรบปาเลสไตน์ "ฮามาส"
จนถึงตอนนี้ สหรัฐฯ อนุมัติเงินช่วยเหลือแก่ยูเครนไปแล้วอย่างน้อย 113,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่ากองทัพอเมริกาได้เรียกร้องบรรดาผู้ผลิตด้านกลาโหม ให้ยกระดับกำลังผลิตเพื่อชดเชยสต๊อกอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ขาดแคลน สืบเนื่องจากการโอนถ่ายอาวุธเหล่านั้นไปยังยูเครน เพื่อรับประกันว่าพวกเขาจะสามารถป้อนกระสุนแก่อิสราเอลได้
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังมุ่งความสนใจไปยังความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ทางประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เตือนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า นานาชาติไม่ควรเบี่ยงความสนใจออกจากประเทศของเขา
(ที่มา : สกายนิวส์/อาร์ทีนิวส์)