xs
xsm
sm
md
lg

แนบแน่น!! ปูตินไปปักกิ่งร่วมยินดี 10 ปี ‘หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง’ และนัดหารือ ‘สี จิ้นผิง’ พุธนี้ คาดย้ำความร่วมมือเป็นพันธมิตรไร้ขีดจำกัดรัสเซีย-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย เดินทางถึงกรุงปักกิ่งในวันจันทร์ (16 ต.ค.) จากนั้นก็ได้พบปะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ในภาพนี้ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย
“ปูติน” มีกำหนดพบหารือกับ “สี จิ้นผิง” ในวันพุธ (18 ต.ค.) นี้ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเซียร์เก ลาฟรอฟ ของเขานำคณะไปถึงล่วงหน้าแล้วตั้งแต่วันจันทร์ (16 ) ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ได้รับการจับตามองว่าคือการตอกย้ำความสนับสนุนทางเศรษฐกิจและการทูตที่จีนมีให้รัสเซียระหว่างสงครามยูเครน และในทางกลับกันก็เป็นการแสดงการสนับสนุนที่ประมุขวังเครมลินให้แก่โครงการหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทางของสี จิ้นผิง

กระนั้น พวกนักวิเคราะห์ตะวันตกเชื่อว่า จีน-รัสเซียจะไม่เป็นพันธมิตรทางทหารเต็มรูปแบบ แม้อาจจะกระชับความร่วมมือทางทหารมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธ ที่จะทำให้การวางแผนด้านนิวเคลียร์และด้านอื่นๆ ของอเมริกา ตลอดจนของชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ในเอเชียและยุโรปมีความซับซ้อนมากขึ้น

การกระชับความเป็นพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการระหว่างจีน-รัสเซีย ซึ่งโลกตะวันตกมองว่าเป็นการจับมือกันต่อต้านประเทศประชาธิปไตย แต่ปักกิ่งและมอสโกบอกว่ามันคือความพยายามสร้างระเบียบโลกใหม่ที่ยอมรับการมีหลายขั้วอำนาจ ซึ่งสั่นคลอนฐานะครอบงำโลกของฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกา มาถึงหลักหมายสำคัญอีกหลักหมายหนึ่ง ด้วยการเยือนปักกิ่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน คราวนี้ ซึ่งถือเป็นการแสดงความสนับสนุน “แผนการริเริ่มหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง” ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและขยายอิทธิพลของจีนไปประเทศต่างๆ

ประมุขทำเนียบเครมลินจะเป็น 1 ในผู้นำจากกว่า 100 ประเทศที่เดินทางไปร่วมเป็นสักขีพยานวาระครบรอบ 10 ปีโครงการขนาดใหญ่โตมหึมานี้ ซึ่งปักกิ่งและผู้สนับสนุนป่าวร้องว่าประสบความสำเร็จมากมายและเป็นผลดีสำหรับการพัฒนาของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ แต่ฝ่ายตะวันตกรวมทั้งสื่อตะวันตกอย่างเอพีพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า มันทำให้ประเทศอย่างเช่น แซมเบียและศรีลังกา มีหนี้สินพะรุงพะรังหลังเซ็นสัญญากับบริษัทจีนในการสร้างถนน สนามบิน และโครงการสาธารณะอื่นๆ ที่จริงๆ แล้วประเทศเหล่านั้นไม่สามารถจ่ายได้

ทำเนียบเครมลินเพิ่งแถลงยืนยันเมื่อวันจันทร์ (16) ว่าปูตินมีกำหนดการพบหารือกับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในวันพุธ (18) โดยเป็นการหารือข้างเคียงงานประชุมเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ถึงแม้จากท่าทีและการเตรียมการด้านต่างๆ ของสองประเทศก่อนหน้านี้ ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้นำรัสเซียกำลังจะไปปักกิ่งแน่ๆ

เมื่อวันศุกร์ (13 ต.ค.) ที่ผ่านมา ปูตินตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการเยือนจีนของเขาซึ่งเขาเคยพูดไว้ว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยบอกว่า จะมีการหารือเกี่ยวกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง ซึ่งมอสโกต้องการให้เกิดการเชื่อมโยงกับความพยายามของกลุ่มพันธมิตรทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศที่เคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียตในเอเชียกลาง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการพัฒนาร่วมกัน

ผู้นำรัสเซียยังบอกว่าไม่กังวลกับผลกระทบจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคดังกล่าวที่รัสเซียถือเป็นสนามหลังบ้านและพยายามรักษาอิทธิพลทางการเมืองและการทหารมาโดยตลอด แต่กลับเห็นว่า มันจะเป็นการผนึกกำลังกันในบางลักษณะขึ้นมา

ปูตินยังเสริมว่า จะหารือกับ สี เกี่ยวกับความผูกพันทางเศรษฐกิจและการเงินที่กำลังขยายตัวระหว่างมอสโกกับปักกิ่ง โดยที่เวลานี้ประเทศทั้งสองมีความผูกพันทางการเงินกันจากเรื่องพลังงาน อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมทางการเงิน รวมทั้งจีนยังทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางของสินค้าออกของรัสเซีย

ทางด้าน อเล็กซานเดอร์ กาบูเอฟ ผู้อำนวยการของกลุ่มคลังสมอง คาร์เนกี้ รัสเซีย ยูเรเซีย เซ็นเตอร์ ชี้ว่า จากมุมมองของจีน รัสเซียถือเป็นเพื่อนบ้านที่ปลอดภัย เป็นมิตร เป็นแหล่งวัตถุดิบต้นทุนต่ำที่สนับสนุนแผนการริเริ่มของจีนในเวทีโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งเทคโนโลยีทางการทหารที่จีนขาดไปบางอย่าง

สำหรับรัสเซีย จีนเป็นผู้ช่วยชีวิตด้านเศรษฐกิจระหว่างการบุกโจมตียูเครน เป็นตลาดสินค้าโภคภัณฑ์แห่งสำคัญ อีกทั้งยังช่วยจัดหาเงินหยวนและระบบชำระเงินเพื่อรองรับการค้าของรัสเซียกับทั่วโลก รวมถึงเป็นแหล่งนำเข้าเทคโนโลยีที่ซับซ้อนที่รวมถึงสินค้าที่ใช้ได้ทั้งทางพลเรือนและทางการทหาร ซึ่งรัสเซียนำไปใช้ในทางการทหาร

อย่างไรก็ดี กาบูเยฟเชื่อว่า สองประเทศนี้จะไม่ตกลงเป็นพันธมิตรทางทหารเต็มรูปแบบ แต่จะกระชับความร่วมมือทางทหารมากขึ้น ทำงานร่วมกันมากขึ้น ร่วมมือกันในการจัดวางกำลัง ซึ่งรวมถึงในอาร์กติก และร่วมกันพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธที่ทำให้การวางแผนด้านนิวเคลียร์ของอเมริกา ตลอดจนการวางแผนของอเมริกา รวมทั้งพันธมิตรในเอเชียและยุโรปเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น

(ที่มา : เอพี, เอเอฟพี, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น