xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ‘เควิน แมคคาร์ธี’ หลุดเก้าอี้ประธานสภาสหรัฐฯ ลุ้นผู้นำคองเกรสคนใหม่ไปต่อแค่ไหนกับ ‘ยูเครน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเมืองสหรัฐฯ เผชิญความสับสนอลหม่านอีกครั้ง เมื่อ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ถูก ส.ส.ส่วนใหญ่โหวตขับออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการก่อกบฏครั้งประวัติศาสตร์ของกลุ่มรีพับลิกันขวาจัดซึ่งไม่พอใจที่ แมคคาร์ธี มีพฤติกรรม “เกี้ยเซียะ” กับฝ่ายเดโมแครตในเรื่องงบประมาณ

เหตุการณ์นี้ยังสะท้อนความแตกแยกร้าวลึกภายในพรรครีพับลิกันก่อนศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 ซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้สมัครเต็งหนึ่งของพรรคคงจะหนีไม่พ้น “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่ตัวเองในการเป็นอดีตประธานาธิบดีและประธานาธิบดีในตำแหน่งคนแรกของสหรัฐฯ ที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา

คะแนนโหวต 216 ต่อ 210 เสียงนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เขี่ยประธานลงจากตำแหน่ง โดยมี ส.ส. รีพับลิกัน 8 คนที่ร่วมมือกับ ส.ส.เดโมแครต 208 คนในการปลด แมคคาร์ธี ออก ขณะที่ตัวคนถูกปลดยืนยันกับสื่อมวลชนว่าจะไม่ขอลงชิงตำแหน่งนี้อีก

“ผมต่อสู้เพื่อสิ่งที่ผมเชื่อ และผมเชื่อว่าผมยังสามารถสู้ต่อได้ แต่อาจจะทำในรูปแบบอื่นๆ” เขากล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะว่างลงประมาณ 1 สัปดาห์ โดย ส.ส.รีพับลิกันมีแผนจัดประชุมกันในวันที่ 10 ต.ค. เพื่อสรรหาบุคคลที่เหมาะสม และจะมีการโหวตเลือกประธานสภาคนใหม่ในวันที่ 11 ต.ค.

ตัวตั้งตัวตีในการก่อกบฏครั้งนี้คือ แมตต์ แกตซ์ (Matt Gaetz) ส.ส.รีพับลิกันขวาจัดจากรัฐฟลอริดาที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับแมคคาร์ธี และหันมาพุ่งเป้าถอดถอนประธานสภาอย่างจริงจัง หลังจากที่ แมคคาร์ธี ละทิ้งข้อเรียกร้องของกลุ่มขวาจัดในพรรครีพับลิกันที่ต้องการตัดงบรายจ่ายของหน่วยงานรัฐบาลลงถึง 30% รวมถึงควบคุมชายแดนเข้มงวดขึ้น โดยหันไปพึ่งเสียงสนับสนุนจากฝ่ายเดโมแครตในการโหวตผ่านกฎหมายงบประมาณชั่วคราว จนทำให้สหรัฐฯ รอดพ้นภาวะ “ชัตดาวน์” มาได้แบบหวุดหวิดเมื่อวันเสาร์ที่ 30 ก.ย.

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นดรามาล่าสุดในรอบปี หลังจากที่พรรครีพับลิกันซึ่งคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเกือบจะทำให้สหรัฐฯ ต้องผิดนัดชำระหนี้ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงเผชิญวิกฤตชัตดาวน์ปิดหน่วยงานรัฐบางส่วน

การถอดถอน แมคคาร์ธี ยังส่งผลให้กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ของสภาต้องหยุดชะงักลง ขณะที่สหรัฐฯ ยังเสี่ยงจะต้องเข้าสู่โหมดชัตดาวน์อีกครั้งในระยะเวลาอีกเพียงเดือนเศษๆ หากสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านกฎหมายงบประมาณได้สำเร็จภายในวันที่ 17 พ.ย.

ทำเนียบขาวออกมาแสดงความคาดหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถแต่งตั้งประธานสภาคนใหม่ได้โดยเร็ว ซึ่งตำแหน่งนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเป็นอันดับ 3 รองจากประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

แมคคาร์ธี สร้างความไม่พอใจต่อฝ่ายเดโมแครตหลายครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งกรณีการสั่งเริ่มต้นกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนไบเดน รวมถึงเมื่อวันเสาร์ (30) ก็ยังให้เวลาพวกเขาเพียงเล็กน้อยในการพิจารณาร่างกฎหมาย stopgap เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะชัตดาวน์ที่จำเป็นจะต้องได้เสียงสนับสนุนจากฝ่ายเดโมแครตจึงจะผ่านได้

อันที่จริง ส.ส.เดโมแครตสามารถที่จะโหวตช่วย แมคคาร์ธี ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ แต่หลังจากที่ทบทวนดูแล้วพวกเขาเห็นว่าควรจะปล่อยให้พวกรีพับลิกันแก้ไขความขัดแย้งภายในกันเองจะดีกว่า

แกนนำพรรครีพับลิกันเคยออกมาเตือนเพื่อนสมาชิกว่ากำลังฉุดพรรคเข้าสู่ความยุ่งเหยิง แต่ แกตซ์ ยืนยันว่า แมคคาร์ธี ไม่ยอมทำตามข้อตกลงต่างๆ ที่มีกับฝ่ายอนุรักษนิยม พร้อมกับสวนกลับว่าสาเหตุของความยุ่งเหยิงคือตัวประธานสภาเอง

"เหตุผลที่ เควิน แมคคาร์ธี ตกเก้าอี้ในวันนี้ ก็เพราะไม่มีใครเชื่อใจเขาอีก" เกตซ์ กล่าวภายหลังการลงมติ

"เควิน แมคคาร์ธี กระทำการต่างๆ ที่ขัดแย้งกับคำสัญญา และเมื่อทุกอย่างมาถึง เขาจึงสูญเสียตำแหน่ง"

แกตซ์ ยังอ้างถึงเรื่องที่ แมคคาร์ธี เคยให้สัญญากับกลุ่มรีพับลิกันสายแข็งเรื่องแผนการตัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล

"เมื่อเดือน ม.ค. แมคคาร์ธี ยอมรับเงื่อนไขงบประมาณบางอย่างเพื่อให้ได้ตำแหน่งประธานสภา... เราต้องการเปลี่ยนแปลงเรื่องเดียวในร่างงบประมาณ ซึ่งเขาได้ให้คำมั่นไว้แล้ว แต่เขากลับผิดสัญญา"


ในฟากฝั่งพรรคเดโมแครตก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีคนชื่นชอบ แมคคาร์ธี เช่นกัน โดยชี้ถึงเรื่องที่เขาผิดคำสัญญาในข้อตกลงกับ ไบเดน เกี่ยวกับข้อจำกัดด้านการใช้จ่ายที่เคยตกลงกันก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางปี

การหลุดจากตำแหน่งของ แมคคาร์ธี ยังส่งผลให้แผนอนุมัติงบช่วยเหลือยูเครนของสหรัฐฯ ตกอยู่ในความไม่แน่นอน หลังจากกฎหมายงบประมาณชั่วคราวซึ่งมีการประนีประนอมกันได้เมื่อวันที่ 30 ก.ย. มีการตัดทิ้งงบช่วยเหลือยูเครนก้อนใหม่ตามข้อเรียกร้องของพวก ส.ส.รีพับลิกันขวาจัด

มาร์ก แคนเซียน ที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) หน่วยงานคลังสมองชื่อดังในกรุงวอชิงตัน เตือนว่าถ้าความช่วยเหลือจากอเมริกาชะงักงันจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้แก่ยูเครน เพราะกองทัพยูเครนจะอ่อนแอลงและอาจล่มสลายในที่สุด แม้อาจจะยังยันรัสเซียอยู่ได้ระยะหนึ่งก็ตาม

ประธานาธิบดี ไบเดน เอ่ยเตือนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ว่า การสนับสนุนที่สหรัฐฯ มอบให้แก่ยูเครนนั้นจะ “สะดุด” ไม่ได้อย่างเด็ดขาด ขณะที่ พล.ร.อ.ร็อบ เบาเออร์ เจ้าหน้าที่อาวุโสสูงสุดขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ก็ส่งเสียงเตือนในวันอังคาร (3) ว่า คลังอาวุธสำหรับยูเครนนั้น “เริ่มจะมองเห็นก้นถังแล้ว” เนื่องจากกองทัพยูเครนมีการยิงกระสุนปืนใหญ่ออกไปวันละหลายพันลูก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากความช่วยเหลือของรัฐสมาชิกนาโตทั้งสิ้น

ทำเนียบขาวแสดงความเชื่อมั่นในวันอังคาร (3) ว่า สหรัฐฯ จะยังคงให้การสนับสนุนเคียฟต่อไปได้ไม่ว่า แมคคาร์ธี จะอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ก็ตาม

สิ่งสำคัญที่น่าจับตามองหลังจากนี้คือ จุดยืนของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คนใหม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านการจัดสรรงบช่วยเหลือยูเครน

องค์กรไม่แสวงผลกำไร Defending Democracy Together ได้มีการจัดทำ report card ให้คะแนนแคนดิเดตว่าที่ประธานสภาฯ แต่ละคนว่ามีแนวโน้มจะสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือยูเครนมากน้อยเพียงใด โดยเรียงลำดับจาก A ลงไปถึง F ซึ่งปรากฏว่า ส.ส. ทอม เอ็มเมอร์ ประธานวิปรีพับลิกัน ได้รับคะแนนสูงสุดที่ A ขณะที่ สตีฟ สกาลิส ซึ่งเป็นผู้นำเบอร์สองของรีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎร และถูกมองว่าเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ในการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภาแทนแมคคาร์ธี มีคะแนนอยู่ที่ B

สหรัฐฯ มอบความช่วยเหลือทั้งในด้านการทหาร เศรษฐกิจ และมนุษยธรรมให้แก่ยูเครนแล้วเป็นมูลค่ารวมถึง 113,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่รัสเซียเปิดศึกรุกรานเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022


กำลังโหลดความคิดเห็น