ผู้นำนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) ออกประกาศกฤษฎีกายุบดินแดนในเดือน ม.ค. ปี 2024 หลังจากที่พ่ายแพ้ต่อปฏิบัติการโจมตีของกองทัพอาเซอร์ไบจานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่จำนวนกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียที่อพยพหนีความขัดแย้งพุ่งกว่า 70,500 คน
ชัยชนะของอาเซอร์ไบจานนำมาสู่การอพยพหนีตายครั้งใหญ่ของคนเชื้อสายอาร์เมเนียที่อาศัยอยู่ในนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งในด้านหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ไม่มีชาวอาร์เมเนียหลงเหลืออยู่อีกต่อไป
ประธานาธิบดี ซัมเวล ชาห์รามันยัน ประกาศกฤษฎีกาให้ทุกหน่วยงานและสถาบันของสาธารณรัฐอาร์ตซัค (Republic of Artsakh) ซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ ยุติการปฏิบัติงานทั้งหมดในวันที่ 1 ม.ค. ปี 2024
“สาธารณรัฐนาร์กอโน-คาราบัค (อาร์ตซัค) จะไม่มีอยู่อีกต่อไป” เนื้อความในกฤษฎีกา ระบุ
อาเซอร์ไบจานเข้ายึดครองภูมิภาคแห่งนี้ได้สำเร็จเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยปฏิบัติการโจมตีทางทหารแบบสายฟ้าแลบซึ่งกินเวลาเพียง 24 ชั่วโมง
สำหรับรัฐบาลประธานาธิบดี อิลฮัม อาลิเยฟ แห่งอาเซอร์ไบจาน นี่ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ในการกอบกู้อธิปไตยเหนือดินแดนซึ่งนานาชาติยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน แต่ถูกกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ประกาศจัดตั้งรัฐเอกราชโดยพฤตินัยภายหลังชนะสงครามเมื่อช่วงทศวรรษ 1990
ในอีกด้านหนึ่ง นี่คือความพ่ายแพ้และถือเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับชนชาติอาร์เมเนียเลยก็ว่าได้
สำนักข่าว RIA ของรัสเซียรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28) มีกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัคหลบหนีข้ามแดนไปยังอาร์เมเนียแล้วไม่ต่ำกว่า 70,500 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมดราว 120,000 คน
“จากการประเมินสถานการณ์ทำให้เชื่อได้ว่า ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะไม่มีชาวอาร์เมเนียหลงเหลืออยู่ในนากอร์โน-คาราบัคอีกต่อไป” สำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์อ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรี นิโคล ปาชินยาน แห่งอาร์เมเนีย
“นี่มันคือการทำลายล้างทางชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) ชัดๆ” ปาชินยาน ระบุ
รัฐบาลอาเซอร์ไบจานออกมาปฏิเสธข้อครหานี้ โดยยืนยันว่าไม่ได้มีการบีบบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์อาเมเนียต้องอพยพออกจากพื้นที่ และพร้อมจะผนวกนากอร์โน-คาราบัคกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจานโดยสันติวิธี อีกทั้งจะให้การรับรองสิทธิพลเมืองของคนเชื้อสายอาร์เมเนียด้วย
อย่างไรก็ตาม ชาวอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัคบอกว่า พวกเขาไม่เชื่อคำสัญญาเหล่านี้ และยังไม่ลืมประวัติศาสตร์อันนองเลือดระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเคยทำสงครามกันมาแล้ว 2 ครั้งนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายลง
ที่มา : รอยเตอร์, CNN