ผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบินขับไล่ของรัสเซีย ส่วนหนึ่งของแผนการเยือนที่สหรัฐฯ และพันธมิตรเกรงว่าจะนำไปสู่ “ดีลลับ” ที่จะช่วยเสริมเขี้ยวเล็บให้ทหารรัสเซียในยูเครน และยกระดับโครงการขีปนาวุธของรัฐโสมแดง
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้จัดการประชุมซัมมิตร่วมกับผู้นำ คิม วัย 39 ปี ในวันพุธ (13 ก.ย.) โดยรายงานระบุว่าทั้งสองฝ่ายหารือประเด็นด้านการทหารและยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน ขณะที่ คิม เองก็ได้เอ่ยปากเชื้อเชิญ ปูติน ไปเยือนเปียงยางด้วย
ผู้นำ คิม ได้เดินทางไปที่โรงงานผลิตอากาศยาน 2 แห่งในเมือง Komsomolsk-on-Amur ซึ่งได้แก่ โรงงานประกอบเครื่องบินยูริ กาการิน และโรงงานยาคอฟเลฟ โดยทั้งสองแห่งนี้เป็นหน่วยงานในสังกัด United Aircraft Corporation (UAC) ซึ่งถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตรหลังรัสเซียเปิดสงครามรุกรานยูเครนเมื่อปีที่แล้ว
สำหรับโรงงานยูริ กาการิน นั้นยังถูกขึ้นบัญชีดำโดยสหรัฐอเมริกาด้วย
รัฐบาลรัสเซียระบุว่า เดนิส มันตูรอฟ รองนายกรัฐมนตรี ได้พาผู้นำ คิม เข้าไปเยี่ยมชมสายการผลิตของโรงงานยูริ กาการิน ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตเครื่องบินขับไล่ Sukhoi Su-35 และ Su-57 และยังเข้าร่วมเวิร์กชอปการประกอบลำตัวและปีกของเครื่องบิน Sukhoi Superjet 100 ก่อนจะออกไปชมการบินสาธิตเครื่องบินขับไล่ Su-35
มันตูรอฟ แถลงต่อสื่อมวลชนว่า “เราได้เปิดโรงงานผลิตอากาศยานที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งให้ผู้นำเกาหลีเหนือเยี่ยมชม และเล็งเห็นความเป็นไปได้ที่ทั้งสองชาติจะร่วมมือกัน ทั้งในแง่ของการผลิตอากาศยาน และอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ”
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันพุธ (13) ว่า รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน พร้อมที่จะออกมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือและรัสเซียเพิ่ม “อย่างไม่ลังเล” หากพบว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีการทำข้อตกลงด้านอาวุธจริง
นักการทูตระดับสูงและเจ้าหน้าที่กลาโหมของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ยังลงความเห็นพ้องกันในวันนี้ (15 ก.ย.) ว่า ความร่วมมือทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียจะถือว่าละเมิดคำสั่งคว่ำบาตรของยูเอ็นอย่างร้ายแรง พร้อมเรียกร้องให้มอสโกทำตัวให้มี “ความรับผิดชอบ” สมกับที่เป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น
พัค จิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ บอกกับสื่อวันนี้ (15) ว่ารัฐบาลโซลอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือและรัสเซีย สืบเนื่องจากความกังวลเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายอาจทำข้อตกลงด้านอาวุธ
ด้านเจ้าหน้าที่รัสเซียออกมาปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ โดยบอกว่าสหรัฐฯ “ไม่มีสิทธิมาสั่งสอน” มอสโก ตราบใดที่อเมริกาก็ยังไม่หยุดดึงนานาชาติเข้ามาเป็นพันธมิตรของตัวเอง และยังเคยส่งเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์เข้าไปยังเกาหลีใต้เมื่อเดือน ก.ค.
ที่มา : รอยเตอร์