ราคาน้ำมันและทองคำขยับขึ้นในวันอังคาร (29 ส.ค.) หลังดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่วนวอลล์สตรีทปิดบวกแรง ได้แรงหนุนจากหุ้นบริษัทยักษ์ใหญ่และข้อมูลภาคแรงงาน ท่ามกลางความคาดหมายว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ย
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 1.06 ดอลลาร์ ปิดที่ 81.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนตุลาคม ลดลง 1.07 ดอลลาร์ ปิดที่ 85.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ดอลลาร์อ่อนค่าลงในวันอังคาร (29 ส.ค.) หลังข้อมูลพบตัวเลขตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ในสหรัฐฯ มาตรวัดอุปสงค์แรงงานลดลงในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม พวกผู้เชี่ยวชาญมองว่าการอ่อนตัวของภาคแรงงานอาจสนับสนุนให้เฟดชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ทำให้ราคาน้ำมันที่ซื้อขายในสกุลดอลลาร์มีราคาถูกลงสำหรับผู้ซื้อที่ถือสกุลอื่นๆ ซึ่งช่วยกระตุ้นอุปสงค์ทางพลังงาน
ขณะเดียวกัน คาดหมายว่าเฮอร์ริเคนอิดาเลีย น่าจะทวีความรุนแรงสู่ระดับ 3 ก่อนซัดเข้าชายฝั่งอ่าวฟลอริดา ในช่วงเช้าของวันพุธ (30 ส.ค.) มีความเป็นไปได้ว่าพายุลูกนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบจ่ายเชื้อเพลิงและการบริโภคพลังงานในภูมิภาคที่ถูกเล่นงาน ก่อนหน้าวันหยุดวันแรงงานในวันที่ 4 กันยายน
ส่วนราคาทองคำแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ในวันอังคาร (29 ส.ค.) หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ กดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 18.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,965.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกแรงในวันอังคาร (29 ส.ค.) ได้แรงหนุนจากหุ้นของเทสลาเอ็นวิเดีย และหุ้นขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอื่นๆ ตามหลังข้อมูลตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ ตอกย้ำความคาดหมายว่าเฟดจะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ย
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 292.69 จุด (0.85 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 34,852.67 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 64.32 จุด (1.45 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,497.63 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 238.63 จุด (1.74 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 13,943.76 จุด
ความเคลื่อนไหวในแดนบวกอย่างแข็งแกร่งมีขึ้นหลังจากสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานลดลง 338,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.827 ล้านตำแหน่งในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นการลดลง 3 เดือนติด และเป็นการส่งสัญญาณว่าแรงกดดันในตลาดแรงงานกำลังอ่อนตัวลง
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์รายหนึ่งจาก Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 106.1 ในเดือน ส.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 116.0 จากระดับ 114.0 ในเดือน ก.ค.
(ที่มา : รอยเตอร์)