(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Ukraine to cost half-trillion more if war ends now
By STEPHEN BRYEN
สงครามยูเครนจะสิ้นสุดลงโดยกลายเป็นการปฏิบัติการในต่างประเทศครั้งที่มีราคาแพงลิบลิ่วที่สุด รวมทั้งบางทีอาจจะเป็นการปฏิบัติการครั้งที่มีการทุจริตคอร์รัปชันสาหัสที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ ได้เคยดำเนินมา
ถ้าสงครามยูเครนยุติลงในวันพรุ่งนี้ สหรัฐฯ ก็ยังจำเป็นต้องส่งความช่วยเหลือเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ไปให้แก่ประเทศนั้นอยู่ดี งบประมาณค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้จะมีทั้งความช่วยเหลือทางทหารที่ยังต้องให้อย่างต่อเนื่อง งบประมาณสนับสนุนเพื่อให้รัฐบาลของยูเครนปฏิบัติงานได้ และความช่วยเหลือในเรื่องการฟื้นฟูบูรณะ
ประธานาธิบดีไบเดน เพิ่งร้องของบประมาณอีกก้อนหนึ่งมูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อใช้สนับสนุนยูเครน โดยที่เบื้องต้นเลยจะเป็นเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร แต่ก็มีงบประมาณสนับสนุนเพื่อให้รัฐบาลของยูเครนปฏิบัติงานได้ด้วยอยู่ส่วนหนึ่ง (มูลค่า 7,300 ล้านดอลลาร์) ขณะที่รัฐสภามีความสงสัยข้องใจมากขึ้นเรื่อยๆ กับการที่ต้องเจียดเงินก้อนมหึมาอีกก้อนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายในการสู้รบขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุดลงไปเสียที แต่ที่จริงแล้วเงินเท่านี้ต้องถือว่า “กระจอก” เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนที่จะถูกร้องขอภายหลังสงครามครั้งนี้สิ้นสุดลง
(ดูเพิ่มเติมเรื่องไบเดนของบประมาณช่วยยูเครนอีกก้อน ได้ที่ https://www.cnn.com/2023/08/10/politics/ukraine-funding-supplemental-joe-biden/index.html)
ทางด้านธนาคารโลกเพิ่งเสร็จสิ้นการทบทวนปรับปรุงประมาณการความจำเป็นต่างๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูบูรณะ โดยยึดโยงอยู่กับตัวเลขข้อมูลจากช่วงปีแรกของสงคราม (กุมภาพันธ์ 2022 ถึงกุมภาพันธ์ 2023) เวลานี้เวิลด์แบงก์บอกว่ายูเครนจำเป็นต้องใช้งบประมาณ 411,000 ล้านดอลลาร์สำหรับการฟื้นฟูบูรณะประเทศในช่วงระยะเวลา 10 ปี
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2023/03/23/updated-ukraine-recovery-and-reconstruction-needs-assessment)
การประมาณการดังกล่าวนี้ยังจำเป็นต้องบวกเพิ่มขึ้นไปอีกสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยูเครนในระยะตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 ถึงเดือนสิงหาคม 2023 ตลอดจนภายหลังจากนี้ มันจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะขบคิดกันว่าแม้กระทั่งถ้าสงครามยุติลงในวันพรุ่งนี้ ความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูบูรณะก็จะมีตัวเลขอยู่ในราวๆ 600,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น นั่นคืออย่างไรเสียก็ต้องมากกว่าครึ่งล้านล้านดอลลาร์
เพื่อวัตถุประสงค์สำหรับการเปรียบเทียบกัน สงครามในอิรักนั้นทำให้มีโปรแกรมฟื้นฟูบูรณะที่มีมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ ในอีกด้านหนึ่งสหรัฐฯ ก็ต้องใช้จ่ายงบประมาณ 90,000 ล้านดอลลาร์ตลอดช่วงระยะเวลา 12 ปีเพื่อสนับสนุนอัฟกานิสถาน (ถึงแม้สงครามยังคงดำเนินอยู่ในประเทศนั้นก็ตามที)
ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ ให้แก่อัฟกานิสถานนี้บางทีส่วนใหญ่ที่สุดทีเดียวคงถูกเบียดบังโจรกรรมไป หรือถูกยักย้ายไปจนถึงมือพวกตอลิบาน มิหนำซ้ำยังต้องบวกด้วยมูลค่าของอาวุธยุทโธปกรณ์ใช้ทำสงครามของสหรัฐฯ อีกหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลังในสภาพที่ยังดีอยู่ (เมื่อตอนที่กองทัพสหรัฐฯ ต้องเร่งรีบถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานในปี 2021 ขณะที่กองกำลังอาวุธของตอลิบานบุกยึดพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วยิ่ง -ผู้แปล) และเวลานี้ก็ถูกพวกตอลิบานนำเอาไปใช้งาน
ในกรณีของอิรัก ความช่วยเหลือส่วนใหญ่ก็สิ้นเปลืองเสียหายไป โดยต้องขอบคุณปัจจัยเรื่องการบริหารจัดการอย่างบกพร่องเลวร้าย การทุจริตคอร์รัปชัน และการวางแผนอันย่ำแย่
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cbsnews.com/news/much-of-60b-from-us-to-rebuild-iraq-wasted-special-auditors-final-report-to-congress-shows/)
สำหรับรายของยูเครน ดังที่กล่าวเอาไว้ข้างต้น สหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรของตนจำเป็นจะต้องหาเงินมาสนับสนุนเคียฟที่อาจจะสูงถึงปีละ 60,000 ล้านดอลลาร์ และจะต้องจัดมาให้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปีทีเดียว โดยคาดหมายเอาไว้ก่อนได้เลยว่าจำนวนมากของเงินเหล่านี้จะถูกเบียดบังโจรกรรมไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชันรูปแบบต่างๆ
เมื่อลองพิจารณาดูพวกพันธมิตรเป็นรายประเทศ เยอรมนีเพิ่งให้สัญญาที่จะสนับสนุนยูเครน “ตราบเท่าที่ยังเป็นที่ต้องการ” ในระดับปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์ ทว่ารัฐบาลเยอรมันที่ครองอำนาจอยู่ในเวลานี้น่าที่จะไปไม่รอดและถูกเปลี่ยนเป็นชุดใหม่ในเร็วๆ นี้ ดังนั้นคำมั่นสัญญาดังกล่าวจึงกำลังจะไร้ค่ากลายเป็นเศษกระดาษ เฉกเช่นเดียวกับค่าเงินมาร์กในยุคไวมาร์ (Weimar)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.auswaertiges-amt.de/en/aussenpolitik/laenderinformationen/ukraine-node/ukraine-solidarity/2513994)
(ยุคไวมาร์ หรือสาธารณรัฐไวมาร์ หมายถึงเยอรมนีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่มีระบอบปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐเป็นครั้งแรก โดยที่ในช่วงประมาณปี 1921-1923 เศรษฐกิจย่ำแย่เกิดภาวะเงินเฟ้อหนักหน่วง จนธนบัตรสกุลเงินมาร์กมีค่าเหมือนเศษกระดาษ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperinflation_in_the_Weimar_Republic)
ในทำนองเดียวกัน เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรก็อยู่ในสภาพไว้วางใจไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง และการมองหาเงินทองก้อนโตในอนาคตจะต้องกลายเป็นความท้าทายที่สาหัสทีเดียว ดังนั้นข้อสรุปจึงน่าจะออกมาว่า “ลุงแซม” นั่นแหละที่จะเป็นคนควักกระเป๋าจ่ายเงินเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่
มันอาจจะมีบุคคลวงในวอชิงตันบางรายที่กำลังคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการทำให้สงครามนี้ยืดเยื้อออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะถ้าการสู้รบยังคงคงดำเนินอยู่ สหรัฐฯ ก็มีความจำเป็นเพียงแค่การจัดหาความช่วยเหลือทางทหารและงบประมาณสนับสนุนเพื่อให้รัฐบาลยูเครนยังคงปฏิบัติงานได้ แต่ไม่ต้องให้ความช่วยเหลือเรื่องการฟื้นฟูบูรณะ
ผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาก็คือ นี่แหละเป็นนโยบายของคณะบริหารไบเดน ด้วยการทำให้สงครามดำเนินต่อไป คณะบริหารไบเดนคิดว่าจะสามารถโน้มน้าวให้คองเกรสยังคงหางบประมาณมาให้ใช้สอยต่อไปเรื่อยๆ และพวกเขาก็สามารถประคับประคองให้ยูเครน “ยังคงมีชีวิตอยู่” ด้วยการคอยหาทางรีดเค้นงบประมาณเพื่อจัดส่งอาวุธและเงินทองแก่เคียฟ สำหรับใช้ในการจ่ายเงินเดือน ตลอดจนซัปพลายข้าวของสัมภาระที่จำเป็นต่างๆ
แต่ว่ารัฐสภายินดีหรือไม่ที่จะต้องคอยควักกระเป๋าจ่ายให้แก่สงครามที่ไม่รู้จักสิ้นสุดเสียที? อย่างน้อยที่สุดคองเกรสก็น่าจะต้องการทราบว่าเงินทองที่จ่ายไปนั้นมันกำลังไปไหนบ้าง มันถูกใช้กันอย่างไร และรัฐบาลสามารถตรวจสอบไล่เรียงหาตัวผู้ที่จะต้องรับผิดชอบการใช้จ่ายเงินทองเหล่านี้ได้อย่างไร
ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เวลานี้พากันคัดค้านการให้ความเหลือเพิ่มเติมแก่ยูเครน เรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งโดยที่การดีเบตโต้วาทีรอบแรกของพวกที่ต้องการเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2024 เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว และแน่นอนที่สุดว่าเรื่องยูเครนจะกลายเป็นประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งในการรณรงค์หาเสียง อันที่จริงมีผู้ต้องการเป็นผู้สมัครบางราย อย่างเช่น โรเบิร์ต เคนเนดี จูเนียร์ (Robert Kennedy Jr.) ซึ่งคงจะระบุตนเองว่าเป็นชาวพรรคเดโมแครตไปอย่างน้อยช่วงเวลาหนึ่ง ได้พูดออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าเขาคัดค้านการให้ความสนับสนุนสงครามยูเครน
(ดูเพิ่มเติมผลโพลที่ชี้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ยูเครน ได้ที่ https://www.cnn.com/2023/08/04/politics/cnn-poll-ukraine/index.html)
นี่อาจหมายความว่า ไบเดนจะต้องเจอปัญหาใหญ่มหึมาทีเดียวในการพยายามทำให้ม้าพยศอย่างคองเกรส ซึ่งก็รวมไปถึงผองเพื่อนชาวพรรคเดโมแครตของเขาด้วย ยินยอมยกมือเห็นชอบกับการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกในโครงการที่มองเห็นกันมากขึ้นทุกทีว่ากำลังพ่ายแพ้ล้มเหลว
เป็นที่เข้าใจกันมายาวนานแล้วว่า ยูเครน คือประเทศที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชันประเทศหนึ่ง พวกนักการเมืองชาวยูเครน รวมทั้งเซเลนสกีด้วย ต่างมีทรัพย์สมบัติจำนวนหนึ่งอยู่ในต่างแดน (เซเลนสกี มีบ้านพักแบบวิลลาหลังหนึ่งในแคว้นทัสกานี Tuscany ทางตอนกลางของอิตาลี โดยตั้งอยู่ริมทะเลในเขตเมืองฟอร์เต ดี มาร์มี Forte dei Marmi เขาซื้อหาบ้านหลังนี้เอาไว้ตั้งแต่ก่อนเล่นการเมือง และเวลานี้ปล่อยเช่าให้แก่พวกลูกค้าชาวรัสเซียในราคาเดือนละ 12,000 ยูโร)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องยูเครนเป็นประเทศหนึ่งที่มีคอร์รัปชันสูง ได้ที่ https://www.occrp.org/en/the-pandora-papers/pandora-papers-reveal-offshore-holdings-of-ukrainian-president-and-his-inner-circle)
ฮันเตอร์ (Hunter) บุตรชายของประธานาธิบดีไบเดน ก็ถูกโยงใยเกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีคอร์รัปชันที่มีการจ่ายสินบนและกิจกรรมอื่นๆ โดยส่วนหนึ่งรวมศูนย์อยู่ที่บริษัทโฮลดิ้งคอมพานีของกิจการพลังงาน บูริสมา (Burisma) ของยูเครน และอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่การทำธุรกรรมต่างๆ ของเขาในประเทศจีน คณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวพรรครีพับลิกัน ซึ่งสอบสวนเรื่องนี้อยู่ กำลังหาทางดึงลากเอาตัวประธานาธิบดีไบเดนมาผูกโยงกับเรื่องนี้ด้วย
แล้วเมื่อเงินทองเพื่อการฟื้นฟูบูรณะ “ก้อนมหึมา” เริ่มต้นไหลเวียนออกมา –หากสมมติกันว่ามีการผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้สำเร็จจริงๆ— พวกเจ้าหน้าที่ทางการเมืองและการทหารในยูเครนย่อมกระตือรือร้นในการช่วยเหลือสหรัฐฯ เพื่อดึงเอาเงินทองบางส่วนเข้ากระเป๋าพวกเขาเอง
ปัญหาทุจริตคดโกงของยูเครน ปรากฏออกมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากในเดือนสิงหาคมนี้ เมื่อประธานาธิบดีเซเลนสกีสั่งปลดเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งทำหน้าที่เกณฑ์ทหารในทุกๆ ท้องถิ่นทั่วประเทศ สืบเนื่องจากเรื่องฉาวโฉ่ที่พวกเขาหลายคนกำลังขายหนังสือรับรองผ่านการเกณฑ์ทหารแล้วให้แก่พวกคนหนุ่มที่หาทางหลบเลี่ยงไม่ต้องไปรบในสงครามครั้งนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/world/2023/08/11/ukraine-military-recruitment-zelensky-corruption/)
ในที่สุดแล้ว ยูเครนทำท่าจะจบลงด้วยการเป็นการปฏิบัติการที่มีราคาแพงลิบลิ่วที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ เคยดำเนินการมา แผนการมาร์เชลล์ (Marshall Plan) ของสหรัฐฯ เพื่อการฟื้นฟูบูรณะยุโรปภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้สหรัฐฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายไป 13,300 ล้านดอลลาร์ จำนวนดังกล่าวเมื่อคำนวณออกมาเป็นมูลค่าดอลลาร์ในปี 2023 จะเท่ากับประมาณ 173,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ง่ายๆ ก็เท่ากับเพียงแค่หนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายการฟื้นฟูบูรณะที่คาดกันว่าจะต้องใช้สำหรับยูเครนเท่านั้น
คาดหมายได้ว่าจะต้องมีความพยายามวิ่งเต้นล็อบบี้กันอย่างแข็งขันจากพวกบริษัทสหรัฐฯ บางแห่งที่มองเห็นหนทางร่ำรวยจากงบประมาณจัดหาความสนับสนุนเพื่อการฟื้นฟูบูรณะให้แก่ยูเครน (บริษัทเหล่านี้ถือเป็นผู้ต้องสงสัยรายใหม่ๆ เพิ่มเติมจากพวกต้องสงสัยหน้าเดิมๆ ตามปกติในอุตสาหกรรมกลาโหม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดหาจัดส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธให้แก่เคียฟ)
เราเคยพบเห็นคนเหล่านี้มาก่อนแล้วในตอนที่มีการฟื้นฟูบูรณะอิรัก การล็อบบี้เช่นนี้จะมีการอ่อยเหยื่อเพื่อทำให้ทั้งชาวพรรคเดโมแครตและชาวพรรครีพับลิกันต้องติดเบ็ด ทั้งๆ ในสถานการณ์ปกติแล้ว นักการเมืองเหล่านี้อาจจะตัดสินใจผลักดันให้สหรัฐฯ เดินออกมาจากสงคราม อย่างไรก็ดี ในคราวนี้พลังล็อบบี้ดังกล่าวจะทรงพลังเพียงพอที่จะประจันหน้าต้านทานเจตนารมณ์ของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงชาวอเมริกันได้หรือไม่?
ชาวอเมริกันสามารถที่จะตั้งคำถามอันถูกต้องขึ้นมาว่า เราจะได้อะไรขึ้นมาจากงบรายจ่ายจำนวนมหาศาลเหล่านี้ซึ่งจะสร้างภาระสาหัสให้แก่พวกผู้เสียภาษีของสหรัฐฯ? นโยบายของสหรัฐฯ ว่าเด้วยยูเครนคือการสร้างความวิบัติหายนะในด้านต่างๆ จำนวนมาก และแน่นอนทีเดียวว่าหนึ่งในด้านเหล่านี้ก็คืองบประมาณค่าใช้จ่ายมหึมาที่ต้องใช้ในการสนับสนุนการเสี่ยงโชคอย่างผิดพลาดครั้งนี้ที่ดูไม่ยอมยุติจบสิ้นลงเสียที
สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน