กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันวานนี้ (8 ส.ค.) ว่ายังคงเชื่อมั่นและพร้อมที่จะแบ่งปันข่าวกรองให้ญี่ปุ่น หลังสื่อดังในอเมริกาออกมาแฉว่าหน่วยแฮกเกอร์ทางทหารของจีนได้ทำการเจาะเครือข่ายข้อมูลด้านกลาโหมที่เปราะบางที่สุดของญี่ปุ่นได้แล้ว
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เผยแพร่รายงานเมื่อวันจันทร์ (7) โดยอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นทั้งอดีตและปัจจุบันซึ่งระบุว่า แฮกเกอร์ของกองทัพจีนได้เจาะเครือข่ายกลาโหมชั้นความลับของญี่ปุ่นเมื่อปี 2020 และสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับแสนยานุภาพทางทหารของกองกำลังญี่ปุ่น ตลอดจนแผนงาน และผลการประเมินข้อบกพร่องต่างๆ
ฮิโรคาซุ มัตสึโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุในงานแถลงข่าววานนี้ (8 ส.ค.) ว่า ญี่ปุ่นไม่สามารถยืนยันได้มีข้อมูลด้านความมั่นคงใดๆ รั่วไหลออกไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม วอชิงตันโพสต์อ้างข้อมูลจากอดีตนายทหารสหรัฐฯ คนหนึ่งซึ่งยอมรับว่า ปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งนี้จัดว่า “รุนแรงและเลวร้ายอย่างน่าตกตะลึง” และผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ถึงขั้นต้องบินไปโตเกียวเพื่อหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น ซึ่งขอให้ทางสหรัฐฯ แจ้งเรื่องนี้ให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทราบ
วอชิงตันโพสต์ระบุด้วยว่า แม้ญี่ปุ่นจะยกระดับป้องกันความปลอดภัยของเครือข่ายข้อมูลกลาโหม แต่เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามหลายคนเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้ “ยังไม่เพียงพอ” ที่จะสกัดหน่วยจารกรรมจีน และอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการแชร์ข้อมูลข่าวกรองที่มากยิ่งขึ้นระหว่างเพนตากอนกับกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นในอนาคต
ล่าสุด ซาบรีนา ซิงห์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานของวอชิงตันโพสต์ โดยขอให้โตเกียวเป็นฝ่ายชี้แจงเอง แต่ย้ำว่าสหรัฐฯ “มั่นใจในความสัมพันธ์และการแชร์ข้อมูลข่าวกรองกับญี่ปุ่น และจะยังคงกระทำเช่นนี้ต่อไป”
ด้าน NSA ยังไม่ออกมาตอบคำถามสื่อในประเด็นนี้ ซึ่งถูกตีแผ่ก่อนจะมีการประชุมซัมมิต 3 ฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ในวันที่ 18 ส.ค. โดยคาดว่าพันธมิตรทั้ง 3 ชาติจะประกาศแผนยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคง เพื่อรับมือภัยคุกคามจากจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้กำลังเตรียมร่างคำแถลงร่วมภายหลังการประชุมซัมมิต ซึ่งจะช่วยให้ทั้ง 3 ชาติผูกพันแน่นแฟ้นมากขึ้นในแง่ของความมั่นคง โดยกลุ่มพันธมิตรมีการหารือว่าจะเปิดสายด่วนระดับผู้นำ 3 ฝ่าย ยกระดับการซ้อมรบร่วม และส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงไซเบอร์ การป้องปรามขีปนาวุธ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ที่มา : รอยเตอร์