ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้รัฐบาลของเขาเริ่มแบ่งปันหลักฐานคำกล่าวอ้างรัสเซียก่ออาชญากรรมสงคราม กับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อเมริการายหนึ่งเมื่อวันพุธ (26 ก.ค.) แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของศาลแห่งนี้ก็ตาม
ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) คัดค้านความเคลื่อนไหวดังกล่าวมาตลอด และโต้แย้งอย่างลับๆ ว่าความร่วมมือใดๆ กับศาลอาญาระหว่างประเทศอาจเป็นการเปิดทางให้บรรดาทหารอเมริกาที่ประจำการในต่างแดนถูกดำเนินคดีทางการเมือง
ไอซีซี ซึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการอาชญากรรมสงครามถาวร ได้ออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อเดือนมีนาคม ฐานต้องสงสัยบังคับเนรเทศเด็กๆ ไปจากยูเครน ซึ่งเทียบเท่ากับเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม
ข่าวคราวเกี่ยวกับคำสั่งล่าสุดนี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานเป็นที่แรก โดยระบุว่ารัฐบาลไบเดน ได้เริ่มแจ้งไปยังสมาชิกรัฐสภาแล้วในวันอังคาร (25 ก.ค.) อย่างไรก็ตาม ทางทำเนียบขาวปฏิเสธพูดอย่างเจาะจงเกี่ยวกับความร่วมมือใดๆ กับศาลอาญาระหว่างประเทศ
"นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มจู่โจมยูเครน ท่านประธานาธิบดีแสดงจุดยืนชัดเจนว่า จำเป็นต้องนำตัวพวกกระทำผิดมาลงโทษ พวกเปิดทางอาชญากรรมสงครามและพวกกระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนในยูเครน" โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติรายหนึ่งระบุ "ในเรื่องเกี่ยวกับไอซีซี เราไม่ขอพูดอย่างเจาะจงเกี่ยวกับความร่วมมือใดๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางดำเนินงานของศาล ที่ร้องขอความร่วมมือในลักษณะที่เป็นความลับ"
โฆษกรายนี้บอกว่าที่ผ่านมา สหรัฐฯ เคยส่งทีมสืบสวนนานาชาติ และอัยการเข้าช่วยเหลือสำนักงานอัยการสูงสุดของยูเครน ในการตระเตรียมคดีอาชญากรรมสงครามต่างๆ ในขณะที่ยูเครนและตะวันตกอ้างว่าพวกเขามีหลักฐานของการฆาตกรรมและการประหาร ยิงปืนใหญ่ถล่มโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือน บังคับเนรเทศ ลักพาตัวเด็ก ทรมาน ประทุษร้ายทางเพศและคุมขังอย่างผิดกฎหมาย
บรรดาสมาชิกรัฐสภาจากรีพับลิกันและเดโมแครต ต่างกล่าวหาจุดยืนคัดค้านของเพนตากอน ว่าเทียบเท่ากับเป็นบ่อนทำลายความพยายามดำเนินคดีกับรัสเซียในฐานความผิดก่ออาชญากรรมสงคราม ด้วยการขัดขวางไม่ให้แบ่งปันข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ กับไอซีซี
รัสเซียไม่ได้เป็นรัฐสมาชิกของไอซีซีและปฏิเสธขอบเขตอำนาจศาลแห่งนี้ นอกจากนี้พวกเขายังปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนระหว่างความขัดแย้งกับยูเครน ทั้งนี้ในส่วนของสหรัฐฯ ก็ไม่เป็นเป็นรัฐภาคีของไอซีซีเช่นกัน
มอสโกออกหมายจับอัยการรายหนึ่งของไอซีซี ผู้ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม เป็นคนออกหมายจับปูติน ตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ความสำเร็จใดๆ ของการดำเนินคดีอาชญากรรมสงคราม จำเป็นต้องมีข้อพิสูจน์ที่ได้มาตรฐานระดับสูง ในสถานการณ์หนึ่งซึ่งสามารถเข้าถึงพวกผู้ต้องสงสัยและสถานที่เกิดเหตุอาชญากรรม ซึ่งบ่อยครั้งถูกจำกัด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความทับซ้อนกันในด้านขอบเขตอำนาจ ระหว่างศาลในประเทศกับศาลระหว่างประเทศอีกด้วย
(ที่มา : รอยเตอร์)