เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ Su-35 ของรัสเซียเป็นภัยคุกคามหลักของกองทัพเคียฟ ท่ามกลางความขัดแย้งในปัจจุบัน จากความเห็นของโฆษกกองบัญชาการกองทัพอากาศยูเครนเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องได้รับแรงสนับสนุนด้านเครื่องบินขับไล่ F-16 จากตะวันตก
"พวกเขามี Su-35 หนึ่งในอากาศยานดีที่สุดของพวกเขา" ยูรี อิกนัต โฆษกกองบัญชาการกองทัพอากาศยูเครน ให้สัมภาษณ์ในวันศุกร์ (21 ก.ค.) เมื่อถูกถามว่ามอสโกมีเครื่องบินรบที่ทัดเทียมกับ F-16 ที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ หรือไม่ ในขณะที่ทางเคียฟคาดหวังว่าจะได้รับมอบ F-16 จากบรรดาผู้สนับสนุนตะวันตก "เครื่องบินหลักที่เป็นภัยคุกคามเราคือ Su-35 เราต้องยอมรับ"
เครื่องบินขับไล่ที่ผลิตโดยบริษัทซูคอยของรัสเซีย เป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและมีอาวุธร้ายแรง ในนั้นรวมถึงจรวด R-37 ซึ่งอวดอ้างกันว่ามีขนาดใหญ่กว่าขีปนาวุธยิงจากอากาศสู่อากาศ AIM-120 AMRAAM ของสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก จากคำอธิบายของโฆษกกองบัญชาการกองทัพอากาศยูเครน
โฆษกกองบัญชาการกองทัพอากาศยูเครนระบุต่ออีกว่า "ความได้เปรียบหลักๆ ของเครื่องบินรบรัสเซีย นั่นคือเรดาร์ของมัน ระบบเล็งเป้าหมายและระบบนำวิถีที่สามารถยิงใส่เป้าหมายทางอากาศหลายเป้าหมายในครั้งเดียว"
นอกจากนี้ เขายอมรับว่า Su-35 ยังมีหนทางในการป้องกันตนเองต่างๆ และอุปกรณ์ทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ กระนั้นโฆษกรายนี้เน้นย้ำว่ายังไงเสียเครื่องบินรุ่นนี้ยังสามารถถูกสอยร่วงได้ "ต้องตระหนักว่ามันคือศัตรูตัวร้ายที่สุด แต่ F-16 ก็ไม่ใช่คู่ปรับที่อ่อนแอและผ่านการปรับปรุงให้มีความทันสมัยเช่นกัน"
Su-35 ซึ่งถูกส่งเข้าประจำการในกองทัพรัสเซียในช่วงกลางทศวรรษ 2010 คือเครื่องบินขับไล่ครองอากาศคล่องตัวสูงรุ่น 4 ที่สามารถโจมตีเป้าหมายทั้งทางอากาศและทางภาคพื้น ส่วน F-16 เป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์รุ่น 4 ที่เข้าประจำการมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 แต่ผ่านการอัปเกรดมาแล้วหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เคียฟกดดันบรรดาผู้สนับสนุนต่างชาติ ร้องขอเครื่องบินขับไล่ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ รุ่นนี้ มานานหลายเดือนแล้ว อ้างว่ามันมีความสำคัญที่มอบการคุ้มกันทางอากาศแก่ทหารยูเครน และปกป้องน่านฟ้าของประเทศ
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เคยบอกก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือน ว่า จะมีการถ่ายโอนเครื่องบิน F-16 ไปยูเครน โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมาจากบรรดาชาติยุโรปที่มีเสบียง F-16 ส่วนเกิน ในขณะที่ ดมิทรี คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของยูเครน บ่งชี้ในเวลาต่อมาว่า นักบินยูเครนที่ผ่านการฝึกฝนแล้ว อาจสามารถนำเครื่องบินที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ ขึ้นสู่ท้องฟ้า "ได้ในช่วงปลายไตรมาสแรกของปีหน้า"
อย่างไรก็ตาม พล อ.มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ ระบุเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ว่า มันอาจต้องใช้เวลานานหลายปีสำหรับฝึกนักรบยูเครนขับเครื่องบิน F-16 รวมถึงวิธีการบำรุงรักษาและปฏิบัติการต่างๆ ที่จำเป็น เช่นเดียวการระดมแรงสนับสนุนทางการเงินแก่เคียฟ เพื่อสามารถต่อกรกับมอสโกในแง่แสนยานุภาพทางอากาศ
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)