xs
xsm
sm
md
lg

เลือกข้างไหนดี! ไทยร่วมสังเกตการณ์พันธมิตรสหรัฐฯ ซ้อมรบต่อต้านจีนในออสเตรเลีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คาร์ลอส เดล โทโร รัฐมนตรีว่าการทบวงทหารเรือสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันศุกร์ (21 ก.ค.) การซ้อมรบนานาชาติครั้งใหญ่ ฝซึ่งจัดขึ้นในออสเตรเลีย เป็นการส่งสารถึงจีนว่าบรรดาพันธมิตรทั้งหลายของอเมริกาจะร่วมมือกันปกป้องความมั่นคงและค่านิยมประชาธิปไตยของพวกเขา การซ้อมรบที่มีไทยเข้าร่วมด้วยในฐานะผู้สังเกตการณ์

การซ้อมรบ Talisman Sabre เริ่มมาตั้งแต่ปี 2005 ในฐานะการซ้อมรบทุกๆ 2 ปี ระหว่างสหรัฐฯ กับออสเตรเลีย แต่ในปีนี้มันขยายขอบเขตสู่ 13 ประเทศ และมีบุคลากรทางทหารเข้าร่วมมากกว่า 30,000 นาย

เดล โทโร บอกว่าเขา และริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย ยินดีกับความสัมพันธ์ทางทหารทวิภาคีที่ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ระหว่างเปิดการซ้อมรบ ณ ฐานทัพเรือแห่งหนึ่งในซิดนีย์ พร้อมระบุว่ารูปแบบทางทหารทั้งทางบก ทะเล และอากาศเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และบรรดาพันธมิตรจำเป็นต้องมีการซักซ้อมร่วมกันเพื่อสามารถปฏิบัติการได้ในฐานะหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจหนึ่งเดียว

"สารที่สำคัญที่สุดที่จีนสามารถรับรู้จากการซ้อมรบนี้ และทุกอย่างที่พันธมิตรและคู่หูของเราดำเนินการร่วมกันในครั้งนี้คือ เราผูกมัดกันอย่างเหนียวแน่นด้วยค่านิยมหลักที่ประเทศต่างๆ มากมายในหมู่ของเรามีอยู่ร่วมกัน" เดล โทโร บอกกับผู้สื่อข่าว "เราพร้อมปฏิบัติการร่วมกันในการปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของเรา และปกป้องค่านิยมหลักที่เราทั้งหมดยึดถือร่วมกัน"

มาร์ลส์ เปิดเผยว่า มียานยนต์ทางทหารมากกว่า 800 คัน ที่จะข้ามท่าเทียบเรือเคลื่อนที่หนึ่งเดียว เข้าประจำการในเมืองโบเวน ในรัฐควีนส์แลนด์ ระหว่างการซ้อมรบ 2 สัปดาห์ "มันเป็นการซ้อมรบด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญที่สุด ระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐฯ ในออสเตรเลีย นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2" เขากล่าว

"ทั้งหมดทั้งมวลนี้ที่จริงแล้วคือการเสริมสร้างฝึกฝนทักษะระหว่างกองกำลังป้องกันตนเองของ 2 ประเทศของเรา และสร้างความคุ้นเคย และชัดเจนว่า มันไม่ใช่แค่ระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่จะมีประเทศอื่นๆ อีก 11 ชาติเข้าร่วมด้วย" มาร์ลส์ กล่าว

ขณะเดียวกัน เดล โทโร และมาร์ลส์ ยังมองในแง่บวกความคืบหน้าของข้อตกลงที่เรียกว่า AUKUS ซึ่งส่วนหนึ่งในนั้น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจะจัดหากองเรือดำน้ำแก่ออสเตรเลีย ภายใต้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ

ความสัมพันธ์ใกล้ชิดด้านการทหารได้ถูกตอกย้ำในวันเสาร์ (22 ก.ค.) เมื่อเรือรบยูเอสเอส แคนเบอร์รา ของสหรัฐฯ แล่นเข้าเทียบท่าซิดนีย์ โดยเรือโจมตีชายฝั่ง (Littoral Combat Ship) ที่สร้างโดย Austal บริษัทผู้ผลิตสัญชาติออสเตรเลีย กลายเป็นเรือรบลำแรกของอเมริกาที่เข้าประจำการในท่าเรือของต่างประเทศ

เดิมทีเรือยูเอสเอส แคนเบอร์รา ของสหรัฐฯ เป็นเรือลาดตระเวนเปิดตัวในปี 1943 ตั้งชื่อตามเรือลาดตระเวนเอชเอ็มเอเอส แคนเบอร์รา ของออสเตรเลีย ซึ่งถูกญี่ปุ่นยิงตอร์ปิโดโจมตี 1942 คร่าชีวิตลูกเรือ 193 นาย ระหว่างปฏิบัติการสนับสนุนนาวิกโยธินสหรัฐฯ ยกพลขึ้นบกหมู่เกาะโซโลมอน ทั้งนี้ในส่วนของเรือรบของออสเตรเลียนั้นตั้งชื่อตามเมืองหลวงของประเทศ

ปัจจุบัน หมู่เกาะโซโลมอนกลายเป็นความกังวลด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรอีกครั้งเกี่ยวกับข้อตกลงด้านความมั่นคงเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประเทศหมู่เกาะทางใต้ของแปซิฟิกลงนามร่วมกับปักกิ่ง

รายงานข่าวระบุว่า ฟิจิ ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี ตองกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และเยอรมนี เข้าร่วมการซ้อมรบในปีนี้ ซึ่งจะมีไปจนถึงวันที่ 4 สิงหาคม ในขณะที่ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์

(ที่มา : เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น