xs
xsm
sm
md
lg

ได้ยินน้ำเสียงรื่นหูกันบ้างจากการเยือนปักกิ่งของขุนคลังหญิงมะริกัน ‘เจเน็ต เยลเลน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


รัฐมนตรีคลัง เจเน็ต เยลเลน ของสหรัฐฯ (ซ้าย) จับมือกับรองนายกรัฐมนตรี เหอ ลี่เฟิง ของจีน ระหว่างพบปะเจรจากันที่ทำเนียบต้อนรับแขกเมือง “เตี้ยวอี่ว์ไถ” ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันเสาร์ (8 ก.ค.) ที่ผ่านมา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Cordial tone in Yellen’s Beijing visit
By JEFF PAO
08/07/2023

มันไม่ได้มีการทะลุทะลวงผ่าทางตันใดๆ แต่การมาปรากฏตัวในปักกิ่งของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “สายพิราบ” ภายในคณะบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ช่วยลดทอนผ่อนคลายความดุเดือดของสงครามถ้อยคำแบบเหยี่ยวร้าย-นักรบหมาป่าอย่างที่เคยได้ยินได้ฟังอยู่เป็นปกติในช่วงหลังๆ มานี้ในความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ

จีนเรียกร้องสหรัฐฯ ให้มีปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมสำหรับทั้งสองฝ่ายในบรรลุถึงผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกัน

ปักกิ่งแสดงความหวังว่า รัฐมนตรีคลัง เจเน็ต เยลเลน ของสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่อเมริกันที่ถือว่าอยู่ในสายพิราบ ซึ่งเริ่มต้นการเยือนจีนเป็นเวลา 4 วันมาตั้งแต่วันพฤหัสบดี (6 ก.ค.) เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านจะส่งข้อความไปถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดน ว่า “ในสงครามการค้า และใน “การหย่าร้างแยกขาดจากกัน” ทางเศรษฐกิจ (economic “decoupling”) นั้น จะไม่มีใครเป็นผู้ชนะหรอก”

ภายหลังจากจีนเปิดเผยเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้นว่า จะใช้มาตรการควบคุมการส่งออกแกลเลียม และเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และผลิตภัณฑ์ไฮเทคอื่นๆ ในวันศุกร์ (7 ก.ค.) เยลเลน ได้เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.france24.com/en/live-news/20230707-yellen-to-discuss-us-china-ties-global-economic-outlook-in-beijing)

เธอบอกกับ หลี่ ว่า สหรัฐฯ มุ่งแสวงหาการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบมุ่งก่อให้เกิดสุขภาพที่ดีกับประเทศจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศตลอดระยะเวลาที่ล่วงเลยไป ไม่ได้ต้องการให้เป็นการต่อสู้ที่ “ผู้ชนะกวาดเดิมพันไปทั้งหมด” ถึงแม้เธอกล่าวด้วยว่า ในสภาวการณ์ที่แน่นอนบางอย่างบางประการ สหรัฐฯ ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนเอาไว้ว่าเพื่อพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงแห่งชาติของตน

เยลเลน ถือเป็นเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่มีอาวุโสสูงคนที่สองซึ่งเดินทางเยือนจีนในช่วงนี้ หลังจากการเดินทางมาของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ที่ได้เข้าพบหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในกรุงปักกิ่งด้วย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

การพูดจาทั้งหลายเหล่านี้บังเกิดขึ้นท่ามกลางฉากหลังของสงครามเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังดุเดือดเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ล่าสุดสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการชักชวนให้ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัตถุดิบและเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการทำชิปไปยังจีน ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม และวันที่ 1 กันยายนตามลำดับ

รายงานของสื่อหลายกระแสที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังบอกว่า อีกไม่ช้าไม่นานวอชิงตันจะประกาศแผนการสั่งห้ามบริษัทอินวีเดีย (Nvidia) จัดส่งชิปสำหรับใช้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของบริษัท ทั้งรุ่น A800 และ H800 ไปยังจีน รวมทั้งยังจะจำกัดพวกกองทุนต่างๆ ของสหรัฐฯ ในการเข้าไปลงทุนภาคเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศจีนอีกด้วย เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนนี้เป็นต้นไป เพื่อเป็นการตอบโต้ จีนจึงแถลงในวันจันทร์ (3 ก.ค.) ว่าบริษัทที่ต้องการส่งออกแกลเลียมและเจอร์เมเนียม จะต้องยื่นขอใบอนุญาตเสียก่อนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้

มองเห็นสายรุ้งสวยสดใส

ตอนที่ เยลเลน เดินทางถึงปักกิ่งในวันพฤหัสบดี (6 ก.ค.) เธอทวีตว่า เธอกำลังจะ “เสาะแสวงหาการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบมีสุขภาพดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บรรดาคนงานและกิจการของชาวอเมริกัน และมุ่งเสาะหาความร่วมมือเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลกทั้งหลาย”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/SecYellen?ref_src=twsrc%5Egoogle%7Ctwcamp%5Eserp%7Ctwgr%5Eauthor)

“เราจะลงมือดำเนินการเพื่อพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงแห่งชาติของเราเมื่อจำเป็นต้องทำเช่นนั้น และทริปเดินทางนี้มุ่งเสนอโอกาสสำหรับการสื่อสารกัน และหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ผิดพลาดหรือความเข้าใจผิด” เธอระบุในข้อความที่ทวีต

สำหรับพวกเจ้าหน้าที่และสื่อทางการของจีนนั้น จวบจนถึงเวลานี้เวลาพูดถึงทริปเยือนจีนของเยลเลน ยังคงใช้น้ำเสียงแสดงความเป็นมิตรมากกว่าที่พวกเขาเคยใช้ตอนกล่าวถึงเที่ยวเดินทางของบลิงเคน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://v.ifeng.com/c/8REE2rU7HyA)

“ผมมีความยินดีมากที่ได้พบหารือกับท่านในปักกิ่ง” นายกฯ หลี่บอกกับ เยลเลนในตอนที่พวกเขาเริ่มต้นเจรจากันเมื่อวันศุกร์ (7 ก.ค.) “ไม่เพียงแค่จีนกับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังประชาชนในตลอดทั่วโลกทีเดียว กำลังให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับการเยือนปักกิ่งของท่าน”

“เมื่อวานนี้ ในขณะที่ท่านมาถึงสนามบินของเราและลงจากเครื่องบิน เราก็มองเห็นสายรุ้งสวยสดใส” เขากล่าว “ผมคิดว่ามันสามารถประยุกต์เข้ากับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนด้วยเช่นกัน นั่นคือหลังจากผ่านพ้นประสบการณ์เจอะเจอกับลมและฝนมาระลอกหนึ่งแล้ว เราก็สามารถแน่ใจได้เลยว่าเราจะได้เห็นสายรุ้งสวยสดใส”

“ผมยังมักพูดกับพวกผู้ประกอบการชาวจีนอยู่บ่อยๆ ว่า เราต้องฟันฝ่าให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากอยู่เสมอ” เขาบอก “ตอนที่เราพูดว่าปีนี้มันเลวร้ายนั้น ปีหน้ายังสามารถที่จะเลวร้ายมากขึ้นไปอีก เราจะต้องอยู่รอดต่อไปให้ได้”

เขากล่าวว่าพวกวิสาหกิจของจีนต้องเฝ้าดูสังเกตสังกาเศรษฐกิจโลกและมองไปข้างหน้า ไม่สามารถที่จะมองอะไรสั้นๆ แคบๆ เพียงแค่น้ำที่อยู่ใต้เท้าของพวกเขาในวันฝนตกเท่านั้น เขากล่าวอีกว่าเรื่องนี้ก็สามารถประยุกต์เข้ากับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เช่นเดียวกัน

ก่อนที่เธอจะพบหารือกับหลี่ เยลเลนได้ “สนทนาอย่างมีเนื้อหาสาระ” กับอดีตรองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ (Liu He) และ อี้ กัง (Yi Gang) ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี ซึ่งระบุว่าพวกเขาได้หารือกันถึงเรื่องอนาคตทางเศรษฐกิจของโลก ตลอดจนอนาคตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และของจีน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.france24.com/en/live-news/20230707-yellen-to-discuss-us-china-ties-global-economic-outlook-in-beijing)

ความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกัน

ในวันศุกร์ (7 ก.ค.) กระทรวงการคลังของจีนออกคำแถลงระบุว่า การเยือนจีนของ เยลเลน คือหนึ่งในมาตรการรูปธรรมของการปฏิบัติตามฉันทมติที่ทรงความสำคัญมากซึ่งออกมาจากการเจรจาหารือระหว่าง สี-ไบเดน ที่บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว คำแถลงกล่าวอีกว่าทริปเยือนของขุนคลังสหรัฐฯ จะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่การติดต่อสื่อสารและการแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่ทางการเงินระหว่างประเทศทั้งสอง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mof.gov.cn/zhengwuxinxi/caizhengxinwen/202307/t20230707_3894922.htm)

“สาระสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-สหรัฐฯ ก็คือ เพื่อบรรลุผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกันและก่อให้เกิดผลลัพธ์ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะ ขณะที่ในสงครามการค้าและ “การหย่าร้างแยกขาดจากกัน” นั้น จะไม่มีใครเลยที่เป็นผู้ชนะ” โฆษกกระทรวงการคลังของจีน ซึ่งไม่มีการระบุชื่อว่าเป็นใคร แถลง “เราหวังว่าสหรัฐฯ จะมีการกระทำอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้แก่การพัฒนาอย่างมีสุขภาพดีของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง”

ทางด้าน ซู เสี่ยวฮุ่ย (Su Xiaohui) รองผู้อำนวยการของฝ่ายอเมริกันศึกษา (Department of American Studies) แห่งสถาบันการระหว่างประเทศศึกษาของจีน (China Institute of International Studies) ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในวิดีโอที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันศุกร์ (7 ก.ค.) ว่า ทริปเยือนจีนของเยลเลนเป็นเรื่องที่ผ่านการตัดสินใจจากทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายจีน ไม่ใช่เป็นผลลัพธ์ของการเชื้อเชิญจากฝ่ายจีน นี่หมายความว่าปักกิ่งไม่ได้กำลังขอร้องสหรัฐฯ ให้มาช่วยเหลืออะไรทั้งสิ้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://haokan.baidu.com/v?pd=wisenatural&vid=14550226041102928329)

ซู กล่าวต่อไปว่า ข้อเท็จจริงที่ เยลเลน อยู่ในจีนนานกว่า บลิงเคน เป็นสิ่งที่ชี้ว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนต้องการที่จะเจรจาหารือเรื่องต่างๆ กันอย่างลงรายละเอียด

เธอบอกว่า ปักกิ่งเวลานี้มีความปรารถนาที่จะต้อนรับพวกเจ้าหน้าที่อเมริกัน เนื่องจากรู้สึกว่าวอชิงตันเกิดความตระหนักขึ้นมาแล้วว่าการกำราบกดขี่และการควบคุมปิดล้อมจีนจะส่งผลกระทบในทางลบต่อสหรัฐฯ เอง เธอมองว่าวอชิงตันทราบชัดเจนอยู่แล้วว่าพวกบริษัทอเมริกันนั้นต้องการเห็นความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่มีเสถียรภาพ

“จากทัศนะมุมมองของจีน ทริปเยือนของเยลเลน ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ สามารถที่จะเรียกร้องเอาอะไรจากจีนได้ตามใจ หรือว่าสหรัฐฯ สามารถที่จะบีบคั้นจีนตามอำเภอใจฝ่ายเดียวและบังคับให้จีนต้องยอมประนีประนอม” เธอกล่าว “ทริปเดินทางของ เยลเลน ควรเน้นย้ำให้เห็นว่าการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองจะต้องอยู่ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างเท่าเทียมกัน และก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันขึ้นมา”

เธอบอกว่า คำแถลงของฝ่ายปักกิ่งที่ว่า “ในสงครามการค้าไม่มีผู้ชนะ” อาจจะตรงกับใจของเยลเลน ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่คณะบริหารทรัมป์ขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้าจากจีน เธอมองด้วยว่า สิ่งที่เรียกกันว่า “การลดความเสี่ยง” (de-risking) หรือ “การหย่าร้างแยกขาด” (decoupling) จากจีนที่สหรัฐฯ เที่ยวป่าวร้องมาระยะหนึ่งแล้วนั้นไม่สามารถที่จะเติมเต็มจิตวิญญาณแห่งการบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันและก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย

การกระจายตัว

ระหว่างที่พวกผู้นำกลุ่ม จี7 พบหารือกันในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั่นเอง ที่พวกเขาตกลงเห็นพ้องกันว่า บรรดาชาติสมาชิกจี7 ควรที่จะ “ลดความเสี่ยง” ในการพึ่งพาอาศัยจีน ขณะที่ปักกิ่งยืนยันเรื่อยมาว่า เรื่อง “การลดความเสี่ยง” นี้ และเรื่อง “การหย่าร้างแยกขาดจากกัน” ที่เคยประโคมกันเอาไว้ก่อนหน้านั้น จริงๆ แล้วไม่เห็นว่ามีความแตกต่างอะไรกัน โดยทั้งสองอย่างต่างก็มุ่งนำไปสู่การที่พวกบริษัทต่างประเทศผละออกจากจีนไปทั้งนั้น

สำหรับ เยลเลน เธอแสดงความนิยมชมชอบที่จะพูดถึงยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ของสหรัฐฯ ว่า คือ “การกระจายตัว” (diversification) มากกว่า

เธอบอกกับบรรดาผู้แทนของบริษัทสหรัฐฯ ที่ตั้งฐานอยู่ในจีนบางแห่ง ระหว่างการพบปะหารือกันในปักกิ่งเมื่อวันศุกร์ (7 ก.ค.) ว่า การที่จะให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนเกิดการหย่าร้างแยกขาดจากกันนั้นเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้ในทางเป็นจริง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.news24.com/fin24/economy/yellen-says-impossible-decoupling-of-china-us-economies-would-destabilise-global-markets-20230707)

“เราเสาะแสวงหาการกระจายตัว ไม่ใช่การหย่าร้างแยกขาดจากกัน การทำให้เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด 2 แห่งของโลกหย่าร้างแยกขาดออกจากกันนั้นจะก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพขึ้นมาในเศรษฐกิจโลก” เธอกล่าว พร้อมกับพูดต่อไปว่า วอชิงตันไม่ได้มุ่งแสวงหา “การแยกเศรษฐกิจของพวกเราให้ขาดออกจากกันอย่างใหญ่โตกว้างขวาง”

เยลเลน กล่าวด้วยว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความกังวลจากการที่ปักกิ่งใช้มาตรการควบคุมการส่งออกพวกโลหะที่มีความสำคัญสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และยังคงกำลังอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบของการกระทำเหล่านี้อยู่ เธอกล่าวว่า การใช้มาตรการจำกัดต่างๆ ของฝ่ายจีน เป็นการย้ำเตือนสหรัฐฯ ให้ระลึกถึงความสำคัญของการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความหยุ่นตัวและมีการกระจายตัว

“ดิฉันยังได้เจรจาหารือเรื่องความกังวลต่างๆ เกี่ยวกับการตั้งกำแพงขวางกั้นการเข้าถึงตลาด การที่จีนมีการใช้พวกเครื่องมือที่ไม่ใช่ด้านการตลาดเพื่อการนี้ และการที่จีนดำเนินการลงโทษเล่นงานกิจการต่างๆ ของสหรัฐฯ” เธอทวิตเอาไว้เช่นนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/SecYellen/status/1677330587667800069)

สำหรับ หลัว ฟู่เฉียง (Luo Fuqiang) คอมเมนเตเตอร์ด้านการทหาร กล่าวเอาไว้ใน vlog ล่าสุดของเขาว่า เขายังคงไม่มีความแน่ใจใดๆ เลยว่า เวลานี้วอชิงตันพร้อมจะหันมาคำนึงถึงผลประโยชน์ของจีน และยุติการกำราบกดขี่ต่อต้านจีน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://haokan.baidu.com/v?pd=wisenatural&vid=521257845385357258)

แต่เขาชี้ว่า พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่มาเยือนจีน จะยังคงได้รับการต้อนรับจากทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนอยู่ดี เนื่องจากปักกิ่งต้องการให้พวกเขาช่วยส่งข้อความที่ออกมาจากระดับผู้มีอำนาจหน้าที่ชาวอเมริกัน ให้กลับคืนไปยังสหรัฐฯ

กระนั้น คอมเมนเตเตอร์จีนหลายๆ คนบอกว่า ปักกิ่งไม่ได้ตั้งความคาดหมายเอาไว้สูงส่งอะไรเกี่ยวกับผลลัพธ์ของทริปเยือนของเยลเลนนี้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนเวลานี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เสียมากกว่า ไม่ใช่กระทรวงการคลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น