xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มจี7 ไม่ได้กำลังสามัคคีกันต่อต้านจีน มีเพียงสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่จับมือแข็งขัน ทว่าพวกประเทศยุโรปคิดแตกต่างออกไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน ***



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The G7 anti-China façade shows cracks in Europe
By DAVID P. GOLDMAN
09/06/2023

สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น มีความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับเรื่องการจำกัดปิดล้อมจีน ทว่าพวกประเทศยุโรปชั้นนำกลับมีท่าทีเปิดกว้างยินดีต้อนรับแรงจูงใจในทางเศรษฐกิจที่ปักกิ่งเสนอออกมา

บูดาเปสต์, ฮังการี - กลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมของโลกตะวันตก (จี7) ที่ทำท่ามีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อต้านจีน ในระหว่างการประชุมซัมมิตของพวกเขา ณ เมืองฮิโรชิมา ญี่ปุ่น เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลับดูเปลี่ยนแปลงไปอย่างถนัดเมื่อย่างเข้าสู่ระยะแห่งรอบใหม่ของการเจรจาต่อรองทางการทูตกับปักกิ่ง

พวกนักวิเคราะห์ชาวจีนได้ลากเส้นแบ่งที่สดใสชัดเจนขึ้นมาเส้นหนึ่ง โดยที่ข้างหนึ่งของเส้นนี้ประกอบด้วย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งมีความมุ่งมั่นผูกพันกับเรื่องการควบคุมปิดล้อมจีน ส่วนพวกที่อยู่อีกข้างหนึ่งของเส้นนี้ ได้แก่บรรดาประเทศชั้นนำในยุโรป ซึ่งเปิดกว้างต้อนรับแรงจูงใจทางด้านเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ผู้มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่หมายเลข 2 ของจีน มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงเบอร์ลิน และกรุงปารีสในช่วงต่อไปของเดือนนี้ ขณะไปเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการให้ความสนับสนุนแก่บรรดาประเทศยากจน (โดยที่มีการตั้งชื่อการประชุมนี้อย่างใหญ่โตว่า “การประชุมซัมมิตเพื่อข้อตกลงทางการเงินโลกฉบับใหม่” (Summit for a new world financial pact) ในวันที่ 22 มิถุนายน การประชุมครั้งนี้เป็นโครงการของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และความสำคัญของจีนอยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่า ณ เดือนมีนาคม จีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าต่างๆ ไปยังกลุ่มซีกโลกใต้ (Global South) มากยิ่งกว่าพวกประเทศในโลกพัฒนาแล้วทั้งหมดรวมกันเสียอีก
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ได้ที่ https://www.oxfamfrance.org/communiques-de-presse/le-non-respect-par-les-pays-riches-de-leur-promesse-de-100-milliards-de-dollars-sape-laction-climatique-et-la-cooperation-internationale/)

มองกันในระยะสั้น พวกประเทศเฉกเช่นฝรั่งเศสซึ่งมีผลประโยชน์ผูกพันอย่างยาวนานอยู่ในซีกโลกใต้ จำเป็นต้องหาทางทำความตกลงชั่วคราวกับจีน ขณะที่ในระยะปานกลาง การที่จีนมีสัญญาความผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาลกับแอฟริกา - ประมาณการกันว่าจีนไปลงทุนเอาไว้ราว 155,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระหว่างช่วง 20 ปีที่ผ่านมา— จึงกลายเป็นตัวแทนความหวังชั้นดีที่สุดของยุโรป สำหรับการหาทางป้องกันไม่ให้เกิดกระแสผู้คนอพยพออกจากแอฟริกามายังยุโรป จนอยู่ในระดับไม่สามารถควบคุมได้

ระหว่างทางไปปารีส นายกฯ หลี่จะพบปะหารือกับโอลาฟ ชอลซ์ (Olaf Scholz) นายกฯ เยอรมนีในกรุงเบอร์ลิน โดยที่ ลาร์ส คลิงเบล (Lars Klingbeil) ประธานพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social-Democratic Party ใช้อักษรย่อตามชื่อภาษาเยอรมันว่า SPD) ของ ชอลซ์ ได้หารือกับนายกฯ หลี่ ที่กรุงปักกิ่งไปก่อนแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลี่ ประกาศว่า “ปักกิ่งมีจุดยืนที่พรักพร้อมแล้วสำหรับการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ตนมีอยู่กับเบอร์ลินให้เข้าสู่ระดับสูงขึ้นไปอีกระดับใหม่” พร้อมกับบอกด้วยว่า “จีนให้ความสำคัญอย่างใหญ่หลวงแก่ความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ตนมีอยู่กับเยอรมนี และเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประเทศทรงอิทธิพลอย่างใหญ่โต 2 รายนี้ที่จะยืนหยัดยึดมั่นอย่างจริงใจกับความคาดหมายที่จะร่วมมือกันตั้งแต่ดั้งเดิมของพวกเขา และเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่การสนทนากันและความร่วมมือกันเพื่อนำเอาเสถียรภาพและความแน่นอนเพิ่มมากขึ้นเข้ามาสู่โลก”

ระหว่างอยู่ที่จีน คลิงเบล ยังได้พบหารือกับ หวัง ฮู่หนิง (Wang Huning ประธานสภาปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน Chinese People's Political Consultative Conference และสมาชิกอันดับ 4 ในคณะประจำของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ซึ่งบางทีน่าจะเป็นนักยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่มองเห็นกันได้อย่างชัดเจนที่สุดของจีนในเวลานี้ รวมทั้งยังเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “อเมริกาต่อต้านอเมริกา” (America Against America) ซึ่งเป็นบทวิพากษ์ความเสื่อมทรุดทางด้านวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจของอเมริกัน

หนึ่งในกลุ่มกระแสที่สำคัญที่สุดภายในพรรค SPD คือ กลุ่มแวดวงซีไฮเมอร์ (Seeheimer Circle) ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วได้ออกเอกสารสมุดปกขาวฉบับหนึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ใช้ “นโยบายหลายหลากมิติ” กับจีน ในลักษณะที่เป็นการตอบโต้อย่างฉับพลันกับความพยายามของวอชิงตันที่จะให้โดดเดี่ยวจีน “การยุติความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอย่างปัจจุบันทันด่วน จะหมายถึงความหายนะทางเศรษฐกิจ” เอกสารของ ซีไฮเมอร์ เตือน “เราต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องความมั่นคงของการจ้างงานภายในประเทศ ในแง่มุมดังกล่าว ยุทธศาสตร์จีนชนิดที่ต่อเนื่องมีเหตุมีผล จึงไม่ควรที่จะเป็นยุทธศาสตร์ต่อต้านจีน และควรมุ่งคัดค้านการหย่าร้างแยกขาดเยอรมนีออกจากจีน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.seeheimer-kreis.de/fileadmin/data/documents/20230416_Seeheim_Strategiepapier_Wirtschaft_China.pdf)

การทูตระหว่างพรรคกับพรรค อาจจะมีความสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับจีน มากยิ่งกว่าการถกเถียงกันในระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลด้วยซ้ำไป ช่วงปีที่ผ่านมา พรรคกรีนส์ (Greens) มีคะแนนนิยมหล่นลงมาจาก 22% เหลือแค่ 14% ในผลโพลครั้งต่างๆ ขณะที่พรรค Alternative für Deutschland ซึ่งเป็นพวกขวาจัดและต่อต้านนาโตกลับได้คะแนนนิยมพุ่งขึ้นจาก 14% เป็น 19% รัฐบาลผสมชุดปัจจุบันของเยอรมนีจึงอยู่ในสภาพพังครืนแล้วในทางเป็นจริง และพรรคต่างๆ ที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลผสม (ได้แก่ พรรค SPD, พรรคเสรีประชาธิปไตย Free Democratic Party ใช้อักษรย่อว่า FPD และพรรคกรีนส์) ต่างกำลังหาทางบรรลุเป้าหมายทางนโยบายของพวกตนแบบแยกจากกัน

ฮังการี นี่แหละที่เป็นประเทศซึ่งสามารถแสดงเครื่องบ่งชี้ทิศทางอันสำคัญสำหรับนโยบายของยุโรป นายกรัฐมนตรี วิกตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) ของฮังการี อาจแลดูเหมือนกับว่าได้เคลื่อนตัวออกไปไกลโพ้นจากกระแสหลักของยุโรป เขาประกาศเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมว่า รัสเซียนั้นไม่สามารถถูกบดขยี้ในทางทหารในยูเครนได้หรอก และรัฐมนตรีต่างประเทศของเขาก็ประกาศว่า บูดาเปสต์จะวีโต้มติที่จะให้อียูช่วยเหลือเคียฟเพิ่มเติมขึ้นอีก สำหรับความสัมพันธ์ที่ฮังการีมีอยู่กับจีนนั้น ถือว่าอยู่ในระดับเข้มแข็งและกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

รัฐบาลออร์บาน กำลังหาทางให้จีนเข้าไปลงทุนด้านไฮเทคให้มากขึ้นแทนที่จะทำให้ลดน้อยลง โดยเรื่องนี้รวมไปถึงฮับขนส่งสินค้า East-West intermodal freight hub ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางรางแห่งแรกที่กำลังมีการใช้การสื่อสารไร้สายระดับ 5จี บรอดแบนด์ ตลอดจนใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์จากแพลตฟอร์มขนส่งหนึ่งไปยังอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง อันเป็นโครงการสำคัญสำหรับบริษัทหัวเว่ยของจีน สภาพเช่นนี้ย่อมตัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับความโกลาหลอลหม่าน (ตามที่รายงานเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ วันที่ 7 มิถุนายน) ของการสั่งแบนห้ามใช้โครงสร้างพื้นฐานของหัวเว่ยในตลอดทั่วทั้งอียู

ออร์บานนั้นอยู่ในสภาพถูกโดดเดี่ยวน้อยกว่าที่เห็นกันว่าเขากำลังเผชิญ มันไม่น่าเป็นไปได้หรอกที่เขาจะสามารถใช้จุดยืนแบบคนนอกคอกเช่นนี้ ถ้าหากเขาไม่ได้รับความสนับสนุนแบบอ้อมๆ จากกลุ่มพลังทางการเมืองอื่นๆ ของยุโรป เป็นไปได้ทีเดียวว่าผู้นำฮังการีผู้นี้น่าที่จะได้เป็นผู้กำหนดจังหวะฝีก้าวสำหรับการอภิปรายถกเถียงกันระหว่างอียู-จีนรอบต่อไป

ในส่วนของจีนนั้น มองเห็นโอกาสในยุโรป อย่างที่ หยาง เฟิง (Yang Feng) คอมเมนเตเตอร์ผู้ทรงอิทธิพลเขียนเอาไว้ในบทวิเคราะห์ทางออนไลน์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งน่าที่จะเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของรัฐบาลจีนนั่นเอง เขาบอกว่า พวกประเทศต่างๆ ในกลุ่มจี7 นั้น “มีระดับของความเข้มข้นในการติดต่อคบค้ากับจีนที่แตกต่างกันอยู่ และจีนสามารถที่จะนำเอายุทธศาสตร์ที่มุ่งแบ่งแยกประเทศเหล่านี้มาใช้”

หยาง เขียนเอาไว้ว่า “ความแตกต่างกันในระดับ” ของการต่อต้านคัดค้านจีน “หมายความว่าจีนมีทางเลือกที่แตกต่างกันสำหรับใช้ตอบโต้รับมือกับจุดยืนของประเทศทั้ง 7 ทั้งนี้สิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังนำมาใช้อยู่เวลานี้คือ การเข้าแทนที่ในทางอุตสาหกรรม (industrial substitution) ซึ่งเป็นการแข่งขันโดยตรง (กับจีน) แต่ในกรณีของฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี จีนสามารถที่จะเสนอนโยบายหว่านเสน่ห์ดึงดูดใจ (policy of attraction) ด้วยการเปิดกว้างเศรษฐกิจและการค้าภายในประเทศของตน ตลอดจนการเปิดกว้างทางด้านการลงทุน สำหรับในส่วนของสหราชอาณาจักรนั้น จีนจะให้ความร่วมมือเมื่อประเทศนี้ต้องการที่จะร่วมมือ และถอนตัวออกมาถ้าประเทศนี้ไม่ต้องการที่จะร่วมมือ มันขึ้นกับสหราชอาณาจักรเองว่าจะเลือกหนทางไหน”

คอมเมนเตเตอร์ชาวจีนผู้นี้ชี้ต่อไปว่า “ไม่ว่ากลุ่มจี7 กำลังตะโกนออกมาด้วยเสียงดังขนาดไหนก็ตามที พวกประเทศที่จีนต้องรับมือด้วยจริงๆ มีเพียงสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเท่านั้น” เขากล่าวต่อไปว่า “หลังจาก ไบเดน เข้ารับตำแหน่งแล้ว ในแง่ของพวกนโยบายทางเศรษฐกิจและทางการค้า มีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่ร่วมไม้ร่วมมือกับนโยบายสหรัฐฯ และมีการบังคับใช้มาตรการปิดล้อมและการแซงก์ชันเอากับจีน ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่สุดยังคงอยู่ในระดับของการพูดจาเท่านั้น”

หยาง เฟิง กล่าวต่อไปว่า จีนจะ “สืบต่อทำงานเพื่อมุ่งไปสู่การไม่ใช้สกุลเงินดอลลาร์ในโลกที่ไม่มีอเมริกันอยู่ด้วย แม้กระทั่งพวกพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างเช่นพวกประเทศสหภาพยุโรปก็มีความสนใจกับเรื่องการกำจัดสภาพที่พวกเขาต้องพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ”
กำลังโหลดความคิดเห็น