มีเค้าลางความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะทำสถิติอ่อนค่าสุดรอบใหม่ แม้กระทั่งความเคลื่อนไหวปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของไทยก็ไม่อาจหยุดยั้งการอ่อนค่าได้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (29 พ.ค.)
บลูมเบิร์กรายงานว่า เงินบาทของไทยอ่อนค่าลง 3 สัปดาห์ติดต่อกันเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ปิดที่ 34.77 บาทต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ (26 พ.ค.) และกำลังเคลื่อนตัวสู่ระดับเดียวกับครั้งที่อ่อนค่าที่สุดในรอบปีนี้เมื่อเดือน ก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่พรรคก้าวไกลกำลังเผชิญขวากนามมากขึ้นเรื่อยๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล เพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมืองว่าใครจะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมันกลายเป็นตัวถ่วงเงินบาท ด้วยการกระตุ้นให้กองทุนต่างชาติเทขายทั้งหุ้นและพันธบัตรของประเทศแห่งนี้
เจฟฟรี จาง นักยุทธศาสตร์ตลาดเกิดใหม่ของบริษัทเครดิต อะกริโคล ซีไอบี ประจำสาขาฮ่องกง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า "ความกังวลใหญ่ที่สุดของตลาดในตอนนี้คือ ยังคงไม่แน่ใจว่าพันธมิตรที่นำโดยฝ่ายค้านจะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจากวุฒิสภาหรือไม่ ในขณะที่วุฒิสมาชิกมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี"
รายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีกำหนดประกาศการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันพุธที่ 31 พฤษภาคม ท่ามกลางความคาดหมายว่าธนาคารกลางแห่งนี้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 2.0% หลังจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือนว่า จะยึดมั่นในการคุมเข้มนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
แกลวิน เชีย นักกลยุทธ์ปริวรรตเงินตราตลาดเกิดใหม่ของบริษัทแนตเวสต์ มาร์เก็ตส์ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า "ผมไม่คิดว่าการตัดสินในของธนาคารแห่งประเทศไทยจะส่งผลต่อค่าเงินบาทมากนัก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ค่อนข้างต่ำของไทยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศอื่นๆ"
บลูมเบิร์ก ระบุว่า อีกปัจจัยเสี่ยงนั่นคือจีน โดยนักวิเคราะห์บางราย เช่น โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าเงินหยวนมีแนวโน้มทรุดตัวลงอีก ขณะที่นักลงทุนจะจับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ของจีนที่มีกำหนดเผยแพร่ในวันเดียวกับการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ยังคงเปราะบางหรือไม่
"จีนคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้ารายใหญ่ที่สุดของไทย" เชีย กล่าว "ผลก็คือ ค่าเงินบาทจึงมีแนวโนน้มค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของเงินหยวน"
ในสหรัฐฯ บรรดานักวิเคราะห์ปรับเพิ่มคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขั้นสุดท้ายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ช่วยดันดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น นายเชีย มองว่าดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินบาทจะทดสอบระดับสูงสุดของปีนี้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หากว่าดอลลาร์ยังคงแข็งค่าเช่นนี้ต่อไป หรือเงินหยวนอ่อนค่าลงอีก
(ที่มา : บลูมเบิร์ก)