นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งคว้าชัยศึกเลือกตั้งทั่วไปของไทยเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวแห่งชาติไต้หวัน (CNA) ยอมรับว่าหลายนโยบายของพรรคก้าวไทยและว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล 7 พรรค ได้แรงบันดาลใจมาจากไทเป
ระว่างให้สัมภาษณ์กับ CNA เมื่อวันอังคาร (23 พ.ค.) นายพิธา เน้นย้ำในเรื่องดังกล่าว เมื่อถูกถามว่ามีบางส่วนในบันทึกข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล (MOU) 23 ข้อ มาจากนโยบายที่ไต้หวันนำมาใช้แล้ว "หลายนโยบายของเราอยู่บนพื้นฐานประสบการณ์ของไต้หวัน" พิธา กล่าว พร้อมอ้างถึงโดยเฉพาะกับลอตเตอรี่ใบเสร็จรับเงิน (Uniform Invoice lottery) ของไต้หวัน ที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคของรับใบเสร็จรับเงินเพื่อจัดการกับการหลีกเลี่ยงภาษี
หัวหน้าพรรคก้าวไกล วัย 42 ปี รายนี้ยังได้เพิ่มเติมเรื่องสมรสเท่าเทียมเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่พรรคของเขาหวังเดินตามการนำของไต้หวัน ซึ่งกลายเป็นดินแดนแรกในเอเชียที่ทำให้การสมรสเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมายในปี 2019
นายพิธา กล่าวว่า ไทยยังอาจเรียนรู้จากการส่งเสริมด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของไต้หวัน เช่น การใช้แฟลตฟอร์มดิจิทัล เปิดทางให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลได้มากขึ้น
ทั้งนี้ นายพิธา ยังเปิดเผยกับ CNA ด้วยว่า เขาเคยพบปะกับมอร์ริส ชาง ระหว่างการประชุมซัมมิตเอเปกในปี 2022 ในขณะที่ ชาง คือผู้ก่อตั้ง TSMC บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกที่ตั้งอยู่ในไทเป และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน เข้าร่วมประชุมซัมมิตดังกล่าว
"ผมมีโอกาสได้พบปะกับมิสเตอร์มอร์ริส ชาง จาก TSMC ในความเป็นไปได้ของความร่วมมือในแง่ของเศรษฐกิจและการศึกษาในภาคอุตสาหกรรมชิป" นายพิธา บอกกับ CNA พร้อมระบุว่า เขากับชาง ซึ่งต่างจบปริญญาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มีความผูกพันในฐานะเป็นศิษย์เก่าสถาบันเดียวกัน
ในรายงานของ CNA ระบุว่าเกือบ 1 ทวรรษหลังปกครองด้วยรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร พรรคก้าวไกลของนายพิธา คว้าเก้าอี้ได้มากที่สุดในศึกเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม
อย่างไรก็ตาม CNA รายงานว่าแม้พรรคก้าวไกล และพันธมิตรที่กำลังจัดจั้งรัฐบาลผสมจะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรของไทย แต่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง 250 เสียง จะมีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนถัดไปของประเทศ สถานการณ์ที่อาจทำให้นายพิธา ไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับนโยบายในอนาคตของเขาในด้านการทูต นายพิธา บอกกับ CNA ว่ามันจำเป็นต้องมีการทูตบนพื้นฐานของกฎกติกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสถียรภาพในเอเชียและทั่วทั้งโลก "อาจยังมีความเป็นอริระหว่างจีน-อเมริกา แต่ถ้านี่คือการบริหารจัดการเชิงกุลยุทธ์ การแข่งขันเช่นนี้จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศต่างๆ ในนั้นรวมถึงไทยและชาติอื่นๆ ในอาเซียน"
"ถึงเวลาแล้วที่อำนาจกลางอย่างเช่นไทย จะยกระดับขึ้นสู่เวทีโลก และทำให้ระเบียบโลกใหม่เป็นรูปเป็นร่างจริงๆ" นายพิธา ให้สัมภาษณ์กับ CNA
(ที่มา : โฟกัสไต้หวัน)