“ทริปกตัญญู” ของเจ้าชายแฮร์รีที่ทรงเสด็จกลับอังกฤษด้วยภาพลักษณ์แห่งความเป็นพระราชโอรสผู้มีน้ำพระทัยกว้างขวางต่อเสด็จพ่อคิงชาร์ลส์ที่ 3 ยอมวางความบาดหมางและข้อขัดแย้ง แล้วเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับพระราชบิดา โดยมีบริษัทคู่สัญญาธุรกิจอย่างเน็ตฟลิกซ์ บอกว่า แอบถอนหายใจโล่งอกทื่พระองค์ทรงทำในสิ่งที่ส่งเสริมอย่างยิ่งแก่แบรนด์ปรินซ์แฮร์รี นั้น อันที่จริงแล้ว เจ้าชายแฮร์รีน่าจะได้อะไรต่ออะไรมากมายเป็นที่ชื่นมื่นกันทีเดียว
ในเด้งแรก ปรินซ์แฮร์รีได้เฮี้ยวเบาๆ เข้าใส่เสด็จพ่อ ผู้ทรงขอความร่วมมือจากพสกนิกรในการร่วมใจกันสวมใส่เครื่องแต่งกาย “เมดอินอิงแลนด์” เพื่อแสดงสปิริตชาตินิยม แต่ปรินซ์แฮร์รีแห่งตระกูลประมุขของอังกฤษทรงมีท่าที โนสน-โนแคร์ ต่อการรณรงค์ขอความรักชาติดังกล่าว พระองค์ทรงเลือกใช้ชุดสูทแบรนด์ดังจากฝรั่งเศส อันได้แก่ คริสเตียนดิออร์ ห้องเสื้อแฟชั่นซูเปอร์ไฮโซแดนปารีเซียง ซึ่งออกแบบตัดเย็บใหม่เอี่ยมถวายให้พระองค์ใช้ในมหกรรมครั้งสำคัญขั้นสุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์อังกฤษ
พระอาการ โนสน-โนแคร์ ต่อนโยบายโปรโมทความรักชาติที่สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมได้เวียนเป็นเมมโมบันทึกช่วยจำไปอย่างทั่วถึง ถูกสื่อค่ายยักษ์ อาทิ เดลิเมลออนไลน์ นำเสนอข่าวแนวขำๆ ว่าปรินซ์แฮร์รี “ทรงกบฏด้วยชุดดิออร์” หรือก็คือ Harry Dior Rebel อันเป็นอะไรที่ กินไม่ได้-แต่สบายใจ ที่ได้สำแดงการไม่ศิโรราบให้แก่เสด็จพ่อ
ในเวลาเดียวกัน เด้งที่สองที่ปรินซ์แฮร์รีทรงได้จากทริปกตัญญูนี้ ก็คือ การพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังการตลาดของพระองค์ ผู้ซึ่งทรงขยับเมื่อใด ใครๆ ก็แห่ตามไปดู และสินค้าทั้งปวงที่พ่วงอยู่กับพระกายก็ได้เป็นข่าวไปด้วย
ทั้งนี้ การใช้ฉลองพระองค์แบรนด์ดิออร์มาออกงานซูเปอร์อีเวนต์ของสมเด็จพระราชบิดา น่าจะสำแดงให้แฟชันเฮาส์ค่ายยักษ์แห่งฝรั่งเศส ตระหนักถึงมูลค่าการตลาดอันสูงลิ่วของตัวพระองค์ พร้อมกับ ส่งสัญญาณแรงชัดว่า “จะทรงเอาแน่” กับดีลธุรกิจระหว่างพระองค์กับคริสเตียนดิออร์
พร้อมนี้ การเดินโชว์ชุดสูทอันสุดหล่อเหลานอกแคทวอล์กอย่างไม่เป็นทางการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็อาจถือเป็น Soft Opening เปิดตัวเบาๆ สู่เส้นทางอาชีพใหม่ไปในโอกาสเดียวกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีข่าวปล่อยผุดเป็นระยะๆ ว่าดีลความร่วมมือเชิงธุรกิจนี้จวนเจียนจะบรรลุถึงขั้นลงนามสัญญาว่าด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบรนด์กันแล้ว
สำหรับเด้งที่สาม ยังเต็มไปด้วยความลึกลับที่ฝ่ายต่างๆ คาดเดาได้ แต่แหล่งข่าวยังไม่พร้อมจะให้รายละเอียด กล่าวคือ เทเลกราฟ สื่อยักษ์อังกฤษรายงานว่า ระหว่างการเดินทางไปยังสนามบินฮีทโธรว์ ปรินซ์แฮร์รีทรงแว่บไปทำธุระบางอย่างที่พระราชวังบัคกิงแฮม
แหล่งข่าวของเดอะเทเลกราฟให้ข้อมูลแค่ว่า ธุระหนึ่งแว่บของปรินซ์เป็น “ธุระด้านลอจิสติกส์” ซึ่งศัพท์แสงคำนี้มีความหมายค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ด้านการขับรถรับส่ง ไปจนถึงการรับส่งกำลังบำรุง ตลอดจนการส่งสิ่งของต่างๆ สู่มือผู้รับ
ธุระแห่งลอจิสติกส์ปริศนาอย่างยิ่งนี้ อาจเป็นอะไรต่ออะไรได้หลายสิ่งหลายอย่าง แต่ที่แน่ๆ เมื่อพระราชโอรสพระองค์เล็กของกษัตริย์ชาร์ลส์ปรากฏพระองค์ที่ท่าอากาศยาน สีพระพักตร์ของปรินซ์แฮร์รีซึ่งปรากฏในรูปที่เป็นข่าว ช่างเปี่ยมสุข ร่าเริง ดั่งคนที่เพิ่งได้ของเจ๋ง-ของโบนัสชิ้นโต เรียกว่าเป็นหนังคนละม้วนกับเมื่อหนึ่งชั่วโมงกว่าที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
ทริปกตัญญูอันแสนสั้น 28 ชั่วโมง 42 นาที อยู่ในความอึดอัดเครียดหมอง ไม่มีมีตติ้งพระญาติ พบปะหนเดียว คือในพระราชพิธี
คนใกล้ชิดปรินซ์แฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ช่วยกันยืนยันมาตลอดว่าปรินซ์ทรงมองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อย่างที่สุดในพระชนม์ชีพของพระราชบิดา ดังนั้น จึงทรงรู้สึกว่าการเข้าร่วมพระราชพิธีเป็นเรื่องถูกต้องที่พระองค์ควรทำ แม้ที่ผ่านมาพระองค์ได้เล่นงานพระราชตระกูลไว้มากมาย เดลิเมลออนไลน์รายงานอย่างนั้น
โดยที่ผ่านมาเคยนำเสนอว่าดยุกแห่งซัสเซกซ์ทรงถูกกดดันให้ตัดสินใจไปเข้าร่วมพระราชพิธี อีกทั้งเคยรายงานเรื่องผู้บริหารของค่ายสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่โลก Netflix เมาท์มอยไว้ว่าการปรากฏพระองค์ในพระราชพิธีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมพลังการตลาดแห่งแบรนด์ปรินซ์แฮร์รีที่แผ่วลงมาก เพราะจับตากันว่าดยุกทรงตกพระกระป๋องแล้ว ทั้งนี้ ดรามาชีวิตปั่นป่วนภายในพระราชสำนักอังกฤษคือคอนเทนต์บันเทิงที่คนในอเมริกาโปรดปรานอย่างสุดๆ
กระนั้นก็ตาม ความลูกกตัญญูของเจ้าชายแฮร์รีนั้น สั้นกระชับเหลือเกิน รวมระยะเวลาได้เพียง 28 ชั่วโมง 42 นาที และดำเนินอยู่ในพระอาการอึดอัด เครียดหมอง และทรงมอบให้เฉพาะแก่ช่วงพระราชพิธีหลักที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เท่านั้น
แต่นั่นก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้ เมื่อคำนึงถึงข้อมูลที่นานาสื่อมวลชนขยี้ไว้มหาศาลว่า พระญาติเกือบทุกพระองค์ไม่พอพระทัยในพฤติกรรมของเจ้าชายแฮร์รี และจะสนทนากับเจ้าชายแค่เพียงตามมารยาท ดังนั้น บรรยากาศมาคุเวิ้งว้างที่ทรงเผชิญการบอยคอตอ่อนๆ จากพระญาติในอังกฤษผู้ซึ่งไม่พอพระทัยที่พระองค์ทรงยิงตอร์ปิโดถล่มพระราชตระกูลครั้งแล้วครั้งเล่า ย่อมจะมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของพระองค์หนักหนาทีเดียว
นับแต่ที่เจ้าชายแฮร์รีเสด็จถึงสนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน เมื่อ 11.25 น. วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2023 จนกระทั่งประมาณ 10.00 น. ของวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2023 ที่ด้านหน้าเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ สื่อมวลชนและสาธารณชนทั้งหลายมิได้เห็นพระองค์เลย และพระองค์ก็ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ของพระราชวงศ์ เดลิเมล์ออนไลน์เล่าถึงบรรยากาศไว้อย่างละเอียด
การปรากฏตัวของเจ้าชายแฮร์รีมีขึ้นบนพื้นที่จอดรถรับส่งบริเวณด้านหน้าของเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ โดยมีลักษณะเป็นกลุ่มรถส่งเสด็จพระราชวงศ์ผู้มิได้ทรงงานของสำนักพระราชวัง ได้แก่
- รถส่งเสด็จแก่พระโอรสและพระธิดาของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์
- รถส่งเสด็จแก่ครอบครัวของเจ้าชายแอนดรูว์
- ปิดท้ายกลุ่มด้วยขบวนรถส่งเสด็จของเจ้าชายแฮร์รี ซึ่งเป็นอะไรที่ครบเครื่องอย่างยิ่ง ทั้งตำรวจอารักขา ทั้งรถตำรวจนำขบวน เฉกเช่นเดียวกับบรรดาขบวนของพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงงานสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แบบที่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของเจ้าชายแฮร์รีที่เจรจากับสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมก่อนจะมีการประกาศเมื่อกลางเดือนเมษายนว่าทรงตัดสินพระทัยตอบรับคำเชิญเข้าร่วมพระราชพิธี
ขณะที่เหล่าพระราชวงศ์เข้าสู่ด้านในของเวสต์มินสเตอร์ เจ้าชายแฮร์รีทรงพระดำเนินรั้งท้ายกลุ่มพลางสนทนากับเจ้าหญิงเบียทริซและพระสวามีเอโดอาร์โด มาเปลลี มอซซี โดยมีเจ้าหญิงยูเชนีหันกลับมายิ้มทักทาย และเจ้าชายแฮร์รีทรงอุทานชื่นชมพระครรภ์ของเจ้าหญิงยูเชนี ซึ่งทำให้ทราบว่าการพบกันกับพระญาติ ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เป็นการพบกันครั้งแรกในรอบหลายเดือน
เดลิเมลออนไลน์รายงานด้วยว่าในการเข้าสู่ภายในของเวสต์มินสเตอร์ไปตามทางเดินอันยาวเหยียดนั้น เจ้าชายแฮร์รีทรงฝืนสีหน้าได้ย่ำแย่เหลือเกิน
ในที่สุด ก็ทรงประทับนั่งที่พระเก้าอี้แถวที่สาม โดยอยู่ระหว่างคุณแจ็ก บรูกส์แบงก์ พระสวามีเจ้าหญิงยูเชนี ซึ่งอยู่ทางขวา กับเจ้าหญิงอเล็กซานดรา ซึ่งประทับอยู่ทางซ้าย ทั้งนี้ เจ้าหญิงผู้ทรงมีพระชนมายุ 87 พรรษา ทรงเป็นเสด็จอาในชั้นที่สอง (พระบิดาของเจ้าหญิงอเล็กซานดราทรงเป็นพระราชอนุชาของพระราชบิดาแห่งควีนเอลิซาเบธที่2) ขณะที่พระเชษฐาวิลเลียมและครอบครัวประทับนั่งที่พระเก้าอี้แถวแรก
แดน วูตตัน หนึ่งในคนดังผู้เชี่ยวชาญการพระราชวงศ์ ตั้งคำถามแทนใจบรรดาคนอังกฤษว่า เจ้าชายแฮร์รี พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงรู้สึกอย่างไรขณะเฝ้าดูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งประวัติศาสตร์ จากพระที่นั่งแถวที่สามหลังจากที่ทรงใช้เวลามากกว่าสามปี ไปกับการยิงตอร์ปิโดถล่มสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าของพระองค์ได้ทุ่มเทอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเพื่อรักษาไว้ให้สง่างาม เป็นที่รัก และมั่นคงยั่งยืน
ขณะที่ปรินซ์แฮร์รีทรงเดินเข้าสู่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ภาพลักษณ์ลวงตาซึ่งพระองค์สร้างขึ้นมากลบเกลื่อนความในพระทัย เพื่อให้แลเห็นเป็นเสมือนว่าพระองค์คือเจ้าของเวสต์มินสเตอร์ นั้น อันที่จริงแล้ว มันเป็นแค่การปกปิดความจริงบางสิ่งซึ่งโหดร้ายว่าเรื่องผมร่วงกระหม่อมบางที่พระองค์ทรงเขียนเยาะเย้ยพระเชษฐาวิลเลียมหัวล้านในหนังสือ SPARE โดยที่ตัวพระองค์ก็ประสบปัญหาความหนาแน่นแห่งพระเกศาลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว
ความจริงอันโหดร้ายดังกล่าวซึ่งปรินซ์แฮร์รีทรงตระหนักอยู่ลึกๆ ในก้นบึ้งพระหทัย มีอยู่ว่า แม้พระองค์ทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 5 แห่งราชบัลลังก์อังกฤษ แต่ที่แท้นั้น ทรงทำตนเองให้หลุดออกจากบทบาทแห่งพระราชสำนักไปโดยสมบูรณ์แล้ว แดน วูตตัน เขียนวิเคราะห์ปรินซ์อย่างตรงๆ
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญการพระราชสำนักต่างๆ ได้วิเคราะห์ภาษาร่างกายของปรินซ์แฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ว่าทรงขาดความมั่นใจและต้องการที่พึ่งพิงพระทัย พระองค์จึงมักที่จะจับชายเสื้อกั๊กของชุดสูท นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ พากันบรรยายถึงสีพระพักตร์ของปรินซ์ ไปในทางที่ละม้ายกันว่า พระองค์ทรงพยายามยิ้มซ่อนความตรมพระทัยไว้ภายใน ดังนี้
ดยุกแห่งซัสเซกซ์ผู้ไร้สุขทรงมาถึงเวสต์มินสเตอร์ตามลำพัง เอพีสำนักอังกฤษพรรณนาอย่างนั้น ด้านเดลิเมลออนไลน์รายงานว่า ทรงฝืนฉีกยิ้มและแบกความทุกข์ไว้ภายใน พร้อมกับแขวนสีหน้าว่าไม่ยี่หระสิ่งใดๆ ไว้บนพระพักตร์ตลอดเวลา
ส่วนนิวยอร์กโพสต์เล่าจากอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ว่าเจ้าชายแฮร์รีทรงติดรอยยิ้มกระอักกระอ่วนใจไว้บนพระพักตร์ขณะทรงประทับนั่งในจุดที่ได้รับ คือแถวที่สามซึ่งแชร์กับครอบครัวของเจ้าชายแอนดรูวฺ ผู้เป็นเสด็จอา นอกจากนั้น สื่อผู้หลักผู้ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกาบอกว่าในจังหวะหนึ่งที่คุณบรูกส์แบงก์กล่าวบางอย่าง เจ้าชายแอนดรูว์ทรงชักสีหน้าแรงๆ แบบที่ไม่ค่อยจะได้เห็นกัน พร้อมกับเบือนพระพักตร์ไปอีกทางหนึ่ง โดยที่คุณบรูกส์แบงก์หัวเราะขำปฏิกิริยาของพระองค์
พร้อมนี้ นิวยอร์กโพสต์รายงานว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ได้เกาะติดความเคลื่อนไหวของพระราชวงศ์พากันระบุว่า ดยุกแห่งซัสเซกส์ทรงมีท่าที “อึดอัด ไม่สบายใจ”
กระนั้นก็ตาม ในระหว่างพิธีมิสซาถวายพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด เมื่อไปถึงช่วงการถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ เจ้าชายแฮร์รีทรงกล่าวพร้อมไปกับทุกคนว่า “ขอพระเจ้าทรงปกปักษ์รักษาสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ ขอถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทรงเจริญพระชนมายุตราบกาลนานเทอญ
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ถูกแดน วูตตัน ขมวดปมว่าบรรยากาศที่เจ้าชายแฮร์รีทรงอึดอัดอึมครึม และต้องเดินเข้าเวสต์มินสเตอร์แอบบีอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย เป็นเครื่องสะท้อนถึงสถานการณ์ภาพรวมว่า ในปัจจุบันนี้ พระราชตระกูลตลอดจนชนส่วนใหญ่ของประเทศรู้สึกต่อพระองค์อย่างไร และนี่เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากพฤติกรรมทำลายล้างของพระองค์เอง
ปรินซ์แฮร์รีทรงบ่นกับพระสวามีของเจ้าหญิงยูเชนี “ผมเอือมเหลือเกินกับที่พวกเขาปฏิบัติต่อผม”
ในช่วงที่ทรงรอพระราชพิธีเริ่มต้น เจ้าชายแฮร์รี พระราชโอรสผู้ทรงยิงตอร์ปิโดถล่มสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรผู้เป็นพระราชบิดาครั้งแล้วครั้งเล่า ทรงสนทนากับคุณบรูกส์แบงก์ พระสวามีของเจ้าหญิงยูเชนี และในตอนหนึ่งทรงบ่นเรื่องที่มีการปฏิบัติต่อพระองค์แย่
“ผมเอือมเหลือเกินกับที่พวกเขาปฏิบัติต่อผม” นักอ่านริมฝีปากบอกกับสื่อค่ายจี๊ดจ๊าดอย่าง เดอะซัน ว่าเจ้าชายแฮร์รีตรัสอย่างนั้น
การครวญความเซ็งพระทัยได้หลุดจากสองเรียวพระโอษฐ์ขณะประทับ ณ แถวพระที่นั่งที่สามภายในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ จากที่ไม่เคยเสียหน้าขนาดนี้ เพราะอย่างน้อยก็จะต้องได้นั่งแถวที่สอง
ทั้งนี้ พระเก้าอี้ที่เจ้าชายแฮร์รีประทับนั้น ประชิดด้านหลังของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ และมีคุณบรูกส์แบงก์อยู่ทางขวา กับมีพระราชนัดดาของพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระนามว่า เจ้าหญิงอเล็กซานดรา อยู่ทางซ้าย (ทรงพระชราอย่างยิ่ง 87 พรรษา จึงทรงยุติการปฏิบัติราชกิจเพราะพระพลานามัยไม่แข็งแรง) นอกจากนั้น ด้านหลังของพระองค์เป็นที่นั่งของพระธิดากับพระชามาดา (ลูกเขย) ของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ ซึ่งเป็นจุดพระที่นั่งซึ่งเจ้าชายแฮร์รีไม่เคยต้องประสบเลย เพราะพระองค์จะได้ประทับติดด้านหลังของพระราชบิดา และพระญาติทั้งปวงจะอยู่ด้านหลังพระองค์เสมอ
ยังไม่กระจ่างชัดว่าปรินซ์แฮร์รีแห่งซัสเซกซ์ทรงหมายถึงพระองค์ใด หรือบุคคลกลุ่มใด ที่ทรงบ่นครวญเจ็บพระทัย เดลิเมลออนไลน์ชี้อย่างนั้น พร้อมระบุว่าอาจจะทรงหมายถึงสมาชิกแห่งพระราชตระกูลโดยรวม เพราะเกือบทุกพระองค์ทรงไม่พอพระทัยกับพฤติกรรมที่ปรินซ์แฮร์รีและพระชายานำเสนอข้อมูลผิดบ้างถูกบ้าง กล่าวร้ายป้ายสีบ้าง ไว้ในภาพยนตร์ซีรีส์สารคดีของ Netflix เรื่อง Harry and Meghan กับในหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง SPARE
นอกจากนั้น ดยุกแห่งซัสเซกซ์อาจจะหมายถึงสื่อมวลชน เพราะขณะนี้พระองค์อยู่ระหว่างฟ้องร้องเล่นงานบริษัทผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์หลายราย อาทิ เดลิเมล กับเดอะเมลออนซันเดย์
เจเรมี ฟรีแมน นักอ่านริมฝีปาก บอกกับเดอะซันเพิ่มเติมว่า ดยุกตรัสด้วยว่า
“นี่ไม่ใช่สภาพการณ์ที่โอเคเลย”
ด้านคุณบรูกส์แบงก์ตอบว่า ‘ผมอยากจะทำให้พระองค์รู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง และถึงผมทำได้ มันก็ไม่เป้นชีวิตที่สุขสงบใช่ไหมครับ’ ผู้เชี่ยวชาญอ่านริมฝีปากบอกอย่างนั้น และบอกต่อเนื่องมาว่า
ดยุกแฮร์รีส่ายพระเศียรก่อนจะตรัสตอบ “พวกเขาไม่แคร์หรอก”
แม้จะมีภาพว่าเป็น “ทริปกตัญญู” แต่ปรินซ์แฮร์รีก็ทำ “กบฏดิออร์” ถวายเสด็จพ่อ สื่อผู้ดีแซว
ทั้งๆ ที่สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมได้แจ้งไปล่วงหน้าโดยทั่วถึงให้แขกรับเชิญร่วมมือร่วมใจกันสวมใส่เครื่องแต่งกายที่เป็น ‘เมดอินอิงแลนด์’ กระนั้นก็ตาม ผู้คนต่างได้เห็นกันแล้วว่า ฉลองพระองค์สูทเช้าสามชิ้นของเจ้าชายแฮร์รีเป็นผลิตภัณฑ์ของคริสเตียนดิออร์ แบรนด์ดังคับโลกจากฝรั่งเศส
ชุดสูทดิออร์ที่เจ้าชายแฮร์รีทรงใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาจเรียกได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวในเชิงขบถ เพราะตัวพระองค์ ตลอดจนพระชายาเมแกน มาร์เคิล อยู่ระหว่างเจรจาดีลธุรกิจกับแบรนด์ดังเจ้านี้ เดลิเมลออนไลน์รายงานอย่างนั้นโดยระบุว่าเป็นการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก
ดยุกแห่งซัสเซกซ์ทรงสมาร์ทอย่างยิ่งในชุดสูทเช้าสามชิ้นที่คริสเตียนดิออร์ออกแบบตัดเย็บถวาย เพื่อใช้ในการปรากฏพระองค์ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์โดยเฉพาะ ทั้งนี้ คิม โจนส์ ดีไซเนอร์ผู้โด่งดังเลื่องลือในแวดวงฮอลลีวู้ดซึ่งขณะนี้ครองตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของดิออร์ เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและอำนวยการผลิตทั้งหมด
ผู้เชี่ยวชาญการแฟชั่นพระราชวงศ์นาม มิแรนดา โฮลเดอร์ ชี้ว่าการที่ปรินซ์แฮร์รีทรงเลือกใช้ฉลองพระองค์จากห้องเสื้อฝรั่งเศส อาจจะเป็นเพราะพระองค์ทรงมิได้รับเมมโมบันทึกช่วยจำ หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจจะด้วยเหตุว่าทรงอยู่ในพระอารมณ์หงุดหงิดน้อยใจ ทั้งนี้ แขกเกียรติยศในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกส่วนใหญ่ต่างสวมใส่เครื่องแต่งกายแบรนด์อังกฤษ
“การตัดสินพระทัยของเจ้าชายแฮร์รีที่นำชุดของดิออร์มาใช้ บ่งบอกความในพระทัยออกมาดังและชัดเจนมากค่ะ” มิแรนดา โฮลเดอร์ กล่าว
ในช่วงที่ผ่านมา ดยุกแฮร์รีและดัชเชสเมแกนทรงฉลองพระองค์แบรนด์ดิออร์บ่อยอย่างยิ่ง ส่งผลให้ฝ่ายต่างๆ พากันจับตาว่าทั้งสองพระองค์อาจจะทรงดำเนินงานในฐานหุ้นส่วนกับแบรนด์ฝรั่งเศสเจ้านี้ เดลิเมลออนไลน์รายงาน และให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสัมภาษณ์ นิก เอดี ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์และวัฒนธรรมว่า
เดี๋ยวนี้ ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ทรงมิได้เป็นพระราชวงศ์ที่ปฏิบัติงานถวายพระราชสำนักแล้ว ทั้งสองพระองค์ “สามารถทำข้อตกลงกับบริษัทธุรกิจแฟชั่นรายใหญ่ยักษ์ใดๆ ของโลกก็ได้” และดิออร์ก็ย่อมจะกระโดดเข้าคว้าโอกาสตรงนี้ เพื่อจะได้ร่วมงานกับพระองค์
ผู้คนยังจดจำได้ดีว่าในห้วงที่เจ้าหญิงไดอานา พระมารดาของเจ้าชายแฮร์รี ยังมีพระชนม์ชีพ ทรงเป็นหนึ่งในแฟชันนิสตาชั้นแนวหน้าของอังกฤษ ที่โปรดปรานผลิตภัณฑ์จากฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุดราตรีสีน้ำเงินของคริสเตียนดิออร์ ชนิดที่โนสนโนแคร์กับแนวคิดการสนับสนุนวิสาหกิจของชาวอังกฤษด้วยกัน ชุดราตรีสีน้ำเงินดังกล่าวถูกดีไซน์ในรูปแบบสลิปชั้นในติดลูกไม้ซึ่งเจ้าหญิงไดอานาใช้ในงาน Met Gala ปี 1996 และยังถูกเอ่ยถึงบ่อยๆ มาโดยตลอด
ผู้เชี่ยวชาญการแฟชั่นพระราชวงศ์ นาม มิแรนดา โฮลเดอร์ ชี้ว่าการที่ปรินซ์แฮร์รีทรงเลือกใช้ฉลองพระองค์จากห้องเสื้อฝรั่งเศส อาจจะเป็นเพราะพระองค์ทรงมิได้รับเมมโมบันทึกช่วยจำ หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจจะด้วยเหตุว่าทรงอยู่ในพระอารมณ์หงุดหงิดน้อยใจ ทั้งนี้ แขกเกียรติยศในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกส่วนใหญ่ต่างสวมใส่เครื่องแต่งกายแบรนด์อังกฤษ
“การตัดสินพระทัยของเจ้าชายแฮร์รีที่นำชุดของดิออร์มาใช้ บ่งบอกความในพระทัยออกมาดังและชัดเจนมากค่ะ” มิแรนดา โฮลเดอร์ กล่าว
แต่ผลกระทบจาก “กบฏดิออร์” ที่จะยืนยาวมากกว่าเรื่องที่ได้สวนทางกับแนวทางการเลือกชุดที่สำนักพระราชวังแจ้งเป็น Dress Code คือ ผลประโยชน์ในทางการโฆษณาตอกย้ำแบรนด์ดิออร์นั่นเอง
“การปรากฏตัวของปรินซ์แฮร์รีในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นอะไรที่คาดกันได้ว่า ต้องมีประเด็นท้าทายให้เห็น ทุกๆ วินาทีที่พระองค์ประทับในงานย่อมอยู่ในสายตาจับจ้องของกล้องทั้งปวง ทุกๆ ความเคลื่อนไหวของพระองค์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร้ความปรานี และในเมื่อพระองค์มิได้ใช้ชุดเครื่องแบบใดๆ ฉลองพระองค์ที่ทรงนำมาใช้ก็ย่อมเป็นประเด็นเด่นในความสนใจของผู้คน” คุณโฮลเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญการแฟชั่น กล่าวไว้กับเดลิเมลออนไลน์
นอกจากนั้น ยังบอกด้วยว่าแขกผู้มีเกียรติต่างก็ “ได้รับเมมโมที่แจ้งให้สนับสนุนแบรนด์ของประเทศอังกฤษอย่างเต็มที่ในโอกาสแห่งการแสดงความรักชาติเป็นพิเศษนี้”
ผลที่เห็นกันก็คือ ผู้เข้าร่วมพระราชพิธีพากันให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนกระทั่งปรากฏเป็นทะเลแห่งความงดงามของเครื่องแต่งกายแบรนด์อังกฤษ ตั้งแต่แบรนด์อเล็กซานเดอร์ แมคควีน ที่สร้างความสง่าให้แก่เจ้าหญิงเคทและพระธิดา ไปจนถึงแบรนด์เอมิเลีย วิกสเตด ที่ตัดเย็บเสื้อโค้ทสีแดงลายดอกไม้ ให้แก่ดาราสาวคนดังคับโลกอย่าง เอมมา ทอมป์สัน ซึ่งเธอกลัดเครื่องราชเอ็มบีอีไว้ที่อกเสื้อเบื้องซ้ายด้วย คุณโฮลเดอร์ให้ข้อมูลอย่างละเอียด และกล่าวเพิ่มเติมว่า
“อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเจ้าชายแฮร์รีจะไม่ได้รบเมมโมเรื่องชุดแต่งกาย หรือมิเช่นนั้น พระองค์อาจทรงอยู่ในพระอารมณ์หงุดหงิดน้อยใจ
“เจ้าชายทรงปรากฏพระองค์อย่างสง่าในสูทอันสมบูรณ์แบบของดิออร์ ซึ่งอาจเป็นความเคลื่อนไหวแบบกบฏเพื่อให้เครื่องแต่งกายเป็นตัวแทนแห่งความคิดความรู้สึกของพระองค์
“ในสไตล์แท้จริงของพระราชวงศ์ เจ้าชายแฮร์รีทรงมีความละม้ายกับสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าของพระองค์ คือ ทรงเชี่ยวชาญยิ่งนักในการใช้สัญลักษณ์มาเป็นตัวแทนเพื่อสื่อสารสิ่งต่างๆ และการตัดสินพระทัยใช้ฉลองพระองค์ที่ผลิตโดยแบรนด์ฝรั่งเศส มาออกงานพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ของอังกฤษครั้งนี้ คือการกล่าวออกมาได้ชัดเจนอย่างแท้จริง
“สิ่งที่เจ้าชายแฮร์รีทรงสื่อสารออกมานั้นชัดเจนว่า ‘ผมมาร่วมงาน แต่ผมทำให้ ในวิถีของผมเอง’ นี่เป็นคำประกาศอันแน่วแน่ว่าจะทรงใช้อิสรภาพของพระองค์ต่อไปอย่างไม่เปลี่ยนแปลง และจะทรงไม่ยอมอยู่ภายในแวดล้อมของพระราชวงศ์”
“กบฏดิออร์” ของปรินซ์แฮร์รี ส่งสัญญาณแรงชัดไปถึงดีลธุรกิจกับ Christian Dior ด้วย
หลังจากวิเคราะห์ความหมายแห่งการที่ปรินซ์แฮร์รีทรงฉลองพระองค์แบรนด์ดิออร์ของฝรั่งเศส ในทางสัญลักษณ์ที่จะไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่พระราชบิดาแล้ว มิแรนดา โฮลเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญการแฟชั่นพระราชวงศ์ได้ชี้ไปถึงนัยและความหมายด้านธุรกิจที่ปรินซ์แฮร์รีทรงอยู่ระหว่างการเจรจา ด้วยว่า
“ข้อเท็จจริงที่ปรินซ์แฮร์รีกับพระชายาเมแกนทรงโปรดปรานอย่างมากล้นในแบรนด์ดิออร์ ชี้ชัดไปถึงเรื่องที่เหนือกว่ารสนิยมแฟชั่น โดยมีแนวโน้มสูงเหลือเกินว่า การสร้างความเป็นหุ้นส่วนในแบรนด์ดิออร์ ได้รุดหน้าอยู่ในขั้นตอนการเจรจาระหว่างฝ่ายต่างๆ
“แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สมาชิกพระราชวงศ์ ซึ่งไม่ร่วมถวายงานรับใช้องค์สมเด็จพระประมุข ไปทำธุรกิจกับแบรนด์แฟชั่นในลักษณะนี้ ดิฉันจึงแน่ใจว่าดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์จะทรงรู้สึกพอพระทัยที่จะมีรายได้เสริมจากการทำงานกับดิออร์”
ด้าน นิก เอดี ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาแบรนด์กับวัฒนธรรมชี้ถึงความสำคัญของการที่เจ้าชายแฮร์รีกับพระชายาเมแกนจะสร้างพันธมิตรธุรกิจกับดิออร์
“บรรดาแบรนด์แฟชั่นทราบกันดีน่ะครับว่า เซเลบคือช่องทางยอดเยี่ยมที่จะขายของและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ แบรนด์อย่างดิออร์ซึ่งมีประวัติศาสตร์และผลงานชั้นเลิศส่งทอดมายาวนาน ก็ย่อมจะกระโจนเข้าไปคว้าโอกาสที่จะทำงานกับปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสเมแกน” นิก เอดี บอกไว้ในระหว่างให้สัมภาษณ์แก่เดลิเมลออนไลน์
“โดยพระราชประเพณีแล้ว พระราชวงศ์ไม่สามารถจะทำเงินจากการช่วยตอกย้ำคุณค่าของแบรนด์สินค้าใดๆ แต่ตอนนี้ ทั้งสองพระองค์มิได้เป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่แล้ว ท่านก็สามารถทำข้อตกลงธุรกิจกับบริษัทแฟชั่นรายใหญ่ที่สุดของโลกรายใดก็ได้แล้วครับ
“ดิออร์โปรโมทตนเองว่าแบรนด์ของพวกเขาได้ออกแบบตัดเย็บชุดสูทถวายเจ้าชายแฮร์รี สิ่งนี้จะช่วยย้ำให้เห็นกันว่าเจ้าชายแฮร์รีทรงสามารถส่งเสริมคุณค่าของแบรนด์ได้แล้ว ดังนั้น ผมคิดว่าต่อแต่นี้ไปเราจะได้เห็นทั้งสองพระองค์ทำงานใกล้ชิดกับแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชันเฮาส์ต่างๆ เพื่อจะสร้างรายได้ และเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้แก่แบรนด์
“การจัดทำข้อตกลงเหล่านี้จะเป็นไปข้อตกลงทางการเงิน ดังนั้น ทั้งสองพระองค์อาจจะเซ็นสัญญาผูกขาดกับดิออร์ค่ายเดียว หรืออาจจะรับค่าจ้างเป็นคราวๆ ไปเมื่อทรงใช้ฉลองพระองค์ของแบรนด์” นิก เอดี อธิบายแนวทางสร้างรายได้ของเซเลบระดับพระราชโอรสอย่างละเอียด
ในวันรุ่งขึ้นหลังจากพระราชพิธีแห่งสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสร็จสมบูรณ์ ดิออร์นำพระรูปของเจ้าชายแฮร์รีในชุดสูทเช้าสามชิ้นขึ้นโพสต์บนอินสตาแกรม พร้อมคำบรรยายว่างานตัดเย็บให้พอดีกับพระราชวงศ์ ดิออร์รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้จัดทำฉลองพระองค์ถวายเจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อันเป็นงานออกแบบตัดเย็บเฉพาะเพื่อถวายพระองค์ท่าน ภายใต้การดำเนินงานของคิม โจนส์ ในภาพนี้ทรงเดินทางมาถึงเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
นอกจากนี้ ยังโพสต์พระรูปของปรินซ์วิลเลียมขณะทรงพระดำเนินภายในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ด้วย การประชาสัมพันธ์แบรนด์ดิออร์ผ่านพระกายของปรินซ์แฮร์รีจำนวนหลายโพสต์และหลายทวิตเหล่านี้ น่าจะไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำโดยไม่ชำระค่าตอบแทน
ทรงปรากฏพระองค์ที่ ‘ฮีทโธรว์’ แทบจะทันทีที่พระราชพิธีจบ เปล่งยิ้มอิ่มสุข โดย “อาจแวะธุระส่วนตัว” ที่ ‘บัคกิงแฮม’ แป๊บหนึ่ง
เมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสมบูรณ์อย่างสง่าแล้ว และสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเริ่มเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระราชยานทองคำเทียมม้า Gold State Coach นำขบวนแห่เฉลิมฉลองมุ่งสู่พระราชวังบัคกิงแฮมแล้ว เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ก็ทรงออกจากเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และสามารถแย้มพระสรวลแจ่มใสกับเจ้าหญิงยูเชนีกับพระสวามี และเจ้าหญิงเบียทริซกับพระสวามี ให้ช่างภาพได้ถ่ายรูปบ้าง
หลังจากที่ร่ำลากันสั้นๆ เจ้าชายแฮร์รีเสด็จขึ้นรถยนต์ตรงด้านหน้าของเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และดิ่งออกสู่เส้นทางที่สื่อมวลชนคาดกันในวันนั้น (6 พฤษภาคม 2023) ว่า ทรงมุ่งตรงไปยังท่าอากาศยานนานาชาติฮีทโธรว์ เพื่อเสด็จขึ้นเครื่องบินของสายการบินบริติชแอร์เวยส์ เดินทางกลับสหรัฐอเมริกาในตอนเย็น โดยทรงไม่ร่วมพระกายาหารกลางวันกับครอบครัวและพระญาติ
ทั้งนี้ ภายในเวลาประมาณเพียง 45 นาที ปรินซ์แฮร์รีก็ทรงปรากฏพระองค์ที่ฮีทโธรว์ กล่าวคือ ณ เวลา 13.15 น. ทรงก้าวขึ้นรถบริเวณด้านหน้าเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ต่อมา ณ 14.00 น. ทรงยิ้มแจ่มใสร่าเริงอยู่ที่สนามบินฮีทโธรว์
ภาพของดยุกแห่งซัสเซกซ์ที่เริ่มร่าเริง ยิ้มแย้มเปี่ยมสุข ประดุจผู้ที่เพิ่งคว้ารางวัลใหญ่สมดั่งความปรารถนา เริ่มปรากฏให้ช่างภาพได้กดชัตเตอร์เมื่อพระองค์ทรงอยู่ที่หน้าอาคารห้องรับรองวินด์เซอร์สวีตของสนามบิน พระรูปดีๆ ของปรินซ์แฮร์รีบ่งบอกพระอารมณ์ที่ตรงข้ามกับในช่วงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
รูปการณ์เหล่านี้ถูกระบุในการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญการพระราชวงศ์ว่า สะท้อนให้เห็นถึงความจำใจและแข็งใจเข้าร่วมพระราชพิธี ดังนั้น เมื่อทรงผ่านห้วงเวลาแห่งความทุกข์แล้ว ความยินดีจึงกลับสู่เรือนใจ
แต่ก็อาจจะมีปัจจัยเสริมบางประการที่ช่วยโหมดีกรีแห่งความแฮปปี้ปลื้มปิติโดยนักวิเคราะห์ได้แค่คาดคะเน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องอยู่กับข่าวกระซิบว่าในระหว่างการเดินทางจากเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ไปยังท่าอากาศยานฮีทโธรว์ ปรินซ์แฮร์รีทรงแว่บไปแวะ “ทำธุระ” ที่พระราชวังบัคกิงแฮมประมาณสิบห้านาที แต่ไม่มีสื่อค่ายใดมีข้อมูลว่าปรินซ์แฮร์รีทรงได้พรวิเศษใดจากสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมหรือไม่ ทำให้เกิดบรรยากาศแสนดี โดยที่ว่าเมื่อทรงเสด็จถึงสนามบิน พระอารมณ์ฟูฟ่องเป็นรื่นเริงเปี่ยมสุข ดั่งคนได้รับรางวัลใหญ่กันเลยทีเดียว
แหล่งข่าวในแวดวงพระราชสำนักแพลมข้อมูลแก่เดอะเทเลกราฟแค่เพียงว่า ธุระหนึ่งแว่บของปรินซ์เป็น “ธุระด้านลอจิสติกส์” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ด้านการขับรถรับส่ง ไปจนถึงการส่งกำลังบำรุง ตลอดจนการส่งสิ่งของสู่มือผู้รับ ฯลฯ
เดลิเมลออนไลน์นำเสนอภาพกราฟิกแสดงลำดับเวลาในช่วง 45 นาที จากบริเวณหน้าเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ (จุดที่1) ณ 13.15 น. ถึงฮีทโธรว์ (จุดที่4) ณ 14.00 น. ดังนี้
เดลิเมลออนไลน์ตั้งข้อสังเกตว่ารถรับส่งเจ้าชายแฮร์รีปรากฏที่จุดแยก A4 เข้าสู่มอเตอร์เวย์เพื่อไปยังสนามบินฮีทโธรว์ (จุดที่3) ณ 13.50 น. เท่ากับว่าทรงใช้เวลา 35 นาทีสำหรับระยะทางแค่ เวสต์มินสเตอร๋แอบบีย์ - จุดแยก A4 ซึ่งนานเกินปกติอย่างมากมาย แล้วทรงชดเชยเวลาด้วยการควบบึ่งบนมอเตอร์เวย์ประมาณเพียง 10 นาที ซึ่งก็เป็นไปได้เพราะมีรถตำรวจนำ
ดังนั้น ข่าวกระซิบที่เดอะเทเลกราฟรายงานว่าเจ้าชายทรงแวะธุระ ณ พระราชวังบัคกิงแฮม (จุดที่ 2) นานหลายสิบนาที เช่น 15-25 นาที จึงฟังขึ้น
การวิเคราะห์ถึงเหตุผลหรือแรงจูงใจปรากฏอยู่ 3 แนวคิด ที่น่าจะทำให้ดยุกแห่งซัสเซกซ์ยอมสละเวลาในการบึ่งไปสนามบิน (เพื่อให้ทันเวลาเช็คอินราว 14.00 น. สำหรับเที่ยวบิน 16.00 น.) เพื่อแวะธุระที่พระราชวังบัคกิงแฮม ทั้งที่ว่าในเวลาดังกล่าวไม่มีสมาชิกพระราชตระกูลที่มีหน้าที่การงานในพระราชสำนักพระองค์ใดไปปฏิบัติหน้าที่ที่นั่น เพราะทุกพระองค์ประทับอยู่ในขบวนแห่เฉลิมฉลองของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์
1. ทรงแวะเข้าห้องน้ำฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์การขับรถนำขบวนเสด็จ ให้สัมภาษณ์แก่เดลิเมลออนไลน์
2. ทรงแวะไปพักสงบพระอารมณ์ในบรรยากาศเงียบๆ ห่างไกลจากการถูกจับจ้อง ก่อนจะออกเดินทางไปสนามบินฮีทโธรว์ สื่อหลายค่ายนำเสนออย่างนั้น แต่ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะการแวะนี้ ทำให้ต้องไปเร่งสปีดขณะอยู่บนมอเตอร์ซึ่งเสี่ยงกับอุบัติเหตุหรือการผิดกฎจราจรร้ายแรง
3. มีการวิเคราะห์ที่อิงกับข้อมูลพื้นฐานซึ่งเคยปรากฏเป็นรายงานข่าวว่าพระราชบิดาทรงเคยถูกพระเจ้าอัยยิกาของปรินซ์แฮร์รี ถามว่าทำไมจึงทรงไม่รับทุกสายที่ปรินซ์โทรศัพท์มาจากสหรัฐฯ พระราชบิดาของปรินซ์ทรงตอบว่า “ผมไม่ใช่ธนาคาร” ดังนั้น จึงมีการชี้กันเบาๆ ว่าในเมื่อปรินซ์ทรงเดินทางไป-กลับรวม 10,730 ไมล์ เพื่อสร้างความสมบูรณ์แก่พระราชอีเวนต์อันสำคัญยิ่งของ “นายธนาคาร” ปรินซ์ก็อาจจะได้รับซูเปอร์โบนัสขนาดที่ทำให้พระองค์ทรงสดชื่นอารมณ์ดีอย่างยิ่ง โดยการส่งมอบอาจเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งควรดำเนินการกันเงียบๆ ณ สำนักพระราชวังให้เรียบร้อยเป็นที่มั่นใจสบายพระทัยก่อนจะออกเดินทาง 5,365 ไมล์เพื่อกลับพระตำหนักมอนเตซิโต
คำเฉลยสำหรับประเด็นเส้นทางธุรกิจแฟชั่นในดีลคริสเตียนดิออร์ คงจะไม่ต้องรอนาน ยกเว้นแต่ว่าปฏิบัติการกอบกู้ภาพลักษณ์และความป็อบปูลาร์ของแบรนด์ปรินซ์แฮร์รี-แบรนด์ซัสเซกซ์ จะต้องใช้เวลามากมายกว่าที่คาด เนื่องจากแนวโน้มความเสื่อมของแบรนด์ค่อนข้างหนักหนา
แต่ในประเด็นการแวะธุระที่พระราชวังบัคกิงแฮมน่าจะไม่ต้องรอกันเลย เพราะยากที่แหล่งข่าวในพระราชสำนักจะมาเจาะลึกชัดเจนขนาดนี้
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เดลิเมลออนไลน์ เดอะเทเลกราฟ เดอะซัน เอพี นิวยอร์กโพสต์ ซีเอ็นเอ็น)