xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึกปรินซ์แฮร์รีหวั่นถูกลอบทำร้าย!! แต่แข็งใจร่วมพิธีราชาภิเษก เพราะต้องเกาะติดคิงชาร์ลส์เพื่อซีรีส์ Netflix เดินต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขณะที่เจ้าชายแฮร์รีทรงถูกพันธมิตรในสหรัฐอเมริกา ‘กดดัน’ ให้คอยหมั่นไปปรากฏพระองค์เกาะติดกับคิงชาร์ลส์ ต้องไปอยู่ในพระราชพิธี ต้องทำให้เรื่องเล่าของพระองค์มีพัฒนาการและเดินหน้าไปได้เรื่อยๆ เพราะท่านผู้ชมในอเมริกา สนใจจะเสพทุกอย่างเกี่ยวกับพระราชวงศ์ นั้น คิงชาร์ลส์ก็ทรงเปิดอ้อมพระกร รอต้อนรับ เพราะในความเป็นครอบครัวแท้ๆ ทรงเหลือกันจริงๆ เพียง 3 พระองค์ คือ ตัวคิงชาร์ลส์กับพระราชโอรสทั้งสอง ในการนี้ คิงชาร์ลส์ทรงเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจให้สามารถอดทน เข้าใจ และสนุกกับการบ่มเพาะพระราชโอรสพระองค์เล็กให้บรรลุวุฒิภาวะแห่งความเป็นบุรุษให้สำเร็จด้วยวิถีวิธีของพระองค์เอง
แม้เจ้าชายแฮร์รี พระราชโอรสองค์เล็กของคิงชาร์ลส์แห่งอังกฤษ ทรงตอบรับการเชิญเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของเสด็จพระบิดาที่กรุงลอนดอนเป็นที่เรียบร้อยนานยี่สิบวันแล้ว กระนั้นก็ตาม ชีวิตจริงยิ่งกว่านวนิยายของเจ้าชายแฮร์รียังมีปมที่ต้องลุ้นกันต่อมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะทรงเสด็จแน่นอนหรือไม่ หรือจะทรงเปลี่ยนพระทัยปุบปับแบบนาทีสุดท้าย

แหล่งข่าวในหลายทีมออร์แกไนเซอร์ผู้จัดการงานพระราชพิธีกระซิบบอกดิเอกซ์เพรส สื่อค่ายยักษ์นักเมาท์มอยข่าวพระราชวงศ์ว่า งานจะเกิดขึ้นในวีคเอนด์หน้าแล้ว แต่ทางอังกฤษยังไม่ได้รับคำตอบกลับมาจากเจ้าหน้าที่ของเจ้าชายแฮร์รีเลย ทั้งข้อมูลกำหนดเวลาที่จะเสด็จมาถึง ทั้งการตัดสินพระทัยเรื่องสถานที่พำนัก ทั้งกำหนดเวลาการเสด็จกลับ ทั้งความพึงพอพระทัยกับจุดประทับนั่งของพระองค์ในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ต้องแจ้งทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมถวายการดูแลและอำนวยความสะดวก

ทั้งนี้ สาเหตุที่แผนการเดินทางของพระองค์ยังถูกเก็บเป็นความลับ ก็เพราะสาเหตุด้านความปลอดภัย เดอะซันออนซันเดย์ สื่อหัวสีที่ต่อสายกับพระราชวงศ์ทุกค่ายได้อย่างทั่วถึง รายงานไว้อย่างนั้น

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าววงในของทีมออร์แกไนเซอร์พากันทำใจไว้เลยว่า ปรินซ์แฮร์รีอาจแจ้งยกเลิกการเสด็จ ณ เวลาเริ่มพระราชพิธี แต่ผู้ใหญ่ในพระราชสำนักย้ำว่าให้เตรียมการทุกสิ่งให้พรักพร้อมแก่ปรินซ์ พระองค์จะเสด็จมาแน่

ด้านผู้บริหารของจอมยักษ์แห่งอุตสาหกรรมบันเทิง คือ Netflix ก็เป็นอีกหนึ่งสายที่กระซิบกับสื่อมวลชนอย่างมั่นใจ ว่าเจ้าชายแฮร์รีจะเข้าร่วมพระราชพิธี ในการนี้ ผลประโยชน์แห่งธุรกิจซึ่งสร้างรายได้มหาศาลแก่พระองค์ จะเกิดขึ้นมากหรือน้อย จะสำเร็จหรือล้มเหลว ต้องขึ้นอยู่กับความแน่นปึ้กที่พระองค์ยังมีอยู่กับพระราชวงศ์อังกฤษ

เพราะพระราชวงศ์อังกฤษและดรามาของสมาชิกแห่งวินด์เซอร์คือสิ่งที่ท่านผู้ชมในอเมริกายังเสพกันสนุกสนาน

จากครอบครัวไซส์จิ๋วที่มีกันจริงๆ เพียง 3 พระองค์ เมื่อมีคู่ชีวิตอีก 3 พระองค์สมทบเข้าไป การปรับตัวที่แสนจะเจ็บปวดสามารถเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ
ปรินซ์แฮร์รีทรงยึกยักมาตั้งแต่ต้น ทรงล่าช้าอย่างยิ่งกว่าจะตอบรับเข้าร่วมพระราชพิธี ทรงเยอะไปหมด แม้แต่ ‘ที่นั่ง’ ก็ยังต่อรอง

พระอาการลังเลของเจ้าชายแฮร์รีต่อการตัดสินพระทัยเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ปรากฏมาตลอดตั้งแต่ปลายมกราฯ จรดจนเมษาฯ โดยสื่อหลายค่ายรายงานว่าการเรียนเชิญเข้าร่วมพระราชพิธีฯ มีไปถึงดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์นานหลายเดือนแล้ว ในเวลาเดียวกัน เดลิเมลออนไลน์รายงานว่าเจ้าชายแฮร์รีทรงหมกมุ่นอยู่กับ “จุดนั่ง” ที่พระองค์และพระชายาเมแกนจะได้รับในพระราชพิธี จะมีพระราชวงศ์พระองค์ใดได้ประทับนั่งด้านหน้า และจะมีผู้ใดนั่งอยู่เบื้องหลัง

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของระบบอารักขาที่จะจัดเตรียมให้ จะอยู่ในระดับใด อีกทั้งบทบาทที่ทรงได้รับจะมีอย่างไรบ้าง ฯลฯ ด้วยเหตุเหล่านี้ พระองค์จึงทรงต้องใช้เวลามากมายในการต่อรองและพิจารณาก่อนจะตัดสินพระทัย

ปมแห่งความระแวงระวังหลากหลายประการซึ่งทำให้พระองค์ทรงลังเลที่จะตัดสินพระทัย ได้ปรากฏอยู่ในการเจรจาต่อรองที่โต้ตอบไปมากับสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมอย่างเข้มข้น ประดุจดั่งศึกมหกรรมปิงปองที่ถูกหวดถูกตบไปมาระหว่างสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนดิก เดลิเมลออนไลน์รายงาน

บรรดาสื่อใหญ่ยักษ์ในสายข่าวพระราชวงศ์รายงานละม้ายกันว่า การเจรจาต่อรองกลับไปกลับมาเข้มข้นถึงขนาดที่เจ้าชายแฮร์รีทรงขอดูผังที่นั่งทั้งหมดภายในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ อีกทั้งยังมีการขอระบบอารักขาและการอำนวยความสะดวกขั้นสูง เพื่อความมั่นใจว่าเจ้าชายแฮร์รีและพระชายาเมแกนจะไม่ต้องแบกความเสี่ยงว่าเส้นทางสัญจรทั้งหมดของพระองค์จะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งไม่ต้องแบกความเสี่ยงว่าจุดประทับนั่งของพระองค์ในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์จะไม่ทำให้พระองค์เสียความรู้สึกเหมือนที่ทรงประสบในคราวพิธีมิสซาถวายพระพรแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน 2022

จนกระทั่งวันเวลาผ่านเลยกำหนดสำหรับการตอบรับเชิญไปแล้วสิบกว่าวัน สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมจึงออกประกาศเมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน 2023 ว่า

“พระราชวังบัคกิงแฮมมีความยินดีที่จะยืนยันว่า ดยุกแห่งซัสเซกซ์จะเสด็จเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ เวสต์มินส์เตอร์แอบบีย์ ในวันที่ 6 พฤษภาคม ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์จะประทับอยู่ในแคลิฟอร์เนียด้วยกันกับเจ้าชายอาร์ชีและเจ้าหญิงลิลีเบต”


ในการนี้ ภายในเวลาไล่เลี่ยกับที่สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมออกประกาศอย่างเป็นทางการนั้น ทีมประชาสัมพันธ์ของเจ้าชายแฮร์รีก็ทำการประกาศด้วย โดยใช้ถ้อยคำที่แทบจะเหมือนกันทั้งหมด

การต่อรองอันดุเดือดและยืดเยื้อเพื่อให้เจ้าชายแฮร์รีได้รับการอารักขาอย่างเต็มรูปแบบ ถูกนักวิจารณ์ชี้ว่าเป็นการตั้งแง่เรียกร้องเพื่อเสริมเกียรติภูมิ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจปฏิเสธว่ากระแสต่อต้านโกรธเคืองที่สาธารณชนในอังกฤษมีต่อเจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกน นับว่าดุเดือดและสมควรแก่การป้องกันและระวังตัวเป็นอย่างยิ่ง

ชาวโลกได้เห็นดัชเชสเมแกนสาธิตความสามารถที่จะบีบน้ำตาให้รินออกมาได้ใน 3 วินาที จึงไม่ค่อยมีใครเชื่อการร่ำไห้ของดัชเชส หรือกระทั่งจะเชื่อถ้อยคำของเธอ

เมื่อดัชเชสเมแกนรินน้ำตาในพระราชพิธีพระบรมศพแห่งควีนเอลิซาเบธ อัสสุชลของเธอเป็นที่หัวเราะขบขันว่า “เฟก”
ปรินซ์แฮร์รีต้องการการอารักขาเต็มแม็กซ์ เพราะซีรีส์ Netflix & เมมมัวร์ SPARE จุดกระแสทัวร์ลงถล่มยับเยิน

เจ้าชายแฮร์รี ทรงเป็นพระราชโอรสผู้บดขยี้ดวงพระหทัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงปลายปีที่แล้วและต้นปีที่ผ่านมาเจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนผู้เป็นพระชายา ได้ปล่อยคอนเทนต์แนวตั้งข้อกล่าวหารุนแรง 2 โปรเจ็กต์ซ้อน ซึ่งสร้างรายได้แก่ทั้งสองพระองค์อย่างมหาศาล ได้แก่ ซีรีส์ภาพยนตร์สารคดี Harry and Meghan (เริ่มสตรีมมิ่งเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2022 - ผลิตให้แก่ เน็ตฟลิกซ์) และหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง SPARE (เริ่มวางแผงช่วงต้นเดือนมกราคม 2023 - ผลิตให้แก่ เพนกวิน แรนดอม เฮาส์)

ทั้งสองโปรเจ็กต์ซึ่งดรามาอย่างที่สุดนี้ มากมายไปด้วยเนื้อหากล่าวร้ายป้ายสีพระราชวงศ์วินด์เซอร์อย่างหนักหนา และจึงมีสาธารณชนทั่วโลกจ่ายเงินให้แก่ค่ายธุรกิจยักษ์ทั้งสองนี้ เพื่อซื้อหามาดูและมาอ่าน

โดยมีการติเตียนคุณภาพมาตรฐานความเป็นคุณพ่อของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 อีกทั้งกล่าวร้ายว่าพระราชบิดาทรงอิจฉาดัชเชสเมแกน!?!

ในด้านของสมเด็จพระราชินีคามิลลา ผู้ทรงเป็นพระมารดาเลี้ยง ปรินซ์แฮร์รีสร้างข้อกล่าวหาว่า ควีนทรงนำเรื่องราวของพระองค์และพระชายาเมแกนไปเล่าสู่นักข่าวอย่างเสียๆ หายๆ เพื่อเอื้อให้พระนางสามารถพัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์กับสื่อมวลชน ทั้งนี้ ปรินซ์ได้ตั้งสองฉายาแสนโหดเหมือนโกรธกันเจ็ดชั่วโคตร ถวายแก่ควีน ได้แก่ นางวายร้าย และบุคคลอันตราย

พร้อมกันนี้ ปรินซ์แฮร์รีทรงเล่าว่าพระเชษฐาวิลเลียมทรงบุกไปอาละวาดทำร้ายร่างกายพระองค์ถึงห้องครัวในพระตำหนักน็อตติงแฮม คอตเทจ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ค่อยจะมีใครเชื่อเพราะบุคลิกเด่นของพระเชษฐาวิลเลียมอยู่ในด้านความใจดี มีเมตตา ขณะที่บุคลิกเด่นของปรินซ์แฮร์รีคือการใช้กำลังและการพะบู๊ ด้านพระสหายของพระเชษฐาก็เคยให้ข้อมูลแก่นักข่าวบ่อยๆ ว่า ทรงยอมเป็นกระสอบทรายให้พระอนุชาระบายอารมณ์

ดัชเชสเมแกนถูกบรรดานักวิจารณ์ติเตียนว่าเธอเป็นต้นเหตุของความแตกร้าวในพระราชวงศ์อังกฤษ ชื่อ Meghan ของเธอ ถูกนำไปตั้งฉายาว่า Meg-A-Rift เมแกนผู้สร้างความแตกร้าว แม้แต่ความสัมพันธ์อันดีที่เจ้าชายแฮร์รีทรงมีอยู่กับควีนคามิลลา พระราชมารดาเลี้ยงผู้ที่เจ้าชายเคยให้สัมภาษณ์ในทางชื่นชม ก็กลับกลายเป็นเสียหายย่อยยับ

หนังสือเมมมัวร์เรื่อง SPARE ของเจ้าชายแฮร์รี ขายดีแปลกๆ มีการลดราคาอย่างดุเดือด 40% - 50% ตั้งแต่ช่วงขายล่วงหน้าไปจนหนังสือวางแผงแล้วก็ยังลดราคาอย่างดุดันต่อเนื่อง
ยิ่งกว่านั้น ปรินซ์แฮร์รียังมีการปล่อยอีกหนึ่งข้อกล่าวหาที่อ่อนไหวอย่างยิ่งคือ การบิดเบือนประเด็นหารือถกเถียงระหว่างเจ้าหญิงเคทกับดัชเชสเมแกนในเรื่องชุดแต่งกายของหนูน้อยโปรยดอกไม้ในพระราชพิธีเสกสมรสของปรินซ์แฮร์รี

ทั้งนี้ สาธารณชนได้ทราบกันมานานปีแล้วว่า แม้จะมีประเด็นการแก้ไขชุดกระโปรงให้แก่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระธิดาของพระชายาเคท แต่ประเด็นหลักมีอยู่ว่า แม่ม่ายจากอเมริกาจะไม่ให้ชุดแต่งกายของหนูน้อยโปรยดอกไม้ มีถุงน่องสีขาวตามพระราชประเพณีอังกฤษ ขณะที่พระชายาเคทพยายามอธิบายความสำคัญของพระราชประเพณี

การอธิบายและถกเถียงเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้แม่ม่ายอเมริกันตะแบงไปกล่าวติเตียนเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ผู้ทรงเป็นหนึ่งในขบวนหนูน้อยโปรยดอกไม้ ด้วยการกล่าวเปรียบเทียบเจ้าหญิงชาร์ลอตต์กับน้องอิสซาเบล (ลูกของเพื่อนสนิท) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหนูน้อยแห่งขบวนเด็กโปรยดอกไม้ ด้วยถ้อยคำเชือดเฉือนใจว่า “เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงไม่น่าโปรดปรานเท่ากับน้องอิสซาเบล” ทอม บาวเออร์ นักเขียนหนังสือแนวพระราชวงศ์อังกฤษ บันทึกไว้ในชีวประวัติดัชเชสเมแกน เรื่อง Revenge: Meghan, Harry and the war between the Windsors

นักเขียนบาวเออร์เล่าถึงสภาพการณ์ของพระชายาเคทในวันนั้นซึ่งอยู่ในเดือนพฤษภาคม 2018 ว่า พระชายาเคทเพิ่งให้กำเนิดแก่เจ้าชายหลุยส์เมื่อ 23 เมษายน 2018 จึงยังทรงมีอาการ “เหน็ดเหนื่อย” (สภาวะทั่วไปของสตรีหลังคลอดบุตรซึ่งอยู่ให้ห้วงหลายสัปดาห์ที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในร่างกายจะทำการปรับตัวสู่ระดับปกติ) เมื่อมามีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องถุงน่อง ซึ่งว่าที่พระชายาเมแกนจะละเลยพระราชประเพณี และ “เมแกนไม่ยอมลดราวาศอกให้กับเรื่องนี้” บรรยากาศ ณ ตรงนั้นจึงย่ำแย่เอามากๆ

พระชายาเคทจึงทรงไปสู่จุดที่สุดจะอดทนและถึงกับน้ำตาร่วง

ประเด็นร้อนดังกล่าว แม้จะมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่ได้เห็น/ได้ยินเรื่องราว ณ จุดเกิดเหตุ กระนั้นก็ตาม ข้อมูลเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่ล่วงรู้ออกสู่สาธารณชน จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2018 สื่อหัวสีทั้งปวงในอังกฤษพากันเล่นข่าวนี้กันอย่างอื้อฉาว แต่แล้วข่าวครึกโครมดังกล่าวได้โรยตัวไปอย่างรวดเร็ว

วันเวลาผ่านไปสองปีครึ่ง ดัชเชสเมแกนออกอากาศให้สัมภาษณ์ในรายการโอปราห์ วินฟรีย์ ตอนเดือนมีนาคม 2021 และนำเรื่องนี้ไปเล่าในเวอร์ชั่นของเธอว่า เธอเป็นฝ่ายที่ร้องไห้ และดัชเชสเคทคือฝ่ายที่กล่าวขออภัยเธอ

ครั้นเมื่อปมปัญหา “ใครกันแน่ที่หลั่งรินน้ำตา” ถูกเอ่ยถึงในหนังสือ SPARE ประเด็นการแก้ไขชุดกระโปรงของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ซึ่งแทบจะไม่เป็นประเด็นอะไรเลย ถูกปรินซ์แฮร์รีบิดให้กลายเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ เมแกน อดีตนักแสดงสาวผู้มากฝีมือรายนี้ ร้องไห้ลงไปกองกับพื้นกันเลยทีเดียว

โดยปรินซ์แฮร์รีอ้างถึงการเขียนเอสเอ็มเอสโต้ตอบระหว่างพระชายาเมแกน กับพระเชษฐนีเคท ผู้เป็นพี่สะใภ้ที่ปรินซ์นับถือเป็นพี่สาวที่พระองค์ไม่มี เพื่อเล่าอย่างคลุมเครือว่าเจ้าหญิงเคททรงจุกจิกเอาแต่พระทัยในเรื่องชุดกระโปรงของพระธิดาชาร์ลอตต์ ส่งผลกดดันดัชเชสเมแกนซึ่งถูกกระหน่ำจากปัญหาความขัดแย้งกับคุณพ่อในสหรัฐฯ เมื่อปรินซ์กลับเข้าบ้านก็พบว่า เอสเอ็มเอสนั้นทำให้ว่าที่เจ้าสาวของพระองค์ร่ำไห้สะอื้นกองอยู่ที่พื้น

นอกจากที่เรื่องแก้ไขกระโปรงจะหยุมหยิมเกินกว่าจะสามารถทำร้ายจิตใจใครได้ ข้อความเอสเอ็มเอสที่ถูกอ้างถึง ก็ไม่เคยถูกนำมายืนยันข้อกล่าวอ้างเลย ทั้งนี้ ภาพข้อความเอสเอ็มเอสบนจอโทรศัพท์มือถือที่สื่อหลายค่ายนำไปประกอบข่าว ก็เป็นภาพที่สร้างใหม่เพื่อจำลองสถานการณ์

ภาพเปรียบเทียบชุดแต่งกายของหนูน้อยโปรยดอกไม้ในพระราชพิธีเสกสมรสของดัชเชสเมแกน ซึ่งเด็กๆ ไม่ได้สวมถุงน่องสีขาว (ภาพบน) กับของเจ้าหญิงยูเชนี ซึ่งเด็กๆ ได้สวมถุงน่องสีขาว

หนังสือชีวประวัติดัชเชสเมแกน โดยนักข่าว/นักเขียนคนดัง ทอม บาวเออร์ ทั้งนี้ ทอม บาวเออร์บอกไว้ขำๆ ว่านี่เป็นหนังสือที่ไม่ได้รับอนุญาตจากต้นเรื่อง
ผลกระทบจากคำกล่าวหากล่าวร้ายทั้งปวง ปรากฏเป็นบูมเมอแรงเหวี่ยงกลับสู่ปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสเมแกนหนักหนาดั่งทัวร์ลงยับเยิน

การกล่าวหาต่างๆ ในซีรีส์สารคดี Netflix และหนังสือบันทึกความทรงจำ SPARE เป็นอะไรที่ฟังไม่ขึ้นสำหรับผู้คนที่ติดตามชีวิตและเรื่องราวของพระราชวงศ์วินด์เซอร์มายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้ายสีที่พุ่งเป้าไปยังเจ้าฟ้าชายวิลเลียมซึ่งมีความเป็นสายบุ๋นไม่ใช่สายบู๊ และเจ้าหญิงเคทซึ่งพิสูจน์พระองค์มาโดยตลอดว่าเป็นผู้ที่สุภาพ มีเหตุมีผล อดทน และระมัดระวังน้ำใจผู้อื่น ตลอดที่ผ่านมาพระจริยวัตรของเจ้าชายเจ้าหญิงแห่งเวลส์เป็นที่ชื่นชมอย่างยิ่งในหมู่ประชาชน กระทั่งว่าคะแนนนิยมที่ทั้งสองพระองค์ได้รับนั้น เป็นรองแค่เพียงควีนเอลิซาเบธ

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมและมกราคมจึงปรากฏออกมาว่า แทนที่คลื่นประชาชนจะโกรธแค้นแห่กันไปเล่นงานสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรเพราะสงสารปรินซ์แฮร์รี ก็กลับกลายเป็นว่าภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนจำนวนมาก ไม่เชื่อเรื่องกล่าวร้ายป้ายสีซึ่งปราศจากหลักฐานและค้านกับความรู้สึก

ด้วยเหตุนี้ รูปการณ์ของสังคมจึงเต็มไปด้วยการโต้ตอบด้วยความโกรธเลือดเดือดเข้าใส่ปรินซ์แฮร์รีและพระชายาอย่างครึกโครมต่อเนื่องหลายเดือน โดยมีการเรียกร้องกดดันกษัตริย์ชาร์ลส์ให้ขับทั้งสองพระองค์พ้นจากพระฐานันดรศักดิ์ทุกรายการ

คะแนนนิยมที่ชาวอังกฤษมีต่อปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสเมแกน ดิ่งสู่อันดับก้นตาราง แย่น้อยกว่า เจ้าชายแอนดรูว์ผู้อื้อฉาวอมตะ เพียงพระองค์เดียว และแน่นอนว่าจำนวนผู้ที่ยี้ใส่มีมากกว่าผู้ที่ยังพอจะเห็นด้านบวกอยู่บ้าง ระดับคะแนนเฉลี่ยจึงอยู่ในแดนติดลบ เป็นที่เสียหน้าอย่างสาหัสสำหรับอดีตนักแสดงนำคนดังแห่งซีรีส์ทีวีเรื่อง Suits

สื่อมวลชนหลายๆ ค่ายต่างปรามาสว่าคำบอกเล่าของปรินซ์มากมายไปด้วยเรื่องโกหก และผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานของอดีตสมาชิกรัฐสภา ลอร์ดไมเคิล แอชครอฟต์ พบกว่ามีประชากรกว่า 2 ใน 3 ไม่เชื่อในคำกล่าวอ้างกล่าวร้ายต่างๆ ของปรินซ์แฮร์รีกับดัชเชสเมแกน

แอนเจลา เลวิน ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเขียนหนังสือเรื่องราวพระราชวงศ์อังกฤษมาแล้ว 4 ปก กล่าวในคลิปให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องเล่าของเจ้าชายแฮร์รี (ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์แก่ช่องไทมส์เรดิโอ เมื่อ 8 มกราคม 2023 ที่มีจำนวนการเข้าชมมายกว่าเกินกว่า 1.3 ล้านวิว) บอกว่า “ไปเชื่อสิ่งที่พระองค์ทรงกล่าวไม่ได้หรอกค่ะ ไปเชื่อคำโกหกที่พระองค์ทรงกล่าว ไม่ได้เลย”

พร้อมนี้ นักเขียนคนดังยังระบุด้วยว่าเจ้าชายแฮร์รีทำรายได้ให้ตัวพระองค์เองได้อย่างมหาศาล เมื่อไปออกรายการคุยกับผู้สัมภาษณ์ชาวอเมริกัน แล้วเล่าเรื่องซึ่งผู้ชมในอเมริกาก็รีบเชื่อตาม แต่อีกไม่นาน ผู้ชมจะเบื่อและเอือม

ในท่ามกลางบรรยากาศฟาดกลับอื้ออึงจากอังกฤษ เจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนทรงเงียบหายไปแวดวงข่าวและงานปาร์ตี้หรูหราของชาวไฮโซฮอลลีวู้ด กระทั่งว่ามหกรรมซูเปอร์ปาร์ตี้วันเกิดของโอปราห์ วินฟรีย์ ที่แสนรักแสนสนิทสนม ก็ทรงไม่ไปปรากฏพระองค์

แอนเจลา เลวิน ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเขียนหนังสือชีวประวัติเจ้าชายแฮร์รีผ่านการสัมภาษณ์พระองค์โดยตรงอย่างละเอียด

หน้าปกของหนังสือชีวประวัติเจ้าชายแฮร์รี โดยแอนเจลา เลวิน ซึ่งเล่าอย่างละเอียดถึงการที่เจ้าชายและพระชายาเมแกนลาออกจากสถานภาพพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และลาออกจากการปฏิบัติพระกรณียกิจของสำนักพระราชวังบัคกิงแฮม
‘แฮร์รี-เมแกน’ หายไปจากพื้นที่ข่าวนานนนน สื่อทั้งปวงหันมาลุ้นมารอการตัดสินใจเสด็จเข้าร่วมพระราชพิธีฯ

ในที่สุด อุณหภูมิสังคมที่เคยระอุร้อนโครมครามก็โรยตัวลง และความสนใจของสาธารณชนได้ย้ายไปสู่ประเด็นใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่ว่าดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์จะเสด็จกลับอังกฤษเพื่อเข้าร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของเสด็จพระราชบิดาหรือไม่ หลังจากที่ทั้งสองพระองค์ทรงสร้างความร้าวรานใจใหญ่หลวงแก่พสกนิกรชาวอังกฤษไว้แสนสาหัส

การกบดานเงียบกริบของปรินซ์แฮร์รีกับดัชเชสเมแกนดำเนินไปราวหนึ่งเดือนครึ่ง และแล้วสื่อค่ายยักษ์ นาม ดิเอกซ์เพรส รายงานเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2023 ว่าดัชเชสเมแกนปรากฏตัวต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับจากกลางเดือนมกราคม 2023 ที่หนังสือ SPARE ถูกวางแผงทั่วโลก โดยเป็นการปรากฏตัวในวิดีโอเปิดตัวกาแฟแบรนด์ใหม่ของดัชเชสบนโซเชียลมีเดีย

ความเคลื่อนไหวของดัชเชสเมแกนเกิดขึ้นตัดหน้าความเคลื่อนไหวจากสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมเพียงประมาณ 10 ชั่วโมง


โดยเดอะซันรายงานข่าวตามหลังดิเอกซ์เพรสว่า สำนักพระราชวังอังกฤษแจ้งทราบไปยังเจ้าชายแฮร์รี ให้ย้ายสิ่งของส่วนพระองค์ออกจากพระตำหนักฟร็อกมอร์คอตเทจ หรือก็คือประมาณว่า เรียกคืนสิทธิครอบครองพระตำหนักกลับออกจากเจ้าชายแฮร์รี หลังจากที่พระองค์แทบจะมิได้ใช้พระตำหนักเป็นแรมปี เพราะทรงย้ายถิ่นไปประทับในสหรัฐฯ

แม้เรื่องนี้เป็นไปเพื่อจัดระบบการจัดสรรอสังหาริมทรัพย์ให้มีการใช้งานอย่างคุ้มค่า โดยจะให้ปรินซ์แอนดรูว์ พระราชอนุชา ย้ายเข้าอาศัยแทน (เพราะเจ้าชายแฮร์รีทรงปล่อยให้ฟร็อกมอร์ถูกทิ้งร้างนานปี ขณะที่พระตำหนักรอยัลลอดจ์ ซึ่งมีไซส์น้องๆ ปราสาทโบราณด้วยจำนวนห้องหับต่างๆ รวม 31 ห้อง ซึ่งปรินซ์แอนดรูว์ประทับนั้น มีค่าใช้จ่ายเกินศักยภาพของปรินซ์)

แต่ท่านผู้ชมทั้งในอังกฤษและสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวไฮโซแห่งลอสแอนเจลิส มองในมุมฉงน หรือว่าเจ้าชายแฮร์รีทรงถูกลงโทษและถูกตัดขาดจากพระราชตระกูลเดลิเมลออนไลน์รายงาน

สิ่งที่ตามมาคือ คำถามว่าเซเลบสองพระองค์นี้ทรงตกกระป๋องแน่แท้แล้วหรืออย่างไร มีโอกาสที่จะถูกถอดออกจากพระฐานันดรศักดิ์เจ้าชาย - ดยุก – ดัชเชส มาเป็นมิสเตอร์และมิสซิสเมาท์แบตเทน-วินด์เซอร์ หรือไม่

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ทั้งสองพระองค์ย่อมจะสูญเสียหัวโขน ตลอดจนหมดโอกาสที่จะเข้าสู่พระราชวังเพื่อเก็บวัตถุดิบใหม่ๆ มาผลิตคอนเทนต์ซีซันสองให้แก่เน็ตฟลิกซ์ และเพนกวิน แรนดอม เฮาส์ ตลอดจนสปอติฟาย

ประเด็นร้อนนี้ได้รับความสนใจอย่างคึกคักจากสื่อมวลชน พร้อมกับโหมกระพือความใคร่รู้คำตอบว่าปรินซ์แฮร์รีจะเสด็จกลับประเทศอังกฤษเพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีสำคัญขั้นสุดของสหราชอาณาจักรหรือไม่

ปรากฏว่าสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมและสื่อมวลชน ตลอดจนท่านผู้ชมทั่วโลก ยังต้องรอต่อไปตลอดเดือนมีนาคม 2023 และอีกเกือบครึ่งเดือนของเมษายน กว่าปรินซ์แฮร์รีจะตอบรับคำเชิญ ว่าจะเสด็จเพียงลำพังพระองค์เอง ซึ่งทำให้หลายๆ ฝ่ายได้ถอนใจโล่งใจ

วันชื่นคืนสุข: เจ้าชายแฮร์รีกับดัชเชสเมแกนขณะเสด็จเยือนหมู่เกาะตองกาในเดือนตุลาคม 2018
เปิดข้อมูลเจาะลึกปรินซ์แฮร์รีทรงหมกมุ่นกับ ‘จุดนั่ง’ ในพระราชพิธีฯ ของเสด็จพ่อ กว่าจะโอเคต่อแรงกดดัน และยอมตอบรับเข้าร่วม

เจ้าชายแฮร์รีทรง “หมกมุ่น” กับเรื่อง “จุดนั่ง” ที่พระองค์จะได้รับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชบิดา จะมีพระราชวงศ์พระองค์ใดที่ประทับนั่งด้านหน้าพระองค์ และจะมีผู้ใดนั่งอยู่เบื้องหลัง โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่านอกจากจะบ่งบอกถึงความรู้สึกที่ต้องเสริมสร้างเกียรติภูมิแล้ว ยังมีมิติของการป้องกันตนเองจากภัยอันตรายจากการถูกลอบทำร้ายด้วย


ปมขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังไมค์จึงมีอยู่ว่า ขณะที่นักข่าวสายพระราชสำนักแห่งค่ายบีบีซี นามว่า จอนนี ดีมอนด์ ยืนยันออกสถานีวิทยุบีบีซีเมื่อเย็นวันพุธที่ 12 เมษายน ว่าการเชิญเข้าร่วมพระราชพิธีไปถึงปรินซ์แฮร์รีเมื่อหลายเดือนที่แล้ว ยังมีแหล่งข่าวมากกว่าหนึ่งรายที่ยืนยันกับเดลิเมลออนไลน์ว่า จุดที่ปรินซ์แฮร์รีจะได้ประทับนั่งในพระราชพิธีเป็นปมที่ถูกถกเถียงต่อรองอย่างเยอะมาก ละเอียดมาก ระหว่างฟากฝั่งลอนดอนกับแคลิฟอร์เนีย

“ฝ่ายของปรินซ์จริงจังมากนะคุณ พวกเขาจะต้องได้ทราบว่าผังที่นั่งในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ออกมาเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะต้องการร่วมอนุมัติผังที่นั่งมั้ง มีการต่อรองกลับไปกลับมาระหว่างสองฝ่ายแบบว่าเยอะมาก ละเอียดมาก เจ้าชายแฮร์รีกับพระชายาเมแกนต้องไปนั่งข้างหลังพระราชนิกุลใดบ้างหากพระองค์ตัดสินพระทัยเข้าร่วมงาน และจะมีใครที่นั่งด้านหลังพระองค์” แหล่งข่าวเจ้าหนึ่งกล่าวอย่างนั้น และบอกด้วยว่า

“เห็นชัดเลยว่าปรินซ์แฮร์รีทรงหมกมุ่นกับรายละเอียดตรงนี้เป็นพิเศษ”

“อันนี้จริงนะ มีการตั้งคำถามแบบว่ามหาศาล และจะเอารายละเอียดของการจัดเตรียมภายในแอบบีย์ทั้งหมดเลย” อีกหนึ่งแหล่งข่าวเล่าสู่เดลิเมลออนไลน์

หลายๆ ค่ายสื่อใหญ่ยักษ์ที่ต่อสายอยู่กับดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ บอกว่าปรินซ์ทรงมีรายการคำถามยาวเหยียด ขอข้อมูลจากสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมว่า พระองค์จะได้รับบทบาทอะไรบ้าง จะมีสิ่งต่างๆ เตรียมไว้ให้พระองค์หรือไม่หากพระองค์ทรงตอบรับคำเชิญ มีระบบรักษาความปลอดภัยให้ไหม ปรินซ์ทรงต้องการ “คำรับประกัน” อย่างชัดเจนแน่นอน

ทั้งหลายทั้งปวงนี้อาจเป็นผลจากการสรุปบทเรียนในอดีตหมาดๆ เมื่อคราวที่ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์เสด็จกลับอังกฤษและร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 70 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในเดือนมิถุนายน 2022 ณ อาสนวิหารเซนต์พอล กล่าวคือ

ทรงไม่ได้มีบทบาทร่วมอยู่ในขบวนเสด็จพระดำเนินเข้าสู่อาสนวิหารด้วยกันกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ดัชเชสคามิลลา (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เจ้าชายวิลเลียม และพระชายาเคท

และจุดประทับนั่งสำหรับพระองค์มีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งบ่งบอกถึงสถานภาพที่ลดระดับลง

เจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนเดินตามเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเข้าสู่จุดประทับนั่ง ณ แถวที่สองในปีกซ้ายของทางเดินสู่พระแท่นบูชา เฉกเช่นแขกรับเชิญทั้งหลาย

เจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนถูกจัดให้นั่งติดกับพระญาติสนิท แต่อยู่ด้านหลังปรินซ์ลูกพี่ลูกน้องสองพระองค์ของควีนเอลิซาเบธ ได้แก่ ปรินซ์ริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์กับพระชายา(หมวกปีกสีฟ้า) กับปรินซ์เอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์ (ขวาสุด) โดยทั้งสองปรินซ์ทรงเป็นพระราชนัดดาของอดีตพระเจ้าจอร์จที่ 5 และพระบิดาของทั้งสองพระองค์ทรงเป็นเสด็จอาของควีนเอลิซาเบธ
กล่าวคือ จากที่เคยได้นั่งเกาะกลุ่มกับพระราชวงศ์ VVIP ได้แก่ การได้นั่งแถวที่สองและอยู่ด้านหลังประชิดกับองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 (พระบิดา) บ้าง องค์รัชทายาทลำดับที่ 2 (พระเชษฐา) บ้าง นั้น เมื่อปรินซ์แฮร์รีทรงลาออกจากสถานะพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ผู้ปฏิบัติพระกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชินีนาถไปแล้ว พระองค์ก็ทรงถูกจัดกลุ่มอยู่ในหมวดสมาชิกพระราชตระกูลที่มิได้ทรงงาน และจึงได้ประทับนั่งในแถวที่สองในระหว่างพระญาติ VIP เท่านั้น

ได้แก่ กลุ่มพระญาติสนิท คือ เจ้าหญิงเบียทริซกับพระสวามี และเจ้าหญิงยูเชนีกับพระสวามี (พระธิดาของเจ้าชายแอนดรูว์ ซึ่งมิได้ทรงงานของสำนักพระราชวัง) และเลดีซาราห์ ชาโท พระราชนัดดาแห่งควีนเอลิซาเบธที่ 2 โดยเลดีซาราห์ทรงเป็นพระธิดาของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐาพระองค์เดียวของควีน

ผู้เชี่ยวชาญการพระราชวงศ์วิเคราะห์ว่า ปรินซ์แฮร์รีทรงยังทำใจไม่ได้กับสถานภาพใหม่ ซึ่งด้อยกว่าบรรดาพระญาติที่เคยอยู่ในชั้นรองๆ ลงไปจากพระองค์

อาทิ ทรงต้องประทับนั่งแถวหลังถัดจากครอบครัวปรินซ์เอ็ดเวิร์ดผู้เป็นเสด็จอา ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระอิสริยยศเพียงแค่ระดับเอิร์ล ทว่าทรงปฏิบัติพระกรณียกิจของสำนักพระราชวังอย่างเข้มแข็ง

แต่เหนืออื่นใด จุดที่ประทับนั่งของพระองค์ยังหลุดออกห่างจากกลุ่ม VVIP คือพระบิดาและพระเชษฐา แบบว่าไกลเกินกว่าเหตุ ไกลไปอยู่คนละฟากของทางเดินสู่พระแท่นบูชา ทั้งนี้เก้าอี้แถวสองด้านหลัง VVIP มีพระญาติซึ่งมิได้ทรงงานสำนักพระราชวังเช่นเดียวกับพระองค์ ได้แก่ คุณซารา ทินดัลล์ พระราชนัดดาของควีนเอลิซาเบธ ในสายเจ้าฟ้าหญิงแอนน์

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการจัดที่นั่งอย่างนั้น เพื่อให้ปรินซ์แฮร์รีได้เกาะกับกลุ่มพระญาติชั้นใน 4 ท่าน (ลูกคุณอาผู้ชาย) ที่สนิทกันอย่างยิ่ง ซึ่งจะดีกว่าไปไปเกาะกับกลุ่มพระญาติชั้นใน 3 ท่าน (ลูกและลูกเขยของคุณอาผู้หญิง) ซึ่งมิได้สนิทสนมมากเท่า

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ภาษาท่าทางทุกข์ตรมของปรินซ์แฮร์รีแล้ว พากันชี้ว่าปรินซ์แฮร์รีอาจรู้สึกว่าทรงไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะสภาพการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระองค์ให้สัมภาษณ์ออกสื่อ โจมตีพระราชตระกูลในการถวายดูแลพระพลานามัยของควีนเอลิซาเบธ ซึ่งทรงพระประชวรด้วยโรคระบาดโควิด 19 และพระบิดาชาร์ลส์ก็คือเป้าหลักที่พระองค์มุ่งติเตียน

ในการดังกล่าวนั้น สื่อมวลชนนำเรื่องจุดประทับนั่งไปขยี้ข่าวกันครึกโครม อาทิ เดลิเมลออนไลน์ระบุว่าอาจเทียบได้กับการตกอยู่ในสถานการณ์ไซบีเรีย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการถูกเนรเทศไปยังชายแดนนั่นเอง และเดอะไทมส์ สื่อค่ายใหญ่รุ่นลายคราม รายงานข่าวว่าเจ้าชายแฮร์รีทรงมิได้รับตำแหน่งแห่งที่อันทรงความสำคัญใกล้เคียงกับที่เคยได้รับ

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าลักษณะท่าทางของปรินซ์แฮร์รีบ่งบอกว่าพระองค์ทรงไม่สบายพระทัยอย่างยิ่ง

อีกอากัปกิริยาหนึ่งที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าลักษณะท่าทางของปรินซ์แฮร์รีบ่งบอกว่าพระองค์ทรงไม่สบายพระทัยอย่างยิ่ง
แนวปฏิบัติที่เคยเป็นมาในวันเวลาที่เจ้าชายแฮร์รียังทรงมิได้ลาออกจากสถานภาพพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ผู้ปฏิบัติพระราชกิจของพระราชตระกูล จุดประทับนั่งของเจ้าชายแฮร์รีกับพระชายาเมแกนคือแถวที่สอง ตรงด้านหลังของพระราชบิดา เช่น ในพระราชพิธีฉลองวันเครือจักรภพเดือนมีนาคม 2018

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพระองค์ได้รับตำแหน่งแห่งที่อันสำคัญกลับคืนมาหนึ่งครั้ง โดยถือเป็นกรณีของงานครอบครัว เพราะเป็นงานพระราชพิธีพระบรมศพควีนเอลิซาเบธ ซึ่งมีขึ้นท่ามกลางความโศกเศร้าเมื่อเดือนกันยายน 2022 โดยเจ้าชายแฮร์รีและพระชายาเมแกนทรงมีบทบาทในขบวนเสด็จพระดำเนินต่างๆ ทุกรายการ ซึ่งปรินซ์แอนดรูว์ก็ได้รับบทบาทนี้เป็นกรณีพิเศษเช่นกัน และได้จุดประทับนั่ง ณ แถวที่สองด้านหลังประชิดกษัตริย์ชาร์ลส์

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ปรินซ์แฮร์รีทรงจาบจ้วงพระราชบิดาและพระราชวงศ์ไว้หนักหนา ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกหักชนิดที่เรียกได้ว่า ผีไม่ต้องมาเผา เงาไม่ต้องมาเหยียบ นั้น สื่อมวลชนบางค่ายได้ชงประเด็นไว้ว่าตลอดพระชมน์ชีพของปรินซ์นั้น พระราชบิดาทรงมอบความรัก ความเมตตา ความช่วยเหลือ และการให้อภัย อย่างล้นหลาม

ดังนั้น สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันทรงความสำคัญเหนืออื่นใดสำหรับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระองค์ย่อมจะทรงปรารถนาให้พระราชโอรสพระองค์สุดท้องเสด็จเข้าร่วม ด้วยเหตุนี้ ปรินซ์แฮร์รีจึงทรงสามารถต่อรองได้อย่างมหาศาล เพื่อให้ได้มาซึ่งเงื่อนไขทั้งปวงที่พระองค์ปรารถนา และแม้เลยวันสุดท้ายที่จะต้องแจ้งการตัดสินพระทัย ณ 3 เมษายน 2023 แต่สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมก็ยังรอคำตอบ ตราบเท่าที่ปรินซ์ยังมิได้แจ้งปฏิเสธกลับไป

ในการนี้ เป็นที่เข้าใจได้ว่า นอกจากที่ปรินซ์แฮร์รีทรงได้รับเงื่อนไขของพระองค์ในระดับที่พอพระทัย ทั้งจุดที่จะประทับนั่ง ทั้งบทบาทที่จะได้รับ ทั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพราะทรงแบกความเสี่ยงที่จะถูกสาธารณชนโห่ไล่ซึ่งอาจจะถึงกับถูกประทุษร้ายจากกลุ่มคลั่งเจ้าที่ยังแค้นเคืองหนังสือ SPARE ฯลฯ แล้วนั้น พระองค์อาจจะได้ชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียในการเสด็จเข้าร่วมพระราชพิธี จนลงตัวเป็นที่เรียบร้อย

ซึ่งอาจจะแถมรวมไปถึงประเด็นอื่นที่สำคัญยิ่ง เช่น เงื่อนไขการส่งคืนพระตำหนักฟร็อกมอร์คอตเทจ ที่พระองค์ทรงประสงค์จะได้รับเงินคืนจากการที่ทรงจ่ายค่าปรับปรุงบูรณะและตกแต่งเป็นจำนวน 2.4 ล้านปอนด์ (ราว 100 ล้านบาท)

การจัดที่นั่งสำหรับพระราชวงศ์ในพิธีมิสซาถวายแด่พระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ซึ่งมีพระโอรสกับพระธิดาของเจ้าฟ้าชายวิลเลียมเพิ่มขึ้นกว่าผังที่นั่งในพระราชพิธีอื่นๆ ครอบครัวของเจ้าฟ้าชายวิลเลียมจึงแยกไปนั่งแถวหน้าของปีกซ้าย ส่วนพระเก้าอี้ที่ว่างลงในแถวหน้าของปีกขวาถูกจัดสรรให้แก่ปรินซ์แอนดรูว์กับปรินซ์เอ็ดเวิร์ดและพระ

เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาได้จุดประทับนั่งอันทรงเกียรคิกลับคืน คือ ประชิดด้านหลังของคิงชาร์ลส์
‘แฮร์รี & เมแกน’ กังวลกันจริงๆ ว่าจะถูกลอบทำร้าย หรือถูกสาธารณชนโห่ไล่ หากเสด็จเข้าร่วมพระราชพิธีด้วยกัน

ขณะที่การตัดสินใจของดัชเชสเมแกนที่จะปักหลักปลอดภัยอยู่กับพระหน่อเนื้อทั้งสอง ณ แคลิฟอร์เนีย ได้ทำให้ฝ่ายต่างๆ ในกรุงลอนดอนโล่งใจคลายวิตกที่กริ่งเกรงว่า หลังจากที่ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ได้โจมตีเล่นงานคิงชาร์ลส์ ควีนคามิลลา ตลอดจนเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคทแห่งเวลส์นั้น การปรากฏตัวของดัชเชสอาจจะไปโหมกระพือไฟสุมขอนภายในความตึงเครียดต่างๆ ของสมาชิกแห่งพระราชวงศ์ เดลิเมลออนไลน์รายงาน

แต่ประเด็นที่จี๊ดจ๊าดยิ่งกว่าก็คือ ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์กังวลใจกันจริงๆ ว่าหากดัชเชสตามเสด็จไปร่วมพระราชพิธีในกรุงลอนดอน ทั้งสองพระองค์จะต้องเจอ “การต้อนรับ” อย่างไรจากสาธารณชน สื่อยักษ์เดลิเมลออนไลน์รายงานว่าบรรดาแหล่งข่าววิเคราะห์กันอย่างนั้น

เหล่าผู้เชี่ยวชาญพากันวิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นเพราะอยากหลีกเลี่ยงเสียงโห่ไล่ที่ทำให้ระคายใจและเสียเซลฟ์ ซึ่งเคยประสบแบบชุดเล็กเมื่อคราวเสด็จเข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบรอบ 70 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธในปีที่แล้ว เดลิเมลออนไลน์รายงาน

นอกจากนั้น ยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง คือ วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิด 4 พรรษาของเจ้าชายอาร์ชี พระชายาเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมพระราชพิธีอันสำคัญอย่างที่สุดแห่งปี 2023 ของชาวไฮโซระดับโลก เพื่อจะประทับอยู่ที่พระตำหนักมอนเตซิโต และจัดฉลองเบิร์ธเดย์ให้แก่เจ้าชายอาร์ชี

ด้าน จอนนี ดีมอนด์ นักข่าวบีบีซีสายพระราชสำนัก เอ่ยถึงประเด็นนี้ในระหว่างให้สัมภาษณ์ออกสถานีวิทยุบีบีซีเมื่อเย็นวันพุธที่ 12 เมษายน โดยบอกไม่เชื่อว่าการอยู่พระตำหนัก จัดปาร์ตี้ฉลองให้เจ้าชายอาร์ชี จะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ดัชเชสเมแกนไม่เข้าร่วมพระราชพิธีแสนพิเศษครั้งนี้

“ขอเป็นออฟเรคคอร์ดไม่นำไปอ้างอิงกันต่อๆ นะครับ บางคนจากทีมงานของดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์บอก บีบีซี ว่า นี่นะคุณ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขึ้นในวันเดียวกับวันคล้ายวันประสูติของเจ้าชายอาร์ชีใช่ไหม โปรดขีดเส้นสรุปจบความเห็นของคุณไว้ตรงนั้นเลย!

“ดังนั้น ก็แฟร์ๆ นะครับ ก็รายงานข่าวไปว่าพระชายาเมแกนเลือกจะอยู่กับพระโอรส แทนที่จะเข้าร่วมพระราชพิธีสวมมงกุฏกษัตริย์ของคุณพ่อสามี” เดลิเมลออนไลน์รายงานคำกล่าวของจอนนี ดีมอนด์ ไว้อย่างนั้น

เจ้าชายอาร์ชี พระโอรสของปรินซ์แฮร์รี จะฉลองเบิร์ธเดย์ครบ 4 พรรษาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2023
สำหรับในส่วนของความรู้สึกภายในพระราชวงศ์ จอนนี ดีมอนด์ บอกว่าพระราชวงศ์ทรงเป็นห่วงเรื่องที่พระชายาเมแกนอาจจะถูกโห่จากประชาชนที่รอรับเสด็จอยู่ตามท้องถนน มากกว่าจะกังวลว่าเจ้าชายแฮร์รีกับพระชายาจะขโมยซีนและได้เป็นข่าวเด่นกว่างานพระราชพิธี

“สื่อก็จะให้ความสนใจกับเจ้าชายแฮร์รีกันมากล่ะครับ ทั้งภาษาท่าทาง ทั้งเรื่องว่าจะทรงกล่าวทักทายพระเชษฐาหรือไม่ จะทรงได้ที่ประทับนั่งแบบเมื่องานพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 70 ปีหรือเปล่า พระราชวงศ์ย่อมจะคำนึงถึงเรื่องพวกนี้ แต่ความกังวลหลักของทางบัคกิงแฮมอยู่ในปมที่ว่า หากพระชายาเมแกนมาปรากฏตัว พระชายาจะถูกโห่จากประชาชนตามท้องถนน – เจ้าพนักงานบัคกิงแฮมพูดกับผมแบบนี้เลยครับ” เดลิเมลออนไลน์รายงานคำกล่าวของจอนนี ดีมอนด์

ในการนี้ ต้องไม่ลืมว่าเจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนทรงเคยอุ้มเจ้าหญิงลิลีเบตเดินทางจากแคลิฟอร์เนีย ไปยังกรุงลอนดอนในคราวที่เสด็จเข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 70 ปีในเดือนมิถุนายน 2022 และทรงจัดฉลองเบิร์ธเดย์ครั้งแรกในพระชนม์ชีพของเจ้าหญิงลิลีเบต เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2022 ณ พระตำหนักฟร็อกมอร์คอตเทจ แทนที่จะให้ความสำคัญกับการจัดปาร์ตีกันที่บ้านเกิด

ดังนั้น บรรดาผู้สันทัดกรณีจึงเทใจไปเชื่อว่านี่เป็นเรื่องของการหลบเลี่ยงสถานการณ์น่าอับอายขายหน้า ซึ่งต้องถือว่าเป็นอะไรที่ไม่ควรประมาท ในเมื่อคนอังกฤษได้แสดงปฏิกิริยาโกรธเคืองทั่วแผ่นดิน หลังเห็นข่าวที่สื่อมวลชนทั้งปวงรายงานเนื้อหาของซีรีส์สารคดี แฮร์รีแอนด์เมแกน และไฮไลต์เด็ดๆ ของหนังสือ SPARE

เจ้าชายแฮร์รี และดัชเชสเมแกน ตลอดจนทีมงานของทั้งสองพระองค์ยากที่จะลืมปฏิกิริยาของสาธารณชนทั่วอังกฤษที่ฟาดกลับใส่พระองค์อย่างอื้ออึงได้อย่างแน่นอน ทั้งการเขียนติเตียนเชือดเฉือนบนพื้นที่ข่าวและบนโซเชียลมีเดีย ทั้งการบอยคอตซีรีส์สารคดีแฮร์รีแอนด์เมแกนซึ่งถูกเรียกเป็นขยะไร้ความน่าเชื่อถือในทุกเอพพิโสด ทั้งการคว่ำบาตรไม่ซื้อหนังสือ SPARE และเหนืออื่นใดคือ เสียงเรียกร้องให้ปลดออกจากพระฐานันดรศักดิ์นั้น ดังกึกก้องและพีคสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สิ่งเหล่านี้ถูกมองเป็นกระแสดุเดือดที่รอให้ทั้งสองพระองค์กลับเข้าประเทศ และรอจังหวะจะทำการเช็กบิลกันในวโรกาสแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ปรินซ์แฮร์รีและดัชเชสเมแกนจะต้องกริ่งเกรงถึงการถูกรุมโห่ขับไล่ ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียเซลฟ์และเสียขวัญกัน ณ ที่เกิดเหตุ ยังอาจจะมีการบันทึกคลิปแห่งการพร้อมใจกันโห่ไล่ สลับกับการโคลสอัปสีพระพักตร์ของแต่ละพระองค์ นำขึ้นแชร์ให้เป็นไวรัลไปตามโซเชียลมีเดียทุกค่าย อันจะนำมาซึ่งความเสียหน้าย่อยยับไปตลอดพระชนม์ชีพ


ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าชายแฮร์รีทรงเยือนกรุงลอนดอนอย่างปุบปับเพื่อให้ปากคำต่อศาลในคดีที่พระองค์ฟ้องร้องสื่อมวลชน ทั้งนี้ ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ไม่มีการเผยว่าทรงพักที่ใด นักวิเคราะห์ชี้ว่านั่นเป็นการทดสอบว่าจะทรงถูกสาธารณชนเล่นงานหรือไม่
ปรินซ์แฮร์รีแบกความเสี่ยงที่จะเจอ ‘เช็กบิล’ ในอังกฤษ แต่มหกรรมซูเปอร์ไฮโซนี้ ไม่ไป ไม่ได้เลย เพราะต้องเร่งเสริมแกร่งแบรนด์ปรินซ์แฮร์รี

การเสด็จเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของคิงชาร์ลส์ที่ 3 เป็นอะไรที่ยากจะตัดสินพระทัยอย่างแท้จริงสำหรับเจ้าชายแฮร์รี เพราะว่า หากเสด็จไป คือ เสี่ยง หากไม่เสด็จไป คือ เสีย

“ไม่ว่าจะเข้าร่วม หรือจะไม่เข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กรุงลอนดอน เจ้าชายแฮร์รี และเมแกน มาร์เคิล ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ก็หนีไม่พ้นสภาพการณ์ เสียกับเสีย สถานเดียว นอกจากนั้น เจ้าชายแฮร์รี ยังมีความเสี่ยงสูงยิ่งว่า จะทรงถูกสาธารณชนในอังกฤษโห่ไล่” ฮิลารี ฟอร์ดวิช ผู้เชี่ยวชาญการพระราชวงศ์ และนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้ความเห็นไว้กับ ดิเอกซ์เพรส สื่อค่ายใหญ่ยักษ์นักเมาท์มอยการพระราชวงศ์ของอังกฤษ

ยิ่งกว่านั้น เจ้าชายแฮร์รีน่าจะต้องเผชิญกับความอึดอัดใจกับบรรยากาศเย็นชาจากสมาชิกพระราชวงศ์ (ซึ่งส่วนใหญ่ได้ทรงงานถวายสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธผู้ทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย กันอย่างเต็มความสามารถ) บรรยากาศแบบไม่ยินดีต้อนรับที่น่าจะเกิดขึ้นนี้ คือผลกระทบติดลบจากซีรีส์สารคดีเน็ตฟลิกซ์ และหนังสือบันทึกความทรงจำ SPARE นั่นเอง

ถ้าพระองค์ทรงไม่เข้าร่วมมหกรรมสำคัญขั้นสุดนี้ พระองค์ก็จะ “ตกขบวน” จากเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ฮิลารี ฟอร์ดวิช ชี้ไว้อย่างนั้น โดยระบุว่าการทำมาหากินของเจ้าชายแฮร์รีจะเสียหาย หากพระองค์ไม่ได้ปรากฏตัวในพระราชพิธี เพราะจะทรงหลุดจากแวดวงพระราชตระกูล กลายเป็นคนนอกวงการไปเลย ซึ่งจะทำให้สูญเสียศักยภาพในการสร้างรายได้

“จะมาเข้าร่วม ก็เสีย จะไม่มาเข้าร่วม ก็เสียค่ะ มีความเป็นไปได้สูงยิ่งเลยนะคะที่พระองค์จะทรงถูกสาธารณชนชาวอังกฤษโห่ไล่ ก็ประชาชนถูกพระองค์ทำร้ายความรู้สึกเป็นบาดแผลฝังลึก เพียงเพื่อที่ตัวพระองค์จะได้ผลประโยชน์เข้ากระเป๋าส่วนตัวน่ะค่ะ” ฟอร์ดวิชกล่าวกับ ดิเอกซ์เพรส


ทั้งนี้ บรรดาดยุกทั้งหลายของอังกฤษล้วนต้องการเป็นหนึ่งในสองพันวีไอพีที่ได้เข้าร่วมพระราชพิธีภายในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ดยุกทุกรายจะได้โควตาตรงนี้ เดลิเมลออนไลน์รายงานว่ามีดยุกจำนวนหนึ่งที่หลุดโผ 2,000 ที่นั่งในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และรู้สึกเคืองกันมาก

โดยในส่วนของปรินซ์แฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์นั้น พระองค์จะได้ปรากฏอยู่ภายในพระราชพิธีสุดยิ่งใหญ่แห่งสหราชอาณาจักร จะได้ประทับนั่งอย่างหรูสง่า และได้อยู่ในสายตาสาธารณชนผ่านการถ่ายทอดสดทั่วประเทศและทั่วโลก ได้เข้ากล้องถ่ายภาพนิ่งและภาพคลิปในอิริยาบถต่างๆ อย่างละเอียดและอย่างมากมาย มันคือการตอกย้ำแบรนด์เนมของพระองค์ว่ายังเข้มแข็ง ยังไม่ตกกระป๋อง ยังเกาะกลุ่ม A-List แห่งราชสำนักอังกฤษได้เป็นอย่างดี

แม้พระองค์จะไม่เข้าร่วมในพระราชพิธีขบวนเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระราชวังบัคกิงแฮมกับเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ แต่ก็เป็นเรื่องดี เพราะกิจกรรมตรงนี้เป็นอะไรที่มีความเสี่ยงสูงยิ่งว่าพระองค์จะถูกพสกนิกรดักโห่ไล่ หรือถูกลอบทำร้ายในจุดเสี่ยงต่างๆ ตามท้องถนน ซึ่งจะกลายเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์อันน่าอับอาย

ในพระราชพิธีพระบรมศพควีนเอลิซาเบธ เจ้าชายแฮร์รีทรงได้เข้าร่วมพระราชพิธีแห่หีบพระศพของสมเด็จพระอัยยิกาเจ้า ไปตามท้องถนนร่วมกับพระราชวงศ์ ในภาพนี้ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงกลั้นพระอัสสุชลในพระอารมณ์ถวิลอาวรณ์สมเด็จพระราชมารดา
Netflix โล่งใจ เจ้าชายโอเคจะไปปรากฏพระองค์ในท่ามกลางพระราชวงศ์ เพราะมูลค่าของแบรนด์ปรินซ์แฮร์รีจะกระเตื้องขึ้น

พลังการตลาดของ “แบรนด์แฮร์รี-เมแกน” อยู่ในจุดหักเหว่าจะมีเนื้อหาอะไรไปผลิตดรามาใหม่ๆ ป้อนเข้าสู่ตลาดอเมริกาในปีนี้ เหล่าผู้สันทัดกรณีในแวดวงฮอลลีวู้ดกล่าวกับสื่อจี๊ดจ๊าดอย่างเดลิเมลออนซันเดย์

นอกจากนั้น ยังเตือนด้วยว่าราศีความเป็นเซเลบริตีของเจ้าชายและดัชเชสเริ่มหมองและซีดจาง เพราะที่ผ่านมาทรงถูกมองว่าตกกระป๋องแล้ว หลังถูกเชิญให้เก็บของออกจากพระตำหนักฟร็อกมอร์ ซึ่งอาจจะหลุดพ้นแวดวงซูเปอร์ไฮโซรอยัลอังกฤษในเร็ววัน


ดังนั้น เมื่อมีประกาศออกมาจากสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมว่า ปรินซ์แฮร์รีจะเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระราชบิดา ในวันที่ 6 พฤษภาคม ชาวไฮโซในนครลอสแอนเจลิสรู้สึกยินดีไปด้วย โดยมองว่าคุณค่าและราคาของเซเลบคู่นี้จะคงอยู่ ตราบที่ยังสามารถไปปรากฏตัวในหมู่ซุปตาร์ดาวเด่นแห่งพระราชวงศ์วินด์เซอร์

แบรนด์ “ปรินซ์แฮร์รี” จะสร้างเม็ดเงินได้ สายสัมพันธ์ที่ทรงมีอยู่กับพระราชบิดา จะต้องเหนียว ห้ามแผ่ว ห้ามตกกระป๋อง แต่การกลับไปอังกฤษในห้วงเวลานี้ ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะถูกประชาชนตามเช็กบิล ผู้บริหาร Netflix และผู้เชี่ยวชาญกิจการจักรๆ วงศ์ๆ ผู้มากด้วยประสบการณ์นักประชาสัมพันธ์ วิเคราะห์ไว้อย่างสอดคล้องกันแบบเป๊ะปังสุดๆ

เดอะเมลออนซันเดย์เปิดเผยว่า ประดาผู้บริหารค่าย Netflix ขาใหญ่แห่งอุตสาหกรรมดรามาและบันเทิงซึ่งจ่ายค่าตอบแทนแก่ผลงานของดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์หลายสิบล้านดอลลาร์แล้ว พากันถอนใจโล่งอกที่เจ้าชายแฮร์รีทรงตัดสินพระทัยทำในสิ่งที่ถูกต้อง

เพราะ เน็ตฟลิกซ์ มองพลังการตลาดของยี่ห้อปรินซ์แฮร์รีว่า แบรนด์สุดฮ็อตแห่งลูกชายกษัตริย์อังกฤษจะเดินหน้าสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำสำเร็จ ต้องขึ้นอยู่กับการที่พระราชโอรสผู้ย่ำยีดวงพระหทัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จนยับเยิน ยังไม่ถูกกริ้วขั้นสุด ยังไม่ถูกตัดขาด และยังสามารถไปปรากฏพระองค์อยู่กับพระราชบิดาเพื่อสร้างดรามาสำหรับซีซัน 2023 ได้ ผู้บริหาร เน็ตฟลิกซ์ มีวิสัยทัศน์อย่างนั้น

“การที่ปรินซ์แฮร์รีทรงเข้าร่วมพระราชพิธี เป็นผลจาก ‘แรงกดดัน’ ให้คอยหมั่นไปปรากฏพระองค์เกาะติดกับพระราชตระกูล” เดอะซันรายงานว่าแหล่งข่าวหลายรายในค่ายเน็ตฟลิกซ์เชื่ออย่างนั้น

เดอะซันรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากบรรดาคนวงในของปรินซ์แฮร์รี บอกว่าปรินซ์ทรงตระหนักชัดเจนแล้วว่าสถานภาพความเป็นเซเลบของพระองค์ที่ทำให้พระองค์เป็นที่นับหน้าถือตาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็นอะไรที่ผูกอยู่กับสายสัมพันธ์ที่พระองค์ทรงต่อเชื่อมใกล้ชิดกับพระราชตระกูลอังกฤษ

“ถึงแม้ว่าปรินซ์แฮร์รีตัดสินพระทัยเสด็จกลับอังกฤษเพื่อที่จะทำในสิ่งที่ถูกที่ควร แต่พวกเราซึ่งทำธุรกิจกับพระองค์ก็พลอยได้ถอนใจโล่งอกไปด้วย เพราะแบรนด์ซัสเซกซ์ต้องขึ้นอยู่กับการที่ปรินซ์แฮร์รียังสามารถปรากฏพระองค์อยู่ในท่ามกลางพระราชวงศ์” กล่าวโดยแหล่งข่าวของเดลิเมลออนซันเดย์ ที่ทำงานในสังกัดเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งมีสัญญาธุรกิจการผลิตเนื้อหาภาพยนตร์ อยู่กับพระราชโอรสพระองค์เล็กของพระมหากษัตริย์อังกฤษ มูลค่ารวม 120 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 5 ปี

“ในท่ามกลางปัจจัยทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าถึงกษัตริย์ได้อย่างใกล้ชิด”


ในครั้งที่ยังครองพระอิสริยยศเจ้าฟ้าชายนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ทรงดำเนินพระกรณียกิจด้วยกันกับปรินซ์วิลเลียมและปรินซ์แฮร์รีเป็นจำนวนมาก ทั้งสามพระองค์ทรงใกล้ชิดและผูกพันกันอย่างลึกซึ้งในลักษณะพิเศษเฉพาะตัว แต่ก็เกินเกณฑ์เฉลี่ยของคุณพ่อคุณลูกทั่วไป ในภาพนี้ทั้งสามพระองค์เสด็จเยือนฝรั่งเศสด้วยกันในเดือนเมษายน 2017
ด้านผู้บริหารระดับสูงของค่ายวอล์ต ดิสนีย์ สตูดิโอส์ ก็วิเคราะห์ในแนวทางเดียวกัน โดยกล่าวกับเดลิเมลออนซันเดย์ว่า

“ปรินซ์แฮร์รีกับดัชเชสเมแกนอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าจะทำอะไรต่อไป ในเมื่อโปรเจ็กต์ซีรีส์สำหรับเน็ตฟลิกซ์คือเสร็จแล้ว และโปรเจ็กต์หนังสือก็เสร็จเรียบร้อย ความเบ่งบานของดอกกุหลาบเริ่มโรยรา ตอนนี้ต้องมาดูว่ามูลค่าของทั้งสองพระองค์อยู่ตรงไหน ทรงมีจุดขายหลักอยู่ที่สายสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกับพระราชวงศ์อังกฤษนั่นเอง

“ปรินซ์แฮร์รีต้องไปอยู่ในพระราชพิธี เพราะสำหรับอเมริกา ทุกอย่างเกี่ยวกับพระราชวงศ์คือเรื่องราวที่คนสนใจ ปรินซ์แฮร์รีต้องกลับไป ปรินซ์อาจจะได้การต้อนรับอบอุ่นซึ่งก็นับว่ายอดเยี่ยม หรือปรินซ์อาจจะไม่เป็นที่ต้อนรับ ซึ่งนั่นจะทำให้เรื่องเล่าของพระองค์เดินหน้าต่อเนื่องได้อีก

“เรื่องเล่าของพระองค์จะต้องมีพัฒนาการและเดินหน้าไปเรื่อยๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่สร้างแบรนด์ขึ้นมา และดึงดูดรายได้เข้าไป”

ผู้บริหารระดับสูงของวอล์ต ดิสนีย์ สตูดิโอส์ รายนี้วิเคราะห์ด้วยว่า

“อันตรายที่ปรินซ์และดัชเชสเมแกนต้องเผชิญจะค่อยๆ ลบเลือนไป คนอเมริกันมีใจให้แก่พระราชวงศ์อังกฤษ พวกเราหลงใหลในสมาชิกแห่งพระราชตระกูล และปรินซ์ทรงเป็นพระโอรสของเจ้าหญิงไดอานา ไม่มีสิ่งใดจะเปลี่ยนแปลงความจริงข้อนี้ได้เลย

“แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ สาธารณชนชาวอเมริกันอยากจะเห็นปรินซ์เป็นส่วนหนึ่งของพระราชตระกูล เพราะพระราชวงศ์และดรามาของสมาชิกแห่งวินด์เซอร์คือสิ่งที่พวกเราสนใจ”

ผู้เชี่ยวชาญการพระราชวงศ์มักจะวิจารณ์ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ทรงใจอ่อนให้แก่พระราชโอรสพระองค์สุดท้อง แต่คุณพ่อแต่ละท่านต่างมีวิถีวิธีในการบ่มเพาะลูกชายแต่ละรายแตกต่างกัน แนวทางของพระเจ้าชาร์ลส์อาจจะเหมาะกับปรินซ์แฮร์รี จึงต้องติดตามกันต่อไป
ปรินซ์แฮร์รีทรงรีบไป รีบกลับ แต่ก็น่าจะได้ของใหม่ๆ ไปใช้สร้างผลงานป้อน Netflix ในปี 2023

แม้ว่าหมายกำหนดการของเจ้าชายแฮร์รีในประเทศอังกฤษยังเป็นความลับ แต่ก็มีผู้สันทัดกรณียืนยันว่า “พระองค์จะเสด็จถึงกรุงลอนดอนในวันศุกร์ และจะอยู่ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันเสาร์รวมเป็นเวลาทั้งหมดไม่เกิน 24 ชั่วโมง” โดยเดอะซันรายงานว่าเจ้าชายแฮร์รีจะทรงประทับพักผ่อนและเตรียมพระองค์สำหรับเข้าพระราชพิธีที่พระตำหนักฟร็อกมอร์ ในเขตพระราชฐานวินด์เซอร์

หลังพระราชพิธีสวมมงกุฎกษัตริย์อย่างเป็นทางการ ภายในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เสร็จสิ้นประมาณเวลา 13.00 น. พระบิดาของปรินซ์อาร์ชี จะทรงไม่เข้าร่วมอีเวนต์สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง และในช่วง 14.00-15.00 น. พระองค์จะทรงอยู่ในเวิ้งฟ้าด้วยเครื่องบินเจ็ตเหมาลำ เพื่อตรงดิ่ง 10 ชั่วโมงกลับถึงแคลิฟอร์เนีย แล้วมุ่งสู่พระตำหนักในถิ่นมอนเตซิโต ไปฉลองเบิร์ธเดย์ของพระโอรสอาร์ชีให้อบอุ่นพร้อมหน้ากัน เดอะซันรายงาน

ภายในหมายกำหนดการที่ดูว่าเร่งรัดนี้ คาดกันว่าเจ้าชายแฮร์รีจะได้รับโอกาสเข้าเฝ้าพระราชบิดา โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า จังหวะที่เจ้าชายทรงเสด็จโดยลำพัง น่าจะเอื้อแก่การพบปะสนทนาพ่อๆ ลูกๆ ซึ่งแน่ใจได้เลยว่าเจ้าชายจะทรงกระตือรือร้นที่จะขอสนทนาใกล้ชิด ตัวต่อตัว โดยอาจจะมีการนำส่งใบรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่พึงประสงค์ ในโอกาสที่ “แบงก์ส่วนพระองค์เปิดทำการเป็นกรณีพิเศษ*” และยิ่งกว่านั้น ก็เผื่อให้ได้วัตถุดิบไปผลิตซีรีส์สารคดีซีซันที่สอง ตามโจทย์ที่ทีมธิงก์แทงก์ของพระองค์จัดทำร่างไอเดียถวายไว้ (*เสด็จพ่อทรงงดรับโทรศัพท์ปรินซ์แฮร์รี ปรินซ์จึงโทร.ไปอ้อนขอจากพระเจ้าย่า ในคราวหนึ่งควีนตรัสถามว่าทำไมไม่รับสายลูกชาย ทรงกราบทูลว่า ผมไม่ใช่แบงก์ส่วนตัวของเขาครับ)

ทั้งหลายทั้งปวงที่น่าจะเกิดขึ้นก็ล้วนแต่จะต้องติดตามกันต่อไป

“พ่อ-ลูกผูกพัน ขอให้รักนำทาง” บ่อยครั้งที่มนุษย์ต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อเรียนรู้ที่จะพัฒนาความสัมพันธ์อันอบอุ่นขึ้นมาในระหว่างกัน
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา: เดลิเมลออนไลน์ เดอะเมลออนซันเดย์ เดอะซัน เดอะซันออนซันเดย์ ดิเอกซ์เพรส นิวยอร์กไทมส์ เดอะมิร์เรอร์ หนังสือ Revenge: Meghan, Harry and the war between the Windsors ไทมส์เรดิโอ เดอะไทมส์)

กำลังโหลดความคิดเห็น