บรรดาธนาคารกลางทั่วโลก ในนั้นรวมถึงไทย กำลังเบี่ยงตนเองออกจากดอลลาร์สหรัฐ และหันความสนใจไปยังทองคำ ในฐานะสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ จากความเห็นของ รูชีร์ ชาร์มา ประธานบริษัทจัดการการลงทุน Rockefeller International
ชาร์มา เขียนแสดงความคิดเห็นลงในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน ว่า ราคาทองคำดีดตัวขึ้นมาถึง 20% ในช่วง 6 เดือนหลังสุด และอุปสงค์ไม่ได้มาจากกลุ่มต้องสงสัยโดยปกติทั่วไป เช่น นักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนรายเล็ก "ที่หาทางป้องกันตนเองจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในระดับต่ำ" แต่มาจาก "ผู้ซื้อรายใหญ่ทั้งหลาย" อย่างเช่นธนาคารกลางของประเทศต่างๆ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนรายนี้ระบุว่าบรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ลดการถือครองดอลลาร์เป็นอย่างมากและเสาะหาสินทรัพย์ปลอดภัยทางเลือก โดยเวลานี้ธนาคารกลางต่างๆ มีอุปสงค์ทองคำ คิดเป็นสัดส่วนถึง 33% ของอุปสงค์ทองคำรายเดือนทั่วโลก สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และกำลังยกระดับการเข้าซื้อมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในปี 1950
"การเข้าซื้อที่เฟื่องฟู ช่วยผลักให้ราคาทองคำแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าที่แบบจำลองต่างๆ บนพื้นฐานอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงบ่งชี้กว่า 50%" เขาอธิบาย พร้อมระบุ "มันชัดเจนว่ามีสิ่งใหม่บางอย่างกำลังขับเคลื่อนราคาทองคำ"
ชาร์มา ชี้ว่าในบรรดาธนาคารกลาง 10 แห่งที่เข้าซื้อทองคำมากที่สุดในโลก มีถึง 9 แห่งที่เป็นธนาคารกลางของเหล่าชาติกำลังพัฒนา ในนั้นรวมถึงรัสเซีย อินเดียและจีน "มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ 3 ประเทศเหล่านี้กำลังเจรจากับบราซิลและแอฟริกาใต้ เกี่ยวกับการสร้างสกุลเงินใหม่เพื่อท้าทายดอลลาร์"
นอกจากนี้ เขายังชี้ว่าอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการแห่ถือครองโลหะมีค่าชนิดนี้คือการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรกดดันโดยสหรัฐฯ และพันธมิตร ซึ่งส่งผลให้มีประเทศต่างๆ มากถึง 30% ที่เสี่ยงเผชิญถูกลงโทษจากนานาชาติ เพิ่มขึ้นจากระดับ 10% ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 "ด้วยเหตุนี้ ทองคำ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เก่าแก่ที่สุดและดั้งเดิมที่สุด เวลานี้จึงเป็นเครื่องมือของธนาคารกลางชาติต่างๆ ในการต่อต้านดอลลาร์" ชาร์มา ระบุ
บางประเทศเริ่มเสาะหาทางเลือกอื่น หลังจากเห็นทรัพย์สินของรัสเซียในต่างแดนถูกอายัด และรัสเซียถูกตัดขาดจากระบบ SWIFT (เครือข่ายการเงินระดับโลกที่ช่วยให้การโอนเงินข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว) "โดยทันทีทันใด มันชัดเจนว่าประเทศไหนๆ ก็สามารถตกเป็นเป้าหมายได้" ชาร์มาเขียน
จากคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ระบุว่าสหรัฐฯ มองว่ามาตรการคว่ำบาตรเป็นหนทางที่ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับต่อสู้กับรัสเซีย แต่ในความเป็นจริงการใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธได้กลายเป็นสิ่งที่วอชิงตันต้องชดใช้ โดยแม้กระทั่งพันธมิตรอย่างไทย และฟิลิปปินส์ยังเริ่มมองหาทางเลือกอื่นแล้ว
(ที่มา : ไฟแนนเชียลไทม์ส/อาร์ทีนิวส์)